วันที่ 15 ธ.ค. 2565 กฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ส.ส.หนองคาย หนองคาย เขต 1 พรรคเพื่อไทย และ อดีตรองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวถึงกรณีผลการประชุมวันเดียวกันนี้ของรัฐบาลเพื่อสรุปอัตราค่าไฟและค่า FT ในงวดม.ค.ถึงเม.ย.ปีหน้า 2566 โดยขึ้นค่าไฟในภาคธุรกิจเป็น 5.69 บ. ต่อหน่วย พร้อมยังต้องใช้หนี้ให้ EGAT ว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลกสำหรับรัฐบาลที่หารายได้เข้าประเทศไม่เป็น และยังต้องดูแลทุนใหญ่ การเพิ่มค่าใช้จ่าย เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด ในการเพิ่มรายได้ แต่อย่าลืมว่าสุดท้ายกลไกที่สำคัญที่สุดก็คือภาคธุรกิจรายย่อย ซึ่งกำลังจะถูกทำร้ายรายวัน กับต้นทุนที่ตัวเองไม่ได้ก่อ แต่มาจากการบริหารงานที่ผิดพลาด และการไม่เข้าใจโครงสร้างของเศรษฐกิจในภาพรวม มิหนำซ้ำ ยังต้องเอื้อนายทุน
กฤษฎายังได้ระบุอีกว่าวันนี้ภาคอุตสาหกรรม นักลงทุน และภาคธุรกิจ กำลังเริ่มฟื้นตัวจากพิษเศรษฐกิจ ที่กระทบไปทั่วโลก รัฐบาลแต่ละประเทศต่างพยายามช่วยผู้ประกอบการในการประคับประคองให้กลับมาสู่ภาวะปกติให้ได้ เพราะหากภาคธุรกิจดี การจัดเก็บภาษีของภาครัฐก็สามารถที่จะกลับมาสู่ภาวะปกติได้เช่นกัน เพราะหากคิดในมุมของภาษี ภาครัฐเองก็เหมือนผู้ถือหุ้นคนหนึ่งในบริษัท ไม่มีผู้ถือหุ้นคนไหน อยากเห็นบริษัทตัวเองเจ๊ง ดังนั้นวันนี้ อะไรที่ช่วยได้ ก็ต้องทำ โดยเฉพาะของเรื่องต้นทุนการผลิต อย่างเช่นค่าไฟ ค่าขนส่ง ค่าน้ำมัน ค่าดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ อยู่ในความดูแลของภาครัฐทั้งนั้น โดยเฉพาะวันนี้ ค่าไฟในประเทศ ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ก็ยังถือว่ายังสูงกว่าอยู่พอสมควร ทั้งที่เราเองมีความต้องการในการใช้มากกว่า มิหนำซ้ำยังสามารถผลิตเองได้เกินปริมาณความต้องการใช้ แต่ที่แปลกก็คือ ค่าไฟเราก็ยังสูงกว่า แปลว่าวันนี้นโยบายภาครัฐด้านพลังงานต้องมีบางอย่างที่ผิดปกติ
ทั้งนี้ กฤษฎา ชี้แจงเพิ่มเติมว่าการวางโครงสร้างต้นทุนพวกนี้ บวกกับการบริหารที่เข้าใจภาวะเศรษฐกิจโลก จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่ผู้นำประเทศจะต้องรู้โดยเฉพาะผู้นำที่ดูแลด้านเศรษฐกิจโดยตรง เพราะสิ่งเหล่านี้ บ่งบอกถึงอนาคตของประเทศ การที่นักลงทุนจากต่างประเทศจะตัดสินใจย้ายฐานการผลิต หรือ เข้าไปลงทุนในประเทศหนึ่งประเทศใด มีหลายปัจจัย ที่จะต้องเอามารวมเพื่อประกอบการตัดสินใจ แต่หากเรายังบริหารต้นทุนด้านการผลิตแบบนี้ และยังไม่เข้าใจภาพรวมในการที่จะดึงคนเข้ามา เกรงว่าแทนที่จะดึงเข้า กลับกลายเป็นคนของเราเองกลับจะออกไปลงทุนที่อื่นด้วย ซึ่งจริงๆ ก็ได้เกิดขึ้นมานานแล้ว
"วันนี้ ค่าไฟ เป็นเพียงแค่ต้นทุน และปัจจัยหนึ่ง แต่ก็ถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญมากๆ สำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุน แต่วันนี้ มีคำพูดอยู่หนึ่งคำที่ว่า หากรัฐบาลตัดสินใจกับเรื่องๆหนึ่งอย่างไร กับเรื่องอื่นๆ ก็มีแนวโน้มว่าจะตัดสินใจแบบนั้น ดังนั้นหากรัฐบาลยังดูแลค่าไฟให้ผู้ประกอบการและประชาชนไม่ได้ เกรงว่าอนาคต ต้นทุนอื่นๆ ก็จะมีปัญหาเช่นเดียวกัน" กฤษฎากล่าว