ไม่พบผลการค้นหา
อสส. ชี้ขาดไม่ฟ้องอาญา 'ธนาธร' คดีถือหุ้นสื่อ ชี้พยานหลักฐานยังไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอ

วันที่ 30 พ.ย. 2565 ธรัมพ์ ชาลีจันทร์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกันแถลงคดีที่ สน.ทุ่งสองห้อง โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มี ผดุงวิทย์ ผดุงสรรพ์ ผู้รับมอบอำนาจ ยื่นดำเนินคดี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 151 ประกอบ มาตรา 42 (3) ต่อพนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญา ได้รับสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 467/2563 ในข้อหารู้อยู่แล้วว่า ตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมีให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อของตนเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ กรณีถือหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด (หุ้นสื่อ)

ต่อมาพนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญา ได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งทางคดี คือ สั่งไม่ฟ้อง ธนาธร จึงรุ่งเรื่องกิจ ผู้ต้องหา ในความผิดฐานรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัคร์รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อของตนเพื่อสมัครรับเลือกตั้ง แบบบัญชีรายชื่อ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 42 (3), 151 วรรคหนึ่ง แล้วจึงส่งสำนวนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อพิจารณา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145/1

ภายหลังสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีความเห็นแย้ง แล้วส่งสำนวนมายังอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณชี้ขาดความเห็นแย้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145/1 วรรคสอง

คดีนี้อัยการสูงสุด ได้พิจารณาคดีดังกล่าวแล้ว มีความเห็นว่าการดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหาในความผิดฐานรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อของตนเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 42(3), มาตรา 151 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญาจำต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานทั้งปวงว่าผู้ต้องหากระทำความผิดตามข้อกล่าวหา จริงหรือไม่ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ต้องหา ได้ทำการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อที่ตนได้ถือหุ้นไว้ให้แก่ผู้เป็นมารดา และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจจัดการแทน บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ไปเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 โดยมีบุคคล 3 คน เป็นพยานบุคคลและมีเอกสาร ตราสารโอนหุ้น, ทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เป็นพยานเอกสารมาสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการโอนหุ้นตามข้อบังคับของบริษัท และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129

กล่าวคือ ต้องทำหลักฐานการโอนหุ้นเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน และมีการจดแจ้ง การโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นแล้ว ซึ่งตามกฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1141 แม้ข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการไต่สวน พยานของผู้ต้องหา ดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นว่ามีข้อพิรุธ ก็เป็นเรื่องพิรุธในข้อเท็จจริงของคำให้การพยานฝ่ายผู้ต้องหา เพียงฝ่ายเดียว แต่การดำเนินคดีอาญาโจทก์จะต้องมีพยานหลักฐานอื่น มาแสดงหรือใช้นำสืบพิสูจน์ให้ศาลรับฟังเชื่อได้โดยปราศจากข้อระวังสงสัยว่าผู้ต้องหากระทำความผิด ตามข้อกล่าวหาหรือไม่

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ทั้งข้อพิรุธ ของผู้ต้องหา กฎหมายมิได้บัญญัติให้เป็นข้อสันนิษฐานของกฎหมายแต่อย่างใด จึงไม่อาจนำเอาข้อพิรุธของพยานฝ่ายผู้ต้องหาตามที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาดังกล่าวมาใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อยืนยันว่าผู้ต้องหากระทำความผิดตามข้อกล่าวหาได้โดยลำพัง

นอกจากนี้ ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริง และหรือพยานหลักฐานอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าผู้ต้องหามีพฤติกรรมใดเกี่ยวข้องกับบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ภายหลังจากวันที่ระบุว่ามีการโอนหุ้นไปแล้วที่จะทำให้มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้ต้องหายังคงถือหุ้นอยู่ ในขณะเกิดเหตุหรือมิได้โอนหุ้นของตนให้แก่สมพรแต่อย่างใด ทั้งผู้ต้องหามิได้เป็นผู้มีอำนาจจัดการ แทนบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด จึงไม่มีอำนาจหรือหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการแจ้งการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้น ตามแบบ บอจ.5 ให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทฯ ทราบ การที่ผู้มีอำนาจจัดการแทนบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เพิ่งแจ้งการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทล่าช้า

จึงยังไม่อาจนำมารับฟังให้เป็นผลร้ายแก่ผู้ต้องหาได้ ประกอบกับคดีนี้มีผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดมา จึงเห็นว่า พยานหลักฐาน ยังไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอที่จะฟ้องและพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาได้

อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งชี้ขาดไม่ฟ้อง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ต้องหา ความผิดฐานรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎ ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อของตนเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 151 ประกอบ มาตรา 42 (3)

ธรัมพ์ กล่าวว่า เมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้องในคดีอาญา ธนาธรจึงไม่มีความผิดในข้อหาคดีอาญา คือพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะสั่งฟ้องในคดีนี้ แต่ส่วนการวินิจฉัยเรื่องคุณสมบัติของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยกเลิกไปแล้ว ผลก็ต้องเป็นไปตามนั้น ทั้งนี้ต้องเรียนว่าเป็นการพิจารณากฎหมายคนละฉบับกัน อันนี้อัยการพิจารณาเฉพาะในส่วนของข้อหาคดีอาญา ซึ่งอัยการดูเรื่องเจตนาจากพยานหลักฐานทั้งหมดพบว่านายธนาธรน่าจะไม่มีความผิดกฎหมายอาญา และขอย้ำว่าไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญที่ท่านวินิจฉัยในเรื่องของคุณสมบัติต้องห้ามของนายธนาธรในการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)