จากการเผยแพร่ข้อมูล Global Wealth Report 2018 ของเครดิต สวิส (Credit Suisse) ที่ระบุว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับหนึ่งของโลก นับเป็นเรื่องดีที่ทำให้นักวิชาการ สื่อ และผู้คนทั่วไปหันมาสนใจปัญหาความเหลื่อมล้ำกันมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความจริงเรื่องประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่งเรื่องความเหลื่อมล้ำหรือไม่นั้น อาจจะไม่สำคัญเท่ากับความจริงที่ว่า ประเทศไทยเกิดความเหลื่อมล้ำในมิติใดบ้าง และนักวิชาการ หรือผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายจะมีข้อเสนออย่างไร เพื่อแก้ปัญหานี้
หนึ่งในข้อเสนอของ ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือการให้รัฐจัดเก็บ และเปิดเผยข้อมูลทั้งด้านรายได้ รายจ่าย และทรัพย์สิน ให้สามารถเข้าถึงได้ เพื่อนักวิจัยจะได้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลออกมา และภาครัฐจะได้ทราบปัญหา เพราะมิเช่นนั้น เมื่อต่างชาติเปิดเผยข้อมูลใดๆ ออกมาจะเกิดความตื่นตระหนกกันทั้งประเทศ
ในทางเศรษฐศาสตร์ เป็นเรื่องยากที่จะวัดความเหลื่อมล้ำด้วยตัวเลขเพียงชุดเดียว ผศ.ดร.ดวงมณี จึงนำเสนอมิติต่างๆ ของความเหลื่อมล้ำ โดยเริ่มจากค่าสัมประสิทธิความไม่เสมอภาค หรือค่าจีนี (Gini Coefficient) ของรายได้ และทรัพย์สิน ซึ่งเป็นตัวเลขที่อยู่ระหว่าง 0-1 ถ้าตัวเลขเข้าใกล้ 0 แสดงว่าความเหลื่อมล้ำในประเทศค่อนข้างต่ำ กลับกันถ้าตัวเลขเข้าใกล้ 1 แสดงว่ามีความเหลื่อมล้ำรุนแรง
ความเหลื่อมล้ำทางด้านทรัพย์สินของประเทศไทยสูงกว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยในปี 2560 ไทยมีค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคของทรัพย์สินอยู่ที่ 0.631 และของรายได้อยู่ที่ 0.453 ขณะที่ปี 2549 ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคของทรัพย์สินอยู่ที่ 0.678 และของรายได้อยู่ที่ 0.514 ซึ่ง โดยการที่ค่าจีนีสูงถึง 0.6 สะท้อนว่าสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำค่อนข้างน่าเป็นกังวล และในช่วงสิบปีมานี้ ตัวเลขก็ยังไม่ได้ลดลงไปสักเท่าไร
หากแบ่งคนในประเทศไทยออกเป็น 10 กลุ่มตามทรัพย์สินที่ถือครอง ในปี 2560 สัดส่วนการถือครองทรัพย์สินของครัวเรือนที่รวยสุดติดอันดับ 10 เปอร์เซ็นต์แรกของประเทศ ถือครองทรัพย์สินในไทยถึง 47.15 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่คน 10 เปอร์เซ็นต์ของประเทศที่จนสุด ถือครองทรัพย์สินรวมกันเพียง 0.13 เปอร์เซ็นต์ ชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของการถือครองทรัพย์สินอย่างชัดเจน
หากพิจารณาจากจำนวนบัญชีเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ โดยจำแนกตามขนาดของเงินฝากจะพบว่า ในประเทศไทยนั้นมีบัญชีที่มีเงินฝากต่ำกว่า 50,000 บาท 56,367,216 บัญชี คิดเป็น 87.42 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนบัญชีทั้งหมด แต่ทั้งที่มีจำนวนบัญชีมากขนาดนี้ บัญชีเหล่านี้ยังมีมูลค่าเงินในบัญชีที่รับฝากรวมกันแล้วเป็น 2.89 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ขณะที่บัญชีที่มีเงินฝากมากกว่า 500,000,000 บาท มีอยู่ 1,587 บัญชี คิดเป็น 0.002 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนบัญชี แต่มีมูลค่าเงินรับฝากรวมเป็น 18.07 เปอร์เซ็นต์ของเงินฝากในระบบทั้งประเทศ
