ในวาระครบรอบ 45 ปี เหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 'วอยซ์' พูดคุยกับ “สุธรรม แสงประทุม” อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช อดีต ส.ส.กทม. อดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 'สุธรรม' ทำหน้าที่ในตำแหน่งเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) เรียนปี 4 นิติศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทีมข่าว 'วอยซ์' นัดหมาย 'สุธรรม' ในวัย 68 ปี ปัจจุบันสังกัดสมาชิกพรรคเพื่อไทย โดยพบกันที่ลานประติมานุสรณ์ 6 ตุลา 2519 ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังปิดทำการและอีกไม่กี่วันจะครบรอบ 45 ปีของการรำลึก ขณะที่ลานประติมานุสรณ์ 6 ตุลา ถูกปิดกั้นด้วยสแลนกันแดดสีเขียวขึงรอบลานพร้อมขึ้นป้ายข้อความว่า "เขตก่อสร้าง อันตรายห้ามเข้า"
'สุธรรม' เดินนำหน้า 'วอยซ์' เข้าไปรื้อผ้าสแลนออก เพื่อจะเข้าไปในลานประติมานุสรณ์ 6 ตุลา พร้อมทั้งกล่าวว่า
“ผมมีส่วนในการสร้างที่นี่ เพราะสมัยก่อนผมเป็นรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย อันที่จริงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาก็ไม่อยากเกี่ยวข้องมาก แต่คนมาเสียชีวิตในบ้านเขาจำนวนมาก เขาก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องยอมรับความจริง จึงต้องร่วมกันสร้างสิ่งนี้เพื่อเป็นที่ให้คนมารำลึกถึง”
'สุธรรม' ยังพาเดินชมประติมานุสรณ์ 6 ตุลา โดยเล่ารายละเอียดของสถาปัตยกรรมแต่ละชุดในห้วงที่เหตุการณ์อันน่าสลดได้ล่วงเลยมาถึงปีที่ 45 ด้วยความเศร้าหมอง
“6 ตุลา 45 ปีผ่านไป ยิ่งกระหึ่มขึ้น ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว 45 ปีก็ยิ่งจะแผ่วลง แต่วันนี้ดันกระหึ่มขึ้น ก็อย่างที่บอกว่า 6 ตุลา 19 เป็นความตายที่ไม่มีวันตาย เป็นความตายที่เป็นนิจนิรันดร์และเป็นความตายที่ควรจะค้นหาว่าความจริงคืออะไร จนกว่าจะได้พิสูจน์ว่าความจริงคืออะไร จนกว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะสำนึกผิดหรือได้รับผลกรรมจากการกระทำความผิด จนกว่าคนเสียชีวิตจะได้รับความเป็นธรรม ได้รับการพูดถึงอย่างเข้าใจในเจตนาที่แท้จริงของเขา วันนี้ถึงกระหึ่มขึ้นแบบรอบทิศทาง”
"ผมถึงบอกว่า 45 ปีผ่านมา คิดว่าทุกอย่างจะแผ่วเบา แต่กลับดังขึ้น ดังขึ้น ผมตายไปยังมีคนพูด ไม่ใช่ตายไปไม่มีคนพูด ผมตายตาหลับแล้ว จะตายวันไหนก็ได้"
เขาหยุด ก่อนกล่าวต่อว่า
“เมื่อเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆผมติดคุก เพื่อนเข้าป่า ผู้ที่ถูกกล่าวหาล้วนเป็นผู้ที่ถูกกระทำแบบไม่มีทางชี้แจง กระทั่งเราได้รับการนิรโทษกรรมปล่อยตัว ความจริงก็ยิ่งเปิดเผยขึ้น และหลังจากนั้นเราก็มาทำบุญที่นี่(มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)แบบหลบๆซ่อนๆเพราะคนบอกว่าไม่อยากจะฟื้นฝอยหาตะเข็บอะไร ช่วงแรกมีแต่ญาติคนตายคนบาดเจ็บเท่านั้นที่มา แต่ก็ทำแบบก้มหน้า เพราะไม่รู้ว่าจะมีคนเข้าใจเราหรือเปล่า
