ไม่พบผลการค้นหา
'ชัชชาติ'​ นำปาฐกถา​มองภาพเล็กสู่ภาพใหญ่ เพื่อพัฒนาการเมือง ชี้การพัฒนายุทธศาสตร์​ที่ดีต้อง 'สื่อสาร-วางแผน'​ แนะ 'กกต.'​ สร้างความเชื่อมั่นในปชต.

วันที่ 26 ส.ค. 2565 ที่ห้องเทวกรรมรังรักษ์​ สโมสร​ทหารบก​ ชัชชาติ สิทธิ​พันธุ์​ ผู้ว่า​ราชการกรุงเทพมหานคร​ กล่าวปาฐกถา​นำในงานสัมมนานำเสนอยุทธศาสตร์​ เพื่อการพัฒนาการเมือง โดย ชัชชาติ​ กล่าวในหัวข้อ จากเล็กสู่ใหญ่ : มองการเมืองประเทศไทยแบบ 360 องศา 

ชัชชาติ กล่าวว่า ตนเปิดตัวลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ วันที่ 30 พ.ย. 2562 ที่ชุมชนโรงหมู เขตคลองเตย ด้วยจำนวนสมาชิกเพียง 5 คน และโชคดีที่ตนเป็นผู้สมัครอิสระ คนจึงมาร่วมกับเราเยอะขึ้น ไม่ใช่การเมือง แต่เป็น 'งานเมือง' ตนกราบไหว้เขาไปทั่ว หาเพื่อนร่วมทีมที่เข้มแข็ง สุดท้ายมีทีมงานเพื่อนชัชชาติกว่า 13,000 คน รวมถึงมีเครือข่ายอื่นๆ อีกกว่า 5,000 คน รวมถึงต้องลงพื้นที่ในช่วง 3 ปีก่อนการเลือกตั้ง เพื่อหาความรู้ หานโยบายรายเขต และพัฒนาความเชี่ยวชาญตนเองก่อน 

ชัชชาติ กล่าวว่า สำหรับการเมืองท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องมีพรรค เป็นอิสระจะทำงานได้ง่ายกว่า และสโลแกน 'ทำงาน ทำงาน ทำงาน' มันกินใจคนกรุงเทพฯ เพราะคนกรุงเทพฯ ต้องทำมาหากิน นั่นเป็นสภาวะของเมือง รวมถึงมีการหาเสียงแบบสร้างสรรค์เพื่อให้เขาถึงทุกกลุ่มวัย ลดการตัดสินด้วยรูปลักษณ์หรือ Personality Judgement ด้วยการทำการ์ตูน ซึ่งจะทำให้มีการสื่อสารได้ง่ายขึ้น ดังนั้นอย่าลืมการสำคัญของการสื่อสาร 


ความสนุกในการทำงาน และหัวใจของการสื่อสาร

ชัชชาติ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์​ที่ดีคือต้องมีการทำโซเชียล​มีเดีย​ ทุกอย่าง หากอยากสื่อสารทุกกลุ่ม ต้องมีทุกช่องทาง อย่างเฟซบุ๊กคือคนอายุเยอะ ส่วนทวิตเตอร์คือเด็กรุ่นใหม่ หรือเด็กจบใหม่ และ Tiktok ที่สามารถเจาะกลุ่มเด็ก 8 ขวบ เพื่อไปบอกพ่อแม่ให้ลงคะแนนเสียง ซึ่งมียอดวิวกว่าหลายล้าน 

ชัชชาติ กล่าวอีกว่า มีคนรุ่นใหม่มาช่วยคิดสร้างสรรค์ เช่น เพลงหาเสียงแบบใหม่ด้วยเพลง 'ชัช-ชัช-ชาติ' และใช้เพลงแรปที่กล่าวถึงนโยบาย 200 กว่าข้อ ซึ่งสามารถเข้าถึงเด็กรุ่นใหม่ นอกจากนี้มีการทำ Social Listening จึงต้องมีการปรับ และใช้โซเชียลมีเดียเป็นหลัก ดังนั้น จุดเริ่มต้นสำคัญไม่แพ้โค้งสุดท้าย


การพัฒนายุทธศาสตร์​ที่ดีต้องมี Action Plan 

ชัชชาติ กล่าวว่า สิ่งแรกเริ่มนั้นคือ การกำหนดยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งยุทธศาสตร์นั้นมี 3 ขั้นตอนคือ 1.Diagnosis การวิเคราะห์ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร 2.A Guiding Policy การมีภาพนโยบายรวมๆ และ 3.A Set of Coherent Actions คือต้องมีแอคชั่นแพลน หรือการวางแผนการปฏิบัติงาน

"หลายครั้งที่มียุทธศาสตร์ แต่ไม่มี Action Plan มันก็เป็นคำขวัญ แต่ถ้าคุณมียุทธศาสตร์ เช่น อยากจะไปเรียนต่อ หรืออยากไปทำงาน คุณต้องมีหลายๆ Action Plan" ชัชชาติ กล่าว