การพิจารณาทรัพย์สินประเภทที่ดินพบว่า ในปี 2555 ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคในการถือครองที่ดินสูงถึง 0.89 โดยตัวเลขนี้มาจากการคำนวณขนาดการถือครองที่ดินที่มีโฉนด โดยหากแบ่งประชากรไทยที่ถือครองที่ดินมีโฉนดออกเป็นสิบกลุ่ม กลุ่ม 10 เปอร์เซ็นต์สุดท้ายที่เป็นผู้ที่ถือครองที่ดินมากที่สุด ถือครองที่ดิน 61.48 เปอร์เซ็นต์ของที่ดินในประเทศที่มีโฉนด และผู้ที่ถือครองที่ดินมากที่สุดท็อป 1 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ถือครองที่ดินคิดเป็น 1 ใน 4 ของที่ดินที่มีโฉนดทั้งหมด ทั้งนี้ ตัวเลขความเหลื่อมล้ำจะชัดเจนยิ่งกว่านี้หากนับรวมคนที่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองเข้าไปด้วย
จากข้อมูลที่ ผศ.ดร.ดวงมณี นำเสนอ ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยมีการกระจุกตัวของการถือครองทรัพย์สินค่อนข้างมาก และยังทำให้เห็นภาพว่าการพิจารณาความเหลื่อมล้ำนั้นมีหลายมิติด้วยกัน นโยบายที่จะลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้นั้น นอกจากจะใช้นโยบายด้านรายได้แล้ว จึงต้องมีนโยบายที่เน้นการกระจายการถือครองทรัพย์สินให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นด้วยจึงจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้
ศ.ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าการวัดความเหลื่อมล้ำนั้นมีตัวชี้วัดอื่นอีกหลายมิตินอกจากค่าสัมประสิทธิความเหลื่อมล้ำ เช่น ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (human development index) ซึ่งสะท้อนอัตราการเข้าถึงสาธารณสุข การศึกษา และมาตรฐานการดำรงชีพ เพราะแม้แต่ค่าสัมประสิทธิ์ความเหลื่อมล้ำเองนั้นก็คิดจากการแบ่งคนในประเทศออกเป็นกลุ่มต่างๆ จึงมีข้อจะกัดหากจะนำไปใช้เปรียบเทียบกับต่างประเทศ
ส่วนตัวเลขรายได้เฉลี่ยต่อหัว หรือจีดีพีของประเทศ ไม่ได้สะท้อนสภาพความเหลื่อมล้ำ เพราะหากรายได้ของกลุ่มคนที่รวยสุด 1 เปอร์เซ็นต์ ก็อาจมีส่วนทำให้รายได้เฉลี่ยสูงตามไปด้วย จึงไม่สามารถสรุปได้ว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก
ทั้งนี้ ไม่ว่าไทยจะเหลื่อมล้ำเป็นอันดับที่เท่าไร ศ.ดร.อารยะเห็นด้วยว่า ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำอย่างแน่นอน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี ทำให้รูปแบบการแข่งขันของเศรษฐกิจกลายเป็นแบบผู้ชนะกินรวบหมด เหมือนที่บริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีต่างๆ กวาดส่วนแบ่งตลาดไปเกือบทั้งหมด โดยอาศัยโครงข่ายผู้ใช้บริการธุรกิจที่ใหญ่กว่า ส่งผลให้เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่สูงมากขึ้น และอาจกระทบต่อนโยบายการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ น่ากังวลว่าโครงสร้างความเหลื่อมล้ำในปัจจุบันอาจถูกขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีมากขึ้น
ผศ.ดร.ดวงมณี มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่คาดว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำตรงนี้ โดยอิงจากตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำที่ได้เสนอไป
ทางด้าน ศ.ดร. อารยะ มีข้อเสนอเชิงนโยบายที่ให้ความใส่ใจกับการเพิ่มศักยภาพของคนให้สามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น โดยอันดับแรกมองว่าการลดความเหลื่อมล้ำต้องเริ่มที่การลงทุนด้านการศึกษาในเด็กเล็กของครอบครัวยากจน
“นโยบายที่มีผลต่อความเหลื่อมล้ำมากๆ จำเป็นจะต้องลงทุนในเด็กเล็ก จำเป็นต้องหาเงินมาลงทุน เพราะถ้าเด็กยากจนไม่ได้รับการสนับสนุน คือตกขบวนตั้งแต่ต้น ความสามารถในการเรียนรู้ของเขาในอนาคตก็แทบจะสู้เด็กที่มีความพร้อมมากกว่าไม่ได้”
