ไม่พบผลการค้นหา
ผลการศึกษาชิ้นใหม่ ระบุว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ประสบปัญหาด้านการรับรู้และพฤติกรรม ในช่วง 2 เดือนหลังออกจากโรงพยาบาล

ผลการศึกษาด้านการรับรู้และพฤติกรรมของกลุ่มผู้ป่วยโรคโควิด-19 หลังจากหายป่วย ซึ่งนำเสนอในการประชุมสถาบันประสาทวิทยายุโรป ครั้งที่ 7 ประจำปี 2564 ระบุว่า จากการติดตามผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว ในระยะเวลา 8 สัปดาห์ พบปัญหาด้านความจำ การรับรู้มิติสัมพันธ์ และการประมวลข้อมูล ซึ่งอาจเป็นผลพวงของไวรัส

การศึกษายังพบด้วยว่า ผู้ป่วยหนึ่งในห้า มีภาวะ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) หรือภาวะป่วยทางจิตใจเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง ขณะที่อีก 16% มีภาวะซึมเศร้า

การศึกษาดังกล่าวจัดทำในประเทศอิตาลี โดยมีการทดสอบความสามารถในการรับรู้และตรวจสมองด้วยเอ็มอาร์ไอ ภายใน 2 เดือนหลังหายป่วยจากโควิด-19 ผลปรากฏว่า ผู้ป่วยกว่า 50% มีปัญหาด้านการรับรู้

ขณะที่ 16% มีปัญหาด้านการบริหารจัดการของสมอง (การควบคุมความจำเพื่อใช้งาน การคิดอย่างยืดหยุ่น และการประมวลข้อมูล) นอกจากนี้ ผู้ป่วย 6% ยังประสบปัญหาการรับรู้มิติสัมพันธ์ (แยกความลึกและมิติได้ลำบาก) และ 6% มีปัญหาความจำบกพร่อง ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ป่วย 25% มีอาการทั้งหมดร่วมกัน

ปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้และจิตใจมีอาการแย่กว่ามากในกลุ่มที่มีอายุน้อยกว่า โดยผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 50 ปีส่วนใหญ่มีปัญหาด้านการบริหารจัดการของสมอง

นอกจากนี้ จากการสังเกตกลุ่มตัวอย่างเดียวกัน ณ เวลา 10 เดือนหลังหายป่วยจากโควิด-19 พบว่าปัญหาด้านการรับรู้ลดลงจาก 53% เหลือ 36% แต่ภาวะ PTSD และภาวะซึมเศร้ายังคงอยู่

ศ.มัสซิโม ฟิลิปเป ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา จากมหาวิทยาลัยในอิตาลี และเป็นผู้นำการศึกษาครั้งนี้ กล่าวว่า "การศึกษาของเรายืนยันว่าปัญหาด้านการรับรู้และพฤติกรรมมีความสัมพันธ์กับโรคโควิด-19 และปัญหาเหล่านี้ยังคงอยู่หลายเดือนหลังหายจากโรคแล้ว"

"ผลลัพธ์ที่น่าเป็นห่วงคือปัญหาด้านการบริหารจัดการของสมอง ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการจดจ่อ วางแผน คิดอย่างยืดหยุ่น และจดจำสิ่งต่างๆ โดยอาการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่อยู่ในวัยทำงานมากถึงสามในสี่"

ศ.มัสซิโม ชี้ว่า จำเป็นต้องศึกษาในกลุ่มใหญ่ขึ้นและติดตามผลยาวนานขึ้น ถึงกระนั้น การศึกษาครั้งนี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า โควิด-19 มีความสัมพันธ์กับปัญหาด้านการรับรู้และจิตใจ