ไม่พบผลการค้นหา
โฆษกรัฐบาลเผยสถานการณ์เศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาค เดือนมีนาคม 2566 และแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไทย ซึ่ง GDP ในครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้มากกว่าครึ่งปีแรกที่มากกว่า 4 %

วันที่ 10 พ.ค. 2566 อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาค เดือนมีนาคม 2566 เติบโตทั่วประเทศ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน ด้านธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไทย GDP ในครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้มากกว่าครึ่งปีแรกที่มากกว่า 4% และทั้งปี 2566 GDP ไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.6 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาค เดือนมีนาคม 2566 โดยเศรษฐกิจภูมิภาคส่วนใหญ่ ล้วนได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นทุกภาค รวมถึงเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ของภาคเหนือขยายตัวร้อยละ 8.5 ต่อปี ภาคใต้ขยายตัวร้อยละ 23.7 ต่อปี ด้าน กทม. และปริมณฑลขยายตัวร้อยละ 4.7 ต่อปี ภาคตะวันตกขยายตัวร้อยละ 20.0 ต่อปี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือขยายตัวร้อยละ 2.9 ต่อปี ส่วนภาคกลาง และภาคตะวันออก ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน รวมถึงรายได้เกษตรกรมีการขยายตัว

สำหรับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2566 จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดีขึ้น จากปัจจัยด้านการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกไทยจะดีขึ้นในครึ่งหลังของปี 2566 โดยการส่งออกผ่านจุดต่ำสุดแล้ว เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าคาดว่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ทำให้การส่งออกขยายตัวดีขึ้น

รวมทั้ง GDP ในครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้มากกว่าครึ่งปีแรก ซึ่งครึ่งปีแรกจะขยายตัวร้อยละ 2.9-3 และในครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 4 ส่งผลให้ปี 2566 GDP ของไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.6 สำหรับสถานการณ์เงินเฟ้อ ในช่วงครึ่งปีแรกยังสูงที่ร้อยละ 3.3 แต่ในช่วงครึ่งหลังเงินเฟ้อทั่วไปจะต่ำกว่ากรอบอยู่ที่ร้อยละ 2.5 โดยยังต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจโลกในเวลานี้ที่ยังมีความไม่แน่นอน

“เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ในภาพรวมยังเป็นไปในเชิงบวก ซึ่งการบริโภคและการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังคงติดตามสภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับมือและดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งเพิ่มศักยภาพเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวอย่างยั่งยืน” อนุชา กล่าว