ศ.ดร. อารยะ ยังเห็นว่าท้องที่มีความหลากหลายทางความรู้ในลักษณะของภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงต้องมีการยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ให้มีอิสระในการบริหารจัดการศึกษาได้เอง เพราะความรู้หรือภูมิปัญญาของท้องถิ่นนั้นจะทำให้เกิดสินค้าหรือบริการที่หลากหลายและเป็นที่ต้องการได้ สินค้าอาจเป็นสินค้าลักษณะเดียวกันแต่ก็มีความแตกต่างหลากหลายไปตามแต่ละท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยให้เกิดธุรกิจขนาดเล็กที่หลากหลายสนับสนุนการเติบโตของท้องถิ่นได้
รวมถึงควรส่งเสริมพัฒนาขีดความสามารถของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยให้วิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยสายอาชีวะในท้องถิ่น ศ.ดร. อารยะ มองว่าธุรกิจท้องถิ่นต้องทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในการนำความรู้ที่ผลิตได้ แลกเปลี่ยนกัน และนำไปใช้ประโยชน์ แต่ก็ต้องระวังการเกิดฟองสบู่ในสตาร์ทอัพหรือเอสเอ็มอีเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังควรสนับสนุนเกษตรกรยากจนเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบเพื่อใช้ลงทุนการผลิตและดูแลสิ่งแวดล้อม โดย ศ.ดร. อารยะ ยกตัวอย่างกรณี โครงการธนาคารต้นไม้ โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งตอบโจทย์เกษตรกรที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ เพราะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ โดยให้เกษตรกรปลูกต้นไม้ตามเงื่อนไขของโครงการ และใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ได้ ซึ่งเป็นกรณีตัวอย่างที่ใช้จุดแข็งของกลุ่มเกษตรในการช่วยพวกเขาเอง ช่วยภาคเกษตรและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไปในตัว
“โดยปกติเกษตรกรรายย่อยกู้เงินไปลงทุนไม่ได้เพราะหลักทรัพย์ไม่เพียงพอ ลักษณะทั่วไปคือนำที่ดินไปค้ำประกัน เขาเสนอให้มีการปลูกต้นไม้ในที่ดิน ซึ่งเป็นต้นไม้ที่มีอายุยืน มีมูลค่าที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในระยะยาว โดยมีเงื่อนไขว่าห้ามตัด แล้วให้คนเข้าโครงการเหล่านี้ราว 9 หมื่นกว่าครัวเรือน พอต้นไม้โตก็สามารถนำไปค้ำประกัน เพราะมีมูลค่า ก็สามารถกู้ได้มากขึ้น เป็นการช่วยแบบไม่ได้ให้เปล่า มีการแก้ปัญหาและรับความเสี่ยง”
สิ่งที่ ศ.ดร. อารยะแสดงความเป็นห่วง และย้ำถึงคือเรื่องของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีซึ่งอาจจะผูกขาดตลาด และยิ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยมองว่าประเทศไทยเป็นประเทศขนาดเล็ก จึงจำเป็นต้องตระหนักให้ดีว่าแนวทางการให้สิทธิพิเศษทางการลงทุน เพื่อจูงใจให้บริษัทต่างชาติ ซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยีสำคัญมาลงทุนในประเทศไทยจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง เพราะไม่สามารถคำนึงถึงเพียงแต่ผลดีทางด้านเศรษฐกิจที่จะเกิดจากการลงทุนเหล่านั้นไม่ได้ แต่ต้องพิจารณาถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่อาจจะตามมาภายหลังตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันและลดทอนความรุนแรงของปัญหาอย่างทันการณ์
โดยทั่วไปแล้ว ความเหลื่อมล้ำมักถูกพูดถึงในมิติของเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอมิติเชิงสังคมและการเมืองของความรู้เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำให้เห็นว่า เมื่อมีการพูดถึงความเหลื่อมล้ำ การตอบโต้ระหว่างฝ่ายต่างๆ ล้วนมีความหมายทางการเมือง และในบริบทของอารมณ์นั้น ความรู้กับความรู้สึกไม่สามารถแยกกันได้ง่ายๆ