ชัชชาติ กล่าวต่อว่า คำว่า CEO คือคนกำหนดยุทธศาสตร์ Manager คือคนกำหนดกลยุทธ์ ในตอนที่ไม่รู้จะทำอะไร ซีอีโอต้องมากำหนด แต่พอกำหนดว่าจะทำอะไรแล้ว เมเนเจอร์ ต้องเอาไปทำ เช่น วางยุทธศาสตร์ทำให้กรุงเทพฯ รถไม่ติด และมีกลยุทธ์โดยการติดตั้งระบบ ITMS และให้เมเนเจอร์ไปคิดต่อว่าจะติดตั้งระบบนั้นอย่างไร ทุกอย่างมันมี 2 ขั้นตอน


จากเล็กไปใหญ่ เส้นเลือดฝอยที่สำคัญในการพัฒนาการเมือง

ชัชชาติ กล่าวว่า กรุงเทพฯ ก็เหมือนร่างกายคน มีเส้นเลือดใหญ่ และเส้นเลือดฝอย แต่ที่ผ่านมาชอบลงทุนกับเส้นเลือดใหญ่ แต่พอเป็นเส้นเลือดฝอยเข้าชุมชนเราอ่อนแอ ยิ่งเส้นเลือดฝอยตีบ ยิ่งทำงานไม่ได้ เช่น ศูนย์สุขภาพชุมชน ที่เจ้าหน้าที่มีเพียง 80 คน แต่ต้องดูแลคนในชุมชน กว่า 100,000 คน ซึ่งไม่เพียงพอ

"กรุงเทพฯ เราใหญ่ดี เช่นรถไฟฟ้าเรามีทุกสี แต่เส้นเลือดฝอยเปราะบาง ทางเดินเท้าเดินไม่ได้ มันคือระบบที่ใหญ่ดี เล็กไม่ดี แม้กระทั่งการจัดการขยะ แม้จะมีเตาเผาราคาหมื่นล้าน แต่หน้าบ้านก็ยังมีขยะอุดตัน ส่วนอุโมงค์​ยักษ์​ที่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญ​อย่าละเลยเล็กเช่น ท่อระบายน้ำ" ชัชชาติ กล่าว 

ชัชชาติ กล่าวอีกว่า จากผลการสำรวจความเห็นที่พบว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าเที่ยว อันดับ 1 แต่เป็นเมืองน่าอยู่อันดับ 98 จาก 144 เมือง ดังนั้นหากทำเมืองให้น่าอยู่ นักท่องเที่ยวจะอยากไปเที่ยวเอง และนักท่องเที่ยวอาจจะมีคุณภาพ ดังนั้นจึงมีกรอบนโยบาย '9ดี' คือ บริหารจัดการดี สุขภาพดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี ปลอดภัยดี โครงสร้างดี เศรษฐกิจดี เดินทางดี เรียนดี และพัฒนามาเป็น 216 แผน 

"หลักการเอาชนะโลกได้คือ การหาเครือข่ายนอกองค์กร เพราะคนฉลาดส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ใรองค์กรเรา เราต้องหาแนวร่วม เพื่อจะหาคำตอบให้เมือง" ชัชชาติ กล่าว


ปรับระบบราชการจากท่อสู่แพลตฟอร์ม​ 

ชัชชาติ กล่าวว่า สมัยก่อนพนักงานราชการทำงานเป็นท่อ ส่งต่อปัญหาจากประชาชน มาที่ผู้ว่าฯ และไปสู่พนักงานอื่นๆ แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นแพลตฟอร์ม ใช้แอปพลิเคชัน Traffy Fondue ประชาชนทุกคนมีปัญหาก็โยนเข้ามาในแพลตฟอร์ม ไม่มีเส้นสาย เพราะทุกคนคือดิจิทัล โดยวันแรกมีคนแจ้งเข้ามา 20,000 เรื่อง แต่เมื่อผ่านมา 6 อาทิตย์ ได้รับแจ้ง 106,592 เรื่อง และแก้ไขไปแล้ว 49,268 เรื่อง โดย ปัญหา 5 อันดับแรกที่พบคือ ถนน ทางเท้า แสงสว่าง น้ำท่วม และขยะ


ระบอบประชาธิปไตย​ความสำคัญของการสร้างระบบจากฐานราก

ชัชชาติ กล่าวว่า หน้าที่ของ กกต. ไม่ใช่แค่จัดเลือกตั้ง แต่ยังต้องสร้างความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย​ และสร้างความโปร่งใสให้กับคนได้ ถ้าหากเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้รู้สึกว่านักการเมืองน่ารังเกียจ​ นั่นคือการสร้างระบบจากฐานรากว่าประชาธิปไตย​มีความหมาย สร้างคำตอบให้ประเทศได้