ย่างเข้าสู่ช่วงสิ้นปีเก่าต้อนรับปีใหม่เศรษฐกิจไทยยังทำท่าระส่ำระสายส่อเค้าบานปลายเมื่อเริ่มต้นศักราชใหม่ต้องเผชิญความท้าทายระดับโลกที่ต้องเตรียมรับแรงกระแทกจากพิษสงครามการค้า ทว่าภายในประเทศยังไร้มาตรการ ความหวังจาก 'รัฐบาล500' ยังลูกผีลูกคน ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ถูก 7 พรรคฝ่ายค้านเปิดโปงรายจ่ายหมกเม็ดนับไม่ถ้วน
‘วอยซ์ ออนไลน์’ ขอทบทวน 6 เดือน 'ประยุทธ์2' นโยบายที่หาเสียงแค่ขายฝันหรือทำได้จริง
คำประกาศจาก 24 นโยบาย แบ่งเป็นนโยบายหลัก 12 นโยบายเร่งด่วน 12 มีเพียงสิ่งหนึ่งที่จับต้องได้เป็นรูปธรรมคือ 'ชิมช้อปใช้' มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น มีประชาชนเข้าร่วมโครงการหลายล้านรายยอดการใช้จ่ายแตะหลัก 10,000 ล้านบาท ขยายต่อไปถึงเฟส 3 แต่ในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ก็อ่านเกมออก นี่เป็นเพียงลูกไม้เดิมๆ ของรัฐบาลสืบทอดอำนาจที่เพิ่มเติมหลังจัดตั้งรัฐบาลอยู่ 3 เดือน ก็ยังหนีไม่พ้นการโปรยเงินเรียกความนิยมระยะสั้น หวังเล่นเกมตัวเลขดึงจีดีพีช่วงไตรมาสุดท้ายของปีให้ออกมาดูดี แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งความเหลื่อมล้ำที่ถูกสร้างขึ้นตลอด 5 ปีของรัฐบาลปล้นอำนาจ
ภาพรวมการผลักดันนโยบายของ 19 พรรคร่วมรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ นอกจากการแจกแบบแก้ผ้าเอาหน้ารอดแล้ว ยังไม่มีประชาชนคนไหนเห็นการแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างตามคำมั่นสัญญา แรงงาน-รากหญ้าหาเช้ากินค่ำยังต้องกล้ำกลืน ค่าแรง 425 บาทคำสัญญาของพรรคพลังประชารัฐแกนนำก็แค่เรื่องขายฝัน ขยับได้เพียง 5-6 บาทในบางพื้นที่
ด้านราคาพืชผลและสินค้าทางการเกษตรก็ยังใช้มุกเดิม คืออุดหนุนราคาแบบที่ตราหน้ารัฐบาลก่อนหน้า แต่ไร้ปัญญาเข็นราคาให้ได้เท่าที่หาเสียงก่อนเลือกตั้ง ข้าวหอมมะลิตันละ 18,000 บาท ข้าวเจ้าตันละ 12,000 บาท แต่ประกาศคณะกรรมการกำกับดูแลกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงฯ ตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 62/63 คือ ข้าวหอมมะลิตันละ 16,225 บาท ข้าวเจ้าตันละ 7,509 บาท ส่วนชะตากรรมชนชั้นกลางคนรุ่นใหม่ก็ไม่แตกต่าง เงินเดือน ปริญญาตรี 20,000 บาท อาชีวะ 18,000 บาท ยังเลื่อนลอย
เมื่อมองภาพกว้างในนโยบายหลัก 12 ด้าน 'รัฐบาลประยุทธ์ 2' ให้ความสำคัญด้านความมั่นคงข้อที่ 1 เป็นสำคัญ เจ้าภาพหลัก 4 เหล่าทัพ ก็ตั้งงบประมาณจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ในทางการเมืองไม่มีอะไรดีขึ้น การรุกไล่ปิดพื้นที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนฝ่ายเห็นต่างยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยการทำนิติสงครามใช้ลูกไล่ข้าราชการประจำแจ้งความนักการเมืองฝ่ายค้าน เพื่อความมั่นคงของรัฐบาล ไม่ใช่ของชาติบ้านเมือง
จัดตั้งศูนย์ FAKE NEWS โดยไร้กลไกการตรวจสอบจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคม malinformation misinformation disinformation แพร่ระบาดอยู่ตามแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทำลายความน่าเชื่อถือของส.ส.ฝ่ายค้าน สถาบันทางการเมืองเพียงหนึ่งเดียวที่ยึดโยงกับประชาชน เหยื่อรายวันหนีไม่พ้น "ธนาธร-อนาคตใหม่-เพื่อไทย" ต่างจากแวดล้อมบริวารซีกรัฐบาลที่จะได้รับการปกป้องแก้ต่างทันควัน ศูนย์ข่าวปลอมจึงอยู่ในสภาพไม่แตกต่างจากเครื่องมือทางการเมืองของรัฐบาลที่รบกับคนในชาติ
ส่วนนโยบายเร่งด่วน 12 ข้อที่รัฐบาลชายชาติทหารไม่กล้ากำหนดกรอบเวลาระยะสั้นอย่างรัฐบาลเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็ยังคงไม่ปรากฏ โดยเฉพาะข้อ 2 การปรับปรุงสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพของประชาชน ก็แค่ภาพมโน อย่างตั้งครรภ์ 3,000 บาทต่อเดือน คลอดบุตรรับ 10,000 บาท ดูแลเด็ก 2,000 บาทต่อเดือน ลดภาษีบุคคลธรรมดาร้อยละ 10 เว้นภาษีการค้าออนไลน์ 2 ปี ก็ยังเลื่อนลอย
