วิโดโดได้อ้างถึง 12 เหตุการณ์ “อันน่าเสียใจ” ซึ่งหมายรวมถึงการปราบปราบฆ่าล้างต่อต้านคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น จากรายงานระบุว่า การฆ่าล้างในครั้งนั้นอาจส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 500,000 ราย
ทั้งนี้ วิโดโดเป็นประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนที่ 2 ของประเทศ ที่ออกมายอมรับถึงเหตุการณ์นองเลือดที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1960 หลังจากก่อนหน้านี้ที่อดีตประธานาธิบดี อับดูร์เราะห์มาน วาฮิด ได้ออกมากล่าวขอโทษต่อสาธารณชนถึงเหตุการณ์ดังกล่าวเมื่อปี 2543
เหตุการณ์ความรุนแรงในอินโดนีเซียดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่มคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียถูกกล่าวหาว่าสังหารนายพล 6 คนในความพยายามทำรัฐประหาร ท่ามกลางการแย่งชิงอำนาจระหว่างกลุ่มคอมมิวนิสต์ กองทัพ และกลุ่มอิสลาม
“ด้วยหัวคิดที่ชัดเจนและหัวใจที่จริงจัง ผมในฐานะประมุขแห่งรัฐ (ของอินโดนีเซีย) รับทราบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเกิดขึ้นหลายครั้ง” วิโดโดกล่าวเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (11 ม.ค.) ในการแถลงข่าวนอกทำเนียบประธานาธิบดี ณ กรุงจาการ์ตา “และผมเสียใจอย่างยิ่งที่การละเมิดเหล่านั้นเกิดขึ้น” ประธานาธิบดีอินโดนีเซียกล่าวเสริม
เหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ที่ประธานาธิบดีอินโดนีเซียอ้างถึง เกิดขึ้นระหว่างปี 2508 ถึง 2546 รวมถึงประเด็นการลักพาตัวนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย ระหว่างช่วงเหตุการณ์การประท้วงต่อต้านอดีตประธานาธิบดีเผด็จการซูฮาร์โต ซึ่งปกครองอินโดนีเซียด้วยกำปั้นเหล็กเมื่อช่วงปลายทศวรรษที่ 1990
วิโดโดยังได้กล่าวถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ปาปัว ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของอินโดนีเซีย ติดกันกับประเทศปาปัวนิวกินี ที่มีขบวนการเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน เช่นเดียวกันกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่อาเจะห์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา
ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังหาทางฟื้นฟูสิทธิของเหยื่อ “อย่างยุติธรรมและไตร่ตรองอย่างดีโดยไม่ขัดต่อมติของศาล” ประธานาธิบดีอินโดนีเซียกล่าวย้ำ แต่วิโดโดไม่ได้ระบุว่าเขาจะดำเนินการอย่างไร “ผมจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้แน่ใจว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงจะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต” วิโดโดกล่าวเสริม
ที่มา: