ไม่พบผลการค้นหา
'บีทีเอส' ออกแถลงการณ์ย้ำ ปิดให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสช่วงการชุมนุม จำเป็นต้องทำตามคำสั่ง กอร.ฉ. และศูนย์ติดตามสถานการณ์กรุงเทพฯ แจงเข้าใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ หารือร่วมกันทุกครั้งเน้นความปลอดภัย พร้อมเป็นกำลังใจให้คนไทยผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกัน

ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ออกเอกสารส่งถึงสื่อมวลชนเมื่อเวลาประมาณ 15.50 น. วันที่ 21 ต.ค. 2563 ว่า ขอชี้แจงกรณีที่มีการเสนอข่าวผ่านทางสื่อออนไลน์ว่า การปิดให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ช่วงที่มีการชุมนุมเป็นความสมัครใจของผู้ให้บริการนั้น ทางบริษัทฯ จำเป็นต้องประกาศหยุดให้บริการรถไฟฟ้าทุกครั้ง ตามคำสั่งจาก กองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) และคำสั่งศูนย์ติดตามสถานการณ์กรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร เรื่องห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมและอาคารสถานที่ 

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้เข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจที่ต้องทำตามหน้าที่ แต่ทุกครั้งก่อนที่จะมีการปิดให้บริการรถไฟฟ้า จะมีการประชุมหารือร่วมกับตำรวจทุกครั้ง และได้มีการชี้แจงให้ทราบผลกระทบที่จะตามมา แต่ทางตำรวจเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก บริษัทฯ ก็ต้องปฏิบัติตาม 

บริษัทฯ ตระหนักถึงผู้โดยสารทุกท่าน และเข้าใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคน รถไฟฟ้าบีทีเอส ยังคงมุ่งมั่นให้บริการผู้โดยสารของเราอย่างดี และขอเป็นกำลังใจให้คนไทยทุกคน ผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกัน 

พร้อมกันนี้ ได้แนบเอกสารคำสั่ง กอร.ฉ. 4 ฉบับ ที่มีในวันที่ 16, 17, 18 และ 19 ต.ค. 2563

คำสั่ง กอร.ฉ. รถไฟฟ้า ชุมนุม


คำสั่ง กอร.ฉ. รถไฟฟ้า ชุมนุม 1


คำสั่ง กอร.ฉ. รถไฟฟ้า ชุมนุม 2


คำสั่ง กอร.ฉ. รถไฟฟ้า ชุมนุม 3คำสั่ง กอร.ฉ. รถไฟฟ้า ชุมนุม 4คำสั่ง กอร.ฉ. รถไฟฟ้า ชุมนุม 5


คำสั่ง กอร.ฉ. รถไฟฟ้า ชุมนุม 6

BEM โชว์ป๋า แจ้งรัฐไม่เรียกร้องค่าชดเชยเหตุถูกคำสั่ง กอร.ฉ. หยุดให้บริการ

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า เอกชนในฐานะผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะ เมื่อต้องปิดการให้บริการตามคำสั่งรัฐ มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายชดเชยจากรัฐตามสัญญา ซึ่งในกรณีของ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นคู่สัญญากับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ส่วนกรณีรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มีบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ให้บริการ ซึ่งทั้งสองบริษัทมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายชดเชยจากคำสั่งรัฐได้

ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการปิดบริการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง ในช่วงที่เกิดการชุมนุมประท้วง ตามข้อสัญญา BEM ผู้รับสัมปทานให้บริการรถไฟฟ้า มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยกรณีมีคำสั่งให้หยุดบริการ แต่ในเบื้องต้น บริษัทแจ้งมากับ รฟม.ว่าจะไม่มีการเรียกร้องขอค่าชดเชยใดๆ 

"บีอีเอ็มมีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย แต่เขาแจ้งมาว่า จะไม่ใช้สิทธินั้น ส่วนหนึ่งเพราะเขายังทำงานกับภาครัฐในหลายโครงการ อีกทั้งการชุมนุมในช่วงหลังวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา ผู้ชุมนุม ก็ชุมนุมโดยสงบเรียบร้อย มีกำหนดเวลาเลิกชุมนุมตรงตามที่ระบุชัด ภาคเอกชนหลายรายจึงค่อยผ่อนคลายความกังวลผลกระทบจากการชุมนุมด้วย" ภคพงศ์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: