ไม่พบผลการค้นหา
ขณะที่ปริมาณการบริโภคเนื้อและหมูแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลยตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา การบริโภคไก่กลับสูงขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับสภาพความเป็นอยู่ที่ดีของไก่ก่อนที่พวกมันจะถูกนำไปทำเป็นอาหาร

ฟาร์มไก่มักเป็นสถานที่สกปรกที่ไม่ค่อยมีการทำความสะอาดมากนัก จนกว่าจะมีการนำไก่ไปเชือด สภาพความเป็นอยู่ของไก่เหล่านี้ก็ไม่ดีนัก แต่ปริมาณการบริโภคไก่ที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้ธุรกิจนี้มีกำไรงอกงามขึ้นเรื่อยๆ โดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD ซึ่งมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศร่ำรวยของโลก ระบุว่า นับตั้งแต่ยุค 1990 ปริมาณการบริโภคเนื้อหมูและเนื้อวัวแทบไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเลย แต่ปริมาณจากบริโภคไก่กลับเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 70

ปัจจุบัน สัตว์ที่เลี้ยงในฟาร์มบนบกมีประมาณ 30,000 ล้านตัว ในจำนวนนี้เป็นไก่ถึง 23,000 ล้านตัว โดยผลวิจัยล่าสุดของมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ระบุว่า จำนวนไก่ในฟาร์มมีมากกว่าจำนวนสัตว์ปีกอื่นๆ บนโลกรวมกัน โดยคนนิยมบริโภคไก่ เพราะมีราคาถูกและรสชาติอร่อย โดยไก่ในสหรัฐฯ ราคาประมาณ 134 ต่อ 1 กิโลกรัม ลดลงมาประมาณ 120 บาทจากช่วงปี 1960 ขณะที่ราคาเนื้อวัวราคาตกลงประมาณ 82 บาท มาอยู่ที่ประมาณ 406 บาทต่อกิโลกกรัม

สำนักข่าว The Economist ระบุว่า ไก่ราคาถูกเป็นผลมาจากการคัดเลือกสายพันธุ์ โดยช่วงปี 1940 สหรัฐฯ ได้จัดการแข่งขัน “ไก่ของวันพรุ่งนี้” โดยมีจุดประสงค์เพื่อคัดพันธุ์ไก่ที่อ้วนท้วนพอสำหรับคนทั้งครอบครัว มีเนื้ออกหนาพอจะทำสเต็กได้ มีน่องที่มีกระดูกน้อยแต่มีเนื้อเยอะ และราคาถูกลง ซึ่งการคัดลายพันธุ์เหล่านั้น ทำให้ไก่ในฟาร์มมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

การศึกษาของมหาวิทยาลัยแอลเบอร์ตาได้เปรียบเทียบไก่ที่ถูกคัดสรรสายพันธุ์ในปี 1957, 1978 และ 2005 พบว่าไก่อายุ 56 วันมีน้ำหนัก 0.9 กิโลกรัม, 1.8 กิโลกรัม และ 4.2 กิโลกรัม ตามลำดับ ขณะที่การเลี้ยงไก่ตัวใหญ่ 1 ตัวได้ประสิทธิภาพมากกว่าเลี้ยงไก่ตัวเล็ก 2 ตัว ทำให้ปัจจุบันเจ้าของฟาร์มไก่ใช้ข้าวเปลือกเพียง 1.3 กิโลกรัมในการเลี้ยงไก่น้ำหนัก 1 กิโลกรัม จากช่วงปี 1985 ที่ต้องใช้ข้าเปลือก 2.5 กิโลกรัม

การใช้ยาปฏิชีวนะช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องใส่ใจสภาพความเป็นอยู่ของไก่มากนัก โดยช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มักมีการเลี้ยงไก่ในเล้าเล็กๆ เก็บไข่ขาย แล้วค่อยเชือดไก่เมื่อพวกมันแก่แล้ว แต่เมื่อมีการใช้ยาฆ่าเชื้อ ผู้เลี้ยงสามารถยัดไก่ให้อยู่กันอย่างแออัดและสกปรกอย่างไรก็ได้ ยิ่งอยู่กันแออัดเท่าไหร่ ไก่ก็จะไม่สามารถขยับตัวได้มาก ใช้พลังงานน้อย จึงไม่ต้องกินมากเช่นกัน

นอกจากนี้ ไก่ยังเป็นอาหารที่ภาพลักษณ์ดีต่อสุขภาพมากกว่าเนื้อหมูหรือวัว โดยช่วงปี 1980 แพทย์ต่างกังวลว่าการกินเนื้อหมูหรือเนื้อวัวมากเกินไป จะทำให้ได้รับไขมันอิ่มตัวมากเกินไป ซึ่งในยุคนั้นเชื่อว่าจะส่งผลให้เป็นโรคหัวใจ นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยที่ระบุว่า เนื้อแดงจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ ขณะที่เนื้อไก่ไม่มีภาพลักษณ์ของการทำลายสุขภาพ

 แบ่งส่วนขายได้ราคาสูงสุด

ไก่เป็นเนื้อสัตว์ที่มีการซื้อขายมากที่สุดในโลก และมูลค่าของมันจะสูงสุดเมื่อมีการแบ่งส่วนขาย ในขณะที่คนในประเทศตะวันตกจะชอบเนื้อขาวลีน หลายประเทศในเอเชียและแอฟริกาชอบเนื้อที่สีเข้ม เช่น น่อง ซึ่งราคาก็จะแฟรผันไปตามความชอบของแต่ละพื้นที่ ในสหรัฐฯ อกไก่จะขายได้ราคามากกว่าขาถึงร้อยละ 88 แต่ในอินโดนีเซียอกไก่จะราคาต่ำกว่าขาร้อยละ 12 หรือขณะที่คนตะวันตกไม่กินตีนไก่ จีนนำเข้าตีนไก่กว่า 300,000 ตันต่อปี

แต่ละประเทศมีความถนัดในการผลิตที่แตกต่างกัน ยิ่งส่งเสริมให้มีการซื้อขายเนื้อไก่กันมากขึ้น เช่น สหรัฐฯ และบราซิล ซึ่งเป็นผู้ส่งออกไก่รายใหญ่ที่สุดของโลก ถือเป็นแหล่งผลิตอาหารไก่ส่งออกขายด้วย ส่วนไทยและจีนครองตลาดเนื้อแปรรูปที่ต้องใช้แรงงานฝีมือราคาถูก ขณะที่อุตสาหกรรมข้าวและธัญพืชของรัสเซียและยูเครนก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ

 ประโยชน์อยู่ที่ผู้บริโภค แต่โทษอยู่ที่ไก่

เมื่อไก่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค การคัดสรรสายพันธุ์ให้ไก่ตัวใหญ่ขึ้นก็เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากขึ้น แต่มาตรการตัดลดต้นทุนของปศุสัตว์กระทบกับความเป็นอยู่ของไก่ โดย วิกกี บอนด์จากฮิวแมนลีก กลุ่มรณรงค์เรียกร้องสิทธิสัตว์ระบุว่า ขนาดของไก่ยุคปัจจุบันเป็นสาเหตุของปัญหาอีกมากมาย เมื่อไก่มีเนื้ออกใหญ่เกินกระดูกของพวกมันจะรับไหว ทำให้มันเคลื่อนไหวไม่ปกติ หรือแทบไม่เคลื่อนไหวเลยราวกับซอมบี้ กล้ามเนื้อที่เยอะมากของพวกมันทำให้ไก่ตัวผู้ขึ้นไปผสมพันธุ์กับตัวเมียไม่ได้ ดังนั้น จะต้องงดให้อาหารพวกมันก่อนที่จะให้พวกมันผสมพันธุ์

หลังมีการรณรงค์เรียกร้องสิทธิสัตว์ และเนื้อไก่ก็มีราคาลดลง ทำให้จำนวนผู้บริโภคมากขึ้นที่ยินดีจะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อจะซื้อเนื้อไก่จากฟาร์มที่เลี้ยงไก่โดยคำนึงถึงสภาพความเป็นอยู่ของพวกมัน กินอาหารออร์แกนิก สามารถเดินไปเดินมานอกอาคารได้ เช่นใน เนเธอร์แลนด์ มีการเรียกร้องเรื่องสิทธิสัตว์กันอย่างเข้มข้นจนทำให้ ผู้ค้าขายไก่ที่ถูกเลี้ยงแบบแออัดและคุณภาพชีวิตแย่ลดลงจากร้อยละ 60 ในปี 2015 เหลือเพียงร้อยละ 5 ในปี 2017

กระแสความกังวลเรื่องสุขภาพของสัตว์ในปศุสัตว์ส่งผลให้สหภาพยุโรปผ่านหนึ่งในกฎหมายที่เข้มงวดที่สุดในโลกเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ เช่น ปี 2012 มีการแบนเล้าไก่โลหะที่เรียกว่ากรงแบตเตอรีที่ให้ไก่ออกไข่ ส่วนสหรัฐฯ ก็ผ่านกฎหมายแบนการผลิตและชายเนื้อหมู เนื้อวัว และไข่ จากสัตว์ที่ถูกขังกรงตลอดเวลา ซึ่งเป็นกฎหมายที่ส่งผลให้ปศุสัตว์ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงสัตว์

งานวิจัยของ Open Philanthropy Project กลุ่มที่ให้ทุนกับนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสัตว์พบว่า การขู่บริษัทที่ทำฟาร์มไก่แว่าจะปล่อยภาพและวิดีโอว่าบริษัทเหล่านี้ผลิตอาหารออกมาในสภาพที่ย่ำแย่ขนาดไหนในช่วงปี 2015 ทำให้บริษัทอเมริกันมากกว่า 200 บริษัท รวมถึง แมคโดนัลด์ เบอร์เกอร์คิงและวอลมาร์ทหยุดซื้อไข่ไก่จากฟาร์มที่เลี้ยงไก่ในกรงแบตเตอรี

 จากปัญหาสู่แนวคิดใหม่

กระแสการห่วงใยสภาพความเป็นอยู่ของสัตว์ที่จะกลายมาเป็นอาหารมนุษย์ต่อไป ได้ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งเกิดแนวคิดใหม่ๆ ในการเลี้ยงไก่ ริชาร์ด สวอร์ตเซนทรูเบอร์ที่เลี้ยงไก่ในเมืองกรีนวูด มลรัฐเดลาแวร์ของสหรัฐฯ กล่าวว่า เพอร์ดู ฟาร์มส์ บริษัทที่เขาเลี้ยงไก่ส่งให้เลิกใช้ยาปฏิชีวนะ และเล้าไก่ของเขาก็มีหน้าต่างและประตูหลายบาน ที่เปิดให้ไก่ออกไปเดินเล่นที่ทุ่งหญ้าในวันที่อากาศดีได้ ไก่สามารถขึ้นไปเกาะบนต้นไม้ได้ ในเล้าก็มีทั้งฟาง กล่องไม้ กล่องพลาสติกให้ไก่เลือกเลือได้ ซึ่งการปรับปรุงสภาพการเป็นอยู่ของไก่ทำให้เล้าไก่ของเขาได้รับใบประกาศนียบัตรฟาร์มที่ดีจากมูลนิธิ Global Animal Partnership

บรูซ สจวร์ต-บราวน์ นักวิยาศาสตร์ด้านความปลอดภัยทางอาหารของเพอร์ดู ฟาร์มสกล่าวว่า บริษัทของเขาต้องการเลี้ยงไก่ออร์แกนิก แต่การผลิตเนื้อไก่ออร์แกนิกที่เลี้ยงอย่างดีก็จะทำให้ราคาเนื้อไก่แบบนี้สูงกว่าเนื้อไก่อื่นในตลาด แม้จะมีคนพร้อมจ่ายเพิ่ม แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังเลือกซื้อไก่ราคาถูกกว่าอยู่ดี

ที่มา : The Economist