“วาทกรรมการถกเรื่องความเหลื่อมล้ำ ไม่ได้เป็นวาทกรรมที่สนใจสาระของปัญหา ไม่ได้สนใจว่าใครเดือดร้อน สนใจแต่ว่าควรจะต่อว่าใคร กลายเป็นวาทกรรมของการกล่าวโทษคนอื่น”
ดังจะเห็นได้จากกรณีล่าสุดที่มีการตีความข้อมูลว่า ประเทศไทยเหลื่อมล้ำเป็นอันดับหนึ่งนั้น ข่าวมักจะนำเสนอในเชิงระบุตัวผู้กระทำผิดเป็นหลักมากกว่าจะสะท้อนมิติของปัญหาที่เกิดกับประชาชน สาเหตุ หรือแนวทางแก้ไข
ศ.สุริชัย เสนอว่าการถกเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำ และแนวทางแก้ไขอาจจะต้องสนใจช่องว่างความแปลกแยกในสังคมที่ไม่สนใจมุมมองที่แตกต่างหลากหลายในการมองเรื่องความเหลื่อมล้ำ โดยความแปลกแยกเกิดจากการมองจากคนละขั้ว
มิติทางเศรษฐศาสตร์อย่างเดียวไม่เพียงพอ และอาจจะต้องลองมองผ่านสายตาของสาขามานุษยวิทยา หรือสาขาอื่นๆ ร่วมด้วย เพราะความเหลื่อมล้ำเป็นเชื้อให้ความขัดแย้ง และความรุนแรงทางการเมืองในประเทศไทย เนื่องจากเป็นตัวแบ่งคนออกเป็นกลุ่มเป็นฝ่ายต่างๆ กัน เช่น เมืองกับชนบท ความแตกต่างของชนชั้น ความเหลื่อมล้ำจากความไม่เป็นธรรมทางการเมือง
“โจทย์ของความเหลื่อมล้ำเป็นโจทย์ของความรู้ และความรู้สึก ต้องการความรู้ของสหวิชา ต้องการการถกเถียงข้ามศาสตร์”
นอกจากความเหลื่อมล้ำจะสัมพันธ์กับความรุนแรงทางการเมืองแล้ว ศ.สุริชัย ยังพูดถึงความรุนแรงทางสังคมวัฒนธรรมที่มักไม่ค่อยถูกพูดถึง ความรุนแรงทางสังคมวัฒนธรรม และความรุนแรงทางโครงสร้าง
“เรารู้จักแต่ความรุนแรงทางกายภาพที่มีการตบตีกัน ฆ่ากันตาย แต่ความรุนแรงที่โยงกับความน้อยเนื้อต่ำใจ ความชอกช้ำทางจิตใจ ความรุนแรงที่ทำให้คนสิ้นหวัง ความรุนแรงที่ทำให้คนหมดอาลัยตายอยาก นโยบายอะไร การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำแบบไหนทำให้มีคนมีความหวัง และคนสิ้นหวัง น่าจะเป็นสิ่งที่เราจะให้ความสนใจด้วย เมื่อพูดถึงความเหลื่อมล้ำ ความเหลื่อมล้ำที่ผมพูดถึงนี้ไปโยงกับความเหลื่อมล้ำที่มากกว่าความเหลื่อมล้ำทางวัตถุ แต่เป็นความเหลื่อมล้ำที่อาจจะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่โยงกับมิติทางวัฒนธรรมและมิติเชิงโครงสร้าง”
ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพฯ ศ.สุริชัย ย้ำว่า สันติภาพที่มีแต่ความสงบนั้นเรียกว่าสันติภาพเชิงลบ สงบแต่ไม่มีความหวัง เงียบงันไม่มีการถกถึง ความหวังร่วมกันก็เป็นสันติภาพเชิงลบ ส่วนสันติภาพเชิงบวกก็มีตัวอย่าง เช่น การมาถกกันว่าความเหลื่อมล้ำไม่ดีและเป็นปัญหากันได้อย่างไร ซึ่งเป็นการอาศัยโจทย์ความเหลื่อมล้ำมาสร้างสันติภาพเชิงบวก โดยต้องออกจากกับดักของการแยกพวก ซึ่งเสี่ยงต่อการสร้างความรุนแรงต่อไป เพราะความเหลื่อมล้ำก็มีข้อเรียกร้องให้เข้าใจมากกว่าประเทศไทยเหลื่อมล้ำเป็นอันดับที่เท่าไร
“ถ้าเราถกบางลักษณะ เราจะเป็นการถกเพื่อเป็นการปรักปรำทางการเมือง แต่การถกอย่างไรเล่าจะทำให้เราเข้าใจความเหลื่อมล้ำถึงหัวจิตหัวใจของคนที่ประสบความเหลื่อมล้ำ ซึ่งโจทย์เหล่านี้เป็นโจทย์ที่เรียกร้องให้เราเข้าใจถึงภาวะโลกาภิวัฒน์แบบเสรีนิยมใหม่”
ที่สำคัญคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่ควรเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังการพัฒนา เช่น คนจนในเมือง เกษตรกรพันธะสัญญา ชาวประมงรายย่อย ปัญหากลุ่มชาติพันธุ์อย่างโรฮิงญา เพราะการพัฒนาโดยไม่พูดคุยร่วมกันอาจผลิตซ้ำนโยบายซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ โดยทำให้เกิดคนเหล่านี้ ร่วมถึงผู้คนระดับกลาง ถูกผลักให้ตกขบวนไปด้วย
“เราจะมองไม่เห็นหัวคนจำนวนไม่น้อยจากการพัฒนาประเทศถ้ามองเฉพาะยุทธศาสตร์ที่ไม่ยึดกับความเป็นจริงของประสบการณ์ผู้ที่ประสบกับความเหลื่อมล้ำ”