เบื้องหลังการบริหารประเทศให้กลายเป็น 'ผู้ชนะ' หนึ่งเดียวในสงครามการค้า และเป็น 'ผู้รอดตาย' จากวิกฤตโควิด-19 ร่วมกับมหาอำนาจฝั่งตะวันออกอย่างจีน เวียดนามแบ่งอำนาจในการบริหารประเทศไว้กับ 4 เสาหลัก ประกอบไปด้วย ;
ล่าสุด เก้าอี้บางตัวถูกเปลี่ยนเจ้าของเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะที่บางตัวยังคงมีเจ้าของเดิมเป็นผู้ครอบครอง ทว่าเหนือสิ่งอื่นใด แม้ตัวละครจะเปลี่ยนไป แต่แผนการผลักดันเศรษฐกิจประเทศที่พิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จยังคงถูกสานต่ออย่างภักดี
การเปลี่ยนแปลงที่ได้รับมติเห็นชอบจากสมัชชาแห่งชาติฯ ส่งผลให้ 'เหงียน ซวน ฟุก' อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศ ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 7 เม.ย. 2559 จะขึ้นไปดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีโดยมีผลในวันที่ 5 เม.ย. 2564 ส่วนตำแหน่งเดิมของเขานั้นได้ 'ฝ่าม มินห์ จินห์' มาดูแลแทน
อดีตรองรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ วัย 63 ปี ที่ขึ้นมานั่งตำแหน่งประมุขแห่งรัฐบาล จบการศึกษาปริญญาเอก สาขานิติศาสตร์ และเป็นผู้เดียวที่สมาชิกกรมการเมือง (Politburo) ทั้ง 18 คน ซึ่งเป็นองค์กรบริหารที่มีอำนาจสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เสนอชื่อขึ้นมา
ขณะที่สมัชชาแห่งชาติมีมติรับรอง 'เหงียน ซวน ฟุก' ในฐานะประธานาธิบดีเรียบร้อยแล้ว หลายฝ่ายเชื่อว่า คงใช้เวลาไม่นานที่ชื่อของ 'ฝ่าม มินห์ จินห์' จะได้รับการรับรองเช่นเดียวกัน
สำหรับเสาหลักอีก 2 ตำแหน่งนั้น 'เหงียน ฟู้ จ่อง' ในวัย 76 ปี ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เป็นสมัยที่ 3 ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา
ขณะที่ 'วึง ดิ่ง เห่ย' อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเวียดนามและอดีตรองนายกรัฐมนตรี ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานสมัชชาแห่งชาติฯ
'ฝ่าม มินห์ จินห์' เริ่มต้นเส้นทางทางการเมืองของเขาจากการเป็นเลขาธิการให้กับสถานทูตเวียดนามประจำประเทศโรมาเนีย ในปี 2532 ก่อนขึ้นมาเป็นรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ ในปี 2553 เขายังเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการกลางต่อต้านการธุรจริตของประเทศเช่นเดียวกัน
นักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยมองว่า แม้ 'ฝ่าม มินห์ จินห์' ในฐานะนายกรัฐมนตรีจะมีอำนาจต่องบประมาณและการลงทุนภาครัฐ แต่ทั้งตัวเขาและผู้มีครองเก้าอี้ทั้ง 3 น่าจะไม่ปรับเปลี่ยนแผนการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศที่ยึดถือต่อเนื่องกันมา คือการเปิดตลาดให้กับการค้าโลก และการสร้างสมดุลระหว่างมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนต่อไป
'คาร์ล เทเยอร์' ศาสตราจารย์กิตติคุณ จากมหาวิทยาลัยนิว เซาท์ เวลส์ ในออสเตรเลีย ชี้ว่า หน้าที่หลักๆ ของนายกรัฐมนตรีเวียดนามไม่ใช่การคิดค้นนโยบายใหม่แต่เป็นการเดินตามนโยบายที่ถูกคิดค้นขึ้นมาอย่างถี่ถ้วนแล้ว
อย่างไรก็ดี ด้วยสภาพเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไป รวมถึงเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม 'ฝ่าม มินห์ จินห์' มีโจทย์ที่ต้องแก้ทั้งในเชิงสัญญาการค้าใหม่ๆ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไปจนถึงมาตรการดูแลมลพิษเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ หนึ่งในนโยบายสำคัญที่มาจ่อคอรอนายกรัฐมนตรีคนใหม่อยู่แล้ว คือวิธีการเจรจาต่อรองกับคณะรัฐมนตรีใหม่ของโจ ไบเดน
ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อเป้าหมายสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์ยังเป็นการผสมผสนระหว่างแนวคิดสังคมนิยมและการเปิดตลาดการค้า โดยมีตัวเลขการเติบโตของจีดีพี 6.5% - 7% ระหว่างปี 2564-2569 ตั้งเอาไว้อย่างชัดเจน จึงต้องมารอดูกันว่านายกใหม่คนนี้จะสามารถมอบสิ่งที่พรรคต้องการได้มากแค่ไหน
อ้างอิง; Bloomberg(1), Bloomberg(2), Bloomberg(3), ST, ISEAS, FSI
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;