ข้อ 8 การแก้ไขปัญหาการทุจริตฯ ชัดเจนก็หนีไม่พ้นปมที่ดิน ของ ‘ปารีณา ไกรคุปต์’ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ หาทางลงด้วยการคืนที่แล้วเดี๋ยวก็จบ เพราะไม่ใช่คนจนจึงไม่ต้องเข้าคุกเข้าตาราง
ข้อ 9 แก้ปัญหายาเสพติด ก็เลือกใช้บริการรมต.การค้ายาระหว่างประเทศขนโค้กเข้าออสเตรเลีย และสุดท้ายข้อที่ 12 ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดีไซน์มาเพื่อพลังประชารัฐ วิปรัฐบาลก็ทำทุกวิถีทางยื้อยุดฉุดกระชากเตะถ่วงจากสมัยการประชุมรัฐสภาครั้งที่ 1 ล่วงถึงครั้งที่ 2
ทั้งหมดสวนทางกับรัฐบาลก่อนหน้าที่ถูก "ประยุทธ์" ยึดอำนาจ
ย้อนไปยุครัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เริ่มตั้งแต่ความ "กล้าหาญ" ที่ทหารไม่มี ด้วยการแถลงนโยบายโดยตีกรอบรักษาสัจจะให้แก่ประชาชน นโยบายเร่งด่วนขีดเส้นชัด 1 ปี ลงรายละเอียดตัวเลขในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและทำได้จริง มุ่งเน้นที่รากหญ้าและแรงงานคนส่วนใหญ่ของประเทศให้ได้อยู่ดีกินดี ไม่ว่าจะเป็นการจำนำข้าวเจ้า 15,000 บาทต่อตัน ข้าวหอม 20,000 บาทต่อตัน เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันถ้วนหน้าทั่วประเทศ ไม่ละเลยสวัสดิการหลังเกษียณของผู้สูงอายุ เริ่มแจกเบี้ยยังชีพแบบขั้นบันได ส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
หากย้อนหลังไปในยุคพรรคไทยรักไทยในคณะรัฐมนตรี คณะที่ 54 ของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ทำให้สังคมไทยเรียนรู้ว่า การเมืองคือเรื่องใกล้ตัว นโยบายสาธารณะคือสิ่งที่กินได้ คุณภาพชีวิตของคนไทยถูกยกระดับแม้เพิ่งผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ชนิดพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ รากหญ้าคนส่วนใหญ่ของประเทศได้ลืมต้าอ้าปากด้วยวิสัยทัศน์การบริหารแบบ CEO มืออาชีพ จัดตั้งกองทุนหมู่บ้านให้ชนบทเข้าถึงแหล่งเงินกู้นำไปต่อยอดพัฒนา
ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาชาวบ้านอย่าง OTOP หยุดการล้มละลายจากการเจ็บป่วยด้วยโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคด้วยแนวคิดของ "หมอหงวน" นับเป็นจุดเริ่มต้นให้คนไทยได้ตระหนักถึงคำว่ารัฐสวัสดิการ รัฐมีหน้าที่จัดบริการสาธารณะแก่ประชาชน
แนวนโยบายของนายกรัฐมนตรีสองพี่น้องที่พลิกชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยข้างต้นยังดำรงคงอยู่ในสังคมมาจนถึงวันนี้ แม้ตัวจะไม่อาจกลับประเทศไทยได้ เพราะการใช้อำนาจนอกระบบของกองทัพเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองอย่างไม่เป็นธรรม มิหนำซ้ำรัฐบาลทหารที่ปล้นอำนาจยังฉวยนโยบายและโครงการต่างๆอย่างหน้าไม่อาย
เช่น การคุยโวเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในเวทีโลกของนายกฯ ที่มาจากการยึดอำนาจที่อยู่ในประเทศคอยซ้ำเติมคนจนว่าเป็นภาระ
เช่นเดียวกับกองทุนหมู่บ้านก็มีสติปัญญาทำได้แค่เปลี่ยนชื่อเป็นกองทุนประชารัฐเพิ่มเงินทั้งที่โจมตีเช้าเย็นว่าก่อให้เกิดหนี้เสียมหาศาล หรือแม้แต่ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กองทัพเจ้าภาพหลักก็ปรับชื่อการเจรจาสันติภาพมาเป็นสันติสุข แต่ไร้รายละเอียดการเปิดที่ทางแก่สังคมพหุวัฒนธรรมใช้แต่กำลังกดทับตามถนัด
การบริหารประเทศแบบเล่นขายของรัฐบาลทหารสืบทอดอำนาจ จึงไม่มีอะไรมากไปกว่าการเดินตามมันสมองของนายกรัฐมนตรีสองพี่น้อง กินบุญเก่าจากรากฐานของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งได้รับความนิยมสูงสุดเท่าที่เคยมีมา ตลอด 5 ปี 6 เดือนของพล.อ.ประยุทธ์ จึงยังห่างชั้นกับ 2 ปี 6 เดือนของน.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่หลายขุม และยิ่งไม่เห็นฝุ่นเมื่อมองจากนายกทักษิณ
อ้างอิง