งานวิจัยชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร The lancent ประเมินว่า ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 9,700 ล้านคนภายในปี 2607 ก่อนจะลดลงเหลือเพียง 8,800 ล้านคนภายในสิ้นศตวรรษนี้ ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลขององค์การสหประชาชาติที่เคยระบุว่า ประชากรโลกภายในปี 2643 จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 10,900 ล้านคน
ในงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า อัตราการให้กำเนิดบุตรของผู้หญิงในปี 2560 ลดลงเหลือเพียง 2.4 รายต่อช่วงชีวิตของผู้หญิง 1 คน ซึ่งคาดว่าในปี 2643 อัตราการให้กำเนิดบุตรจะลดลงเหลือเพียง 1.7 รายเท่านั้น และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาในทศวรรษ 1950 พบว่าอัตราการเกิดของประชากรอยู่ที่ 4.7 ราย และหากอัตราการให้กำเนิดบุตรของผู้หญิงมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่า 2.1 รายก็จะส่งผลต่ออัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นของประชากรโลก
จากการประเมินปัจจัยทางด้านการศึกษาของผู้หญิง การคุมกำเนิด สภาพเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมพบว่า กว่า 23 ประเทศทั่วโลกนั้นจะมีอัตราประชากรลดลงกว่าครึ่งภายในปี 2643 ซึ่งหนึ่งในนั้นมี 'ไทย ญี่ปุ่น และ สเปน' ที่คาดว่าประชากรจะลดลงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ภายในช่วงปลายศตวรรษนี้
มีการคาดการณ์ว่าในช่วงปลายศตวรรษนี้ประชากรของญี่ปุ่นจะลดลงเหลือเพียง 53 ล้านคนจาก 128 ล้านคนในปี 2560 ด้านประชากรในอิตาลีจะลดลงเหลือเพียง 28 ล้านคนจาก 61 ล้านคนเช่นกัน
ขณะที่อัตราการเกิดกำลังเข้าสู่ภาวะการหดตัว แต่ในทางกลับกันอายุของประชากรในวัย 80 ปีจะเพิ่มมากขึ้นในปลายศตวรรษนี้ จาก 141 ล้านคนในปี 2560 เป็น 866 ล้านคนในปี 2643
งานวิจัยระบุว่า อัตราการให้กำเนิดบุตรของผู้หญิงที่ลดลงทั่วโลกนี้มีสาเหตุมาจากผู้หญิงสามารถเข้าถึงการศึกษามากขึ้นและการเข้าถึงการคุมกำเนิดที่มากขึ้น รวมไปถึงสภาพการทำงานที่ทำให้ผู้หญิงสามารถเลือกที่จะมีลูกได้น้อยลง
นอกจากนี้ในประเทศที่มีประชากรในระดับพันล้านคนอย่างจีนและอินเดียก็มีปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและภูมิรัฐศาสตร์นั้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรนั้นต่ำกว่าอัตราการเกิด
แม้ว่าในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดอย่างจีนและอินเดีย รวมถึงประเทศพัฒนาและกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่มีแนวโน้มประชากรหดตัว แต่ในทางกลับกัน 'ภูมิภาคแอฟริกา' เป็นภูมิภาคเดียวที่มีการประเมินว่า ภายในศตวรรษนี้ประชากรภายในภูมิภาคจะขยายตัวมีมากถึง 3,000 ล้านราย ซึ่งไนจีเรียจะเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองของโลกด้วยจำนวนประชากรกว่า 791 ล้านคนภายในปี 2643
ข่าวที่เกี่ยวข้อง