ไม่พบผลการค้นหา
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย สถานการณ์น้ำท่วม ตั้งแต่ 15 ส.ค.2565 ถึงปัจจุบัน พบผู้เสียชีวิตสะสม 26 ราย ส่วนใหญ่โดนกระแสน้ำพัดและจมน้ำ แนะหลักป้องกันการจมน้ำ ขอให้ระมัดระวังโรคและภัยสุขภาพอื่น ๆ ที่เกิดในช่วงน้ำท่วม

6 ต.ค.2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่า ตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.2565 จนถึงปัจจุบัน พบผู้เสียชีวิตที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์น้ำท่วมสะสม 26 ราย โดยมีสาเหตุจากการถูกกระแสน้ำพัดขณะเดินเท้าหรือใช้รถ/เรือ และการจมน้ำถึง 23 ราย จึงขอให้ประชาชนยึดหลัก '4 ห้าม 4 ให้' 

4 ห้าม ได้แก่ 1.ห้ามหาปลาในช่วงน้ำไหลหลาก 2.ห้ามดื่มสุราแล้วลงเล่นน้ำ 3.ห้ามเดินผ่านหรือขับรถฝ่ากระแสน้ำท่วม เพราะระดับน้ำเพียง 6 นิ้ว ก็ทำให้รถเสียหลักและล้มได้ 4.ห้ามเด็กลงเล่นน้ำ เพราะอาจพลัดตกหรือถูกน้ำพัดได้ 

4 ให้ ได้แก่ 1.ให้อพยพไปพื้นที่สูงและรีบออกจากพื้นที่กรณีเกิดน้ำท่วม 2.ให้สวมเสื้อชูชีพ หรือนำอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ติดตัวไปด้วย 3.ให้เดินทางเป็นกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือกันเวลาฉุกเฉิน และ 4.ให้ติดตามข้อมูลข่าวสารสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด 

หากเกิดอุบัติเหตุขับรถตกน้ำ ขอให้คุมสติ ปลดเข็มขัดนิรภัย กรณีรถเพิ่งเริ่มจมน้ำ ให้ปลดล็อกประตู รีบลดกระจกลงหรือใช้ของแข็งทุบกระจกด้านข้างให้แตก หากรถจมน้ำทั้งคัน เปิดประตูไม่ได้ ให้ยกศีรษะเหนือน้ำ รอให้น้ำไหลเข้ามาจนเกือบเต็มจะเปิดประตูได้ง่ายขึ้น เมื่อออกจากรถได้แล้วปล่อยตัวให้ลอยขึ้นเหนือน้ำตามธรรมชาติ

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและพายุโซนร้อนโนรู ปัจจุบันมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 19 จังหวัด สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบสะสม 93 แห่ง สสจ. 1 แห่ง รพ. 7 แห่ง สสอ. 6 แห่ง รพ.สต. 79 แห่ง เปิดให้บริการปกติ 71 แห่ง เปิดบริการบางส่วน 16 แห่ง ปิด/ย้ายจุดบริการ 6 แห่ง ได้แก่ รพ.สต.ท่าช้าง และ รพ.สต.ปากดุก อ.หล่มสัก ตั้งจุดบริการบริเวณหน้าหมู่บ้าน, รพ.สต.มะกอก จ.มหาสารคาม ตั้งจุดบริการที่วัดจันทร์ประดิษฐ์ บ้านท่ามะกอก, รพ.สต.หนองเมือง รพ.สต.บัวชุม และรพ.สต.ท่ามะนาว จ.ลพบุรี ตั้งจุดบริการในหมู่บ้าน ได้จัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์ออกให้บริการประชาชนรวม 211 ทีม ให้บริการตรวจรักษา 10,471 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า โรคผิวหนัง เช่น แพ้ ผื่นคัน และโรคทางเดินหายใจ พบผู้มีภาวะเครียด 1,115 ราย เฉพาะจังหวัดศรีสะเกษพบผู้มีภาวะเครียดถึง 982 ราย และมีภาวะซึมเศร้าอีก 25 ราย ได้ให้การดูแลต่อเนื่องแล้ว

 ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนระมัดระวังโรคและภัยสุขภาพอื่น ๆ ที่จะเกิดในช่วงน้ำท่วม เช่น ไข้หวัด ตาแดง โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ โรคฉี่หนู น้ำกัดเท้า รวมถึงระวังอันตรายจากไฟดูด เหยียบของมีคม และสัตว์มีพิษกัดต่อย หากได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถโทรขอความช่วยเหลือได้ที่หมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง