นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิป ฝ่ายค้าน ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2565 รวมทั้งสิ้น 30 ชั่วโมง แบ่งเป็น ฝ่ายค้านได้เวลารวม 22 ชั่วโมง และฝ่ายรัฐบาล 8 ชั่วโมง พร้อมย้ำว่า ฝ่ายค้านให้ความสำคัญกับการอภิปรายในครั้งนี้ แม้เป็นการอภิปรายแบบไม่ลงมติ แต่เหมือนเป็นการซักฟอกในขณะที่รัฐบาลไร้ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ โดยปัญหาและข้อเสนอแนะจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน หวังให้คณะรัฐมนตรีมาชี้แจงให้ชัดเจน
โดย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้จัดสรรเวลาการอภิปราย เบื้องต้น แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทยได้ 770 นาที , ก้าวไกลได้ 303 นาที , เสรีรวมไทยได้ 80 นาที , ประชาชาติ 57 นาที , เพื่อชาติ 50 นาที , และพลังปวงชนไทย 20 นาที โดยจะเริ่มอภิปรายจากกลุ่มหัวหน้าพรรค จากนั้น จะเข้าสู่เนื้อหาที่แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง , ปัญหาโรคระบาด , ปัญหาทุจริต , และปัญหาการเมือง และปิดท้ายด้วยนายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ที่จะอภิปรายสรุป
นอกจากนี้ ที่ประชุม ได้หารือทิศทางการทำงานร่วมกันหลังจากที่เกิดปัญหา โดยที่ประชุมเห็นว่า ในสถานการณ์ที่ผิดปกติ รัฐบาลไม่มั่นคง ไม่มีเสถียรภาพ มีการแบ่งฝ่ายและแยกตัวของรัฐบาล และที่ผ่านมาการทำหน้าที่ของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ในการเป็นองค์ประชุมนั้นพบว่า ไม่เคยเกินกึ่งหนึ่งขององค์ประชุม และที่ผ่านมาฝ่ายค้านประกาศมาตลอดว่าจะตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐบาล แต่หากมีประเด็นที่จำเป็นต้องเป็นองค์ประชุมก็จะเป็นองค์ประชุมให้ ซึ่งแนวทางการทำงานเช่นนี้อาจเกิดความสับสนในทางปฏิบัติ
พร้อมยืนยันว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านยังเป็นเอกภาพ แต่มีวิธีการปฏิบัติที่หลากหลาย แม้ที่ผ่านมาถูกกล่าวหาว่าไม่ทำงาน ไม่ตรวจสอบรัฐบาล ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติ ว่า ฝ่ายค้านยังใช้การตรวจสอบองค์ประชุมอย่างเข้มข้นในทุกสัปดาห์ เพื่อกดดันรัฐบาลให้ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน โดยจะเสนอเป็นญัตติขอตรวจสอบองค์ประชุมด้วยการเสียบบัตร แต่หากมีการเสียบบัตรแทนกันจะเสนอให้นับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ เพื่อชี้ให้เห็นว่าถ้าองค์ประชุมล่มทุกสัปดาห์ รัฐบาลก็ไม่มีความชอบธรรมในการบริหารประเทศ
ด้าน สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส. พรรคก้าวไกล ยืนยันว่า หลังจากนี้ฝ่ายค้านจะร่วมมือกัน และจะรับนโยบายจากที่ประชุมวิป ฝ่ายค้าน ในการนัดหมายว่าจะเช็คองค์ประชุมเมื่อไหร่ ส่วนการโหวตจะเป็นไปตามมติของแต่ละพรรค แต่จะหารือกันอีกครั้งในที่ประชุมวิปฝ่ายค้าน ว่าพรรคใดจะโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในแต่ละเรื่องอย่างไรบ้าง