แต่วันนี้กลับกลายเป็นว่าคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์กลับมาถามว่ามันเกิดอะไรขึ้น เขาอยากรู้ว่าฆ่าคนทำไม ทำไมเด็กถึงถูกขัง ฆ่าเพื่ออะไร และความจริงเป็นอย่างไร ใครจะรับผิดชอบ วันนี้มาสู่เรื่องนั้นแล้ว และเสียงก็ค่อยๆดังขึ้น”
'สุธรรม' พูดถึงการสื่อสารในยุคใหม่ว่า ทำให้ภาพที่พวกเขาถูกกระทำมันชัดเจนขึ้น เพราะวันนี้คนยุคใหม่ได้นำภาพต่างๆ มาต่อเติม บ้างก็มาถามพวกเขาว่า ภาพนี้เกิดขึ้นในตอนไหน
“พี่พูดมาจนอายุจะ 70 ปีแล้ว แต่ก็ต้องพูดต่อเพื่อคนตาย เพื่อความเป็นธรรมกับญาติผู้สูญเสีย ซึ่งเขาไม่มีโอกาสพูด เราพูดเพื่อให้คนเข้าใจเขาให้ความจริงปรากฏ พูดจนตายก็คงไม่จบ"
"แม้ผมตายไปก็ยังมีคนพูด ผมตายตาหลับแล้ว ผมจะตายวันไหนก็ได้ เพราะวันนี้ข้อมูลข่าวสารมันถึงกัน เหตุการณ์ 6 ตุลา มันเกิดขึ้นกลางแสงสว่าง ใกล้วัดพระแก้ว ใกล้สนามหลวง ไม่ได้เกิดในมุมมืด คุณจะเอาฝ่ามือปิดแผ่นฟ้าได้ยังไง คุณจะเอาใบบัวปิดช้างทั้งตัวได้ยังไง”
จากนั้น 'สุธรรม' ได้พา 'วอยซ์' เดินไปที่สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ของสองเหตุการณ์สำคัญในการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย
โดยเขากล่าวว่า 14 ตุลา 2516 เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ขึ้นเวทีปลุกระดมอยู่ในสนามฟุตบอลแห่งนี้ ผู้คนคึก แล้วออกไปสนามหลวง ทำเนียบรัฐบาล จนประสบความสำเร็จ แต่ 6 ตุลา 2519 เราหลบเข้ามาข้างในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราถูกลาก ถูกจับ ถูกกวาดล้าง มันสวนทางกันเลยกับเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516
'สุธรรม' ยังเดินไปชี้จุดสำคัญในการประชุมของ ศนท.ที่ตึก อมธ.เก่า บริเวณ ชั้น 2 ก่อนจะเกิดวิกฤตนองเลือด 6 ต.ค. 2519
"นี่คือ อมธ.เก่า ประชุมบนนี้ชั้น 2 ชั้น 3 ระหว่างเหตุการณ์ เพราะเราย้ายมาวันที่ 4 ต.ค. กลางคืน วันที่ 5 เราอยู่ในนี้ 5 ต.ค. กลางคืนความรุนแรงเกิด 6 ต.ค. เช้าเราถูกกวาดบริเวณนี้ พี่ก็ประสานงานจากตึกนี้กับนายกฯ เสนีย์ ปราโมช ว่าเราจะเข้าชี้แจงโดยเอาคนที่เกี่ยวข้องกับการแสดงละคร ไปพบนายกฯ พี่ก็ไปปราศรัยตรงนี้ เวทีอยู่ตรงนี้ ธงชัย วินิจจะกูล กับสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นโฆษก พี่ก็ไปขึ้นบอกกับคนที่ชุมนุมว่า เดี๋ยวพี่จะไปพบนายกฯ เสนีย์ เพื่อชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เรื่องการแสดงละครว่าไม่จริงอย่างที่เขากล่าวหา เพื่อนายกฯได้รับรู้ และอาจมีส่วนในการบรรเทาเหตุการณ์"
'สุธรรม' บอกทันทีว่าถ้าวันนั้นเขายังอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชะตากรรมของเขาในวันนั้นคงไม่ได้เดินมาถึงวันนี้
"พี่ตายเลย ถ้ามันจับสุธรรมได้ในนี้ ก็ตายไปแล้ว เพราะโดยอารมณ์ของคนมันระบายกับใครก็ได้ มันจะระบายกับคนที่มีชื่อเสียง โดยไม่รู้เหตุการณ์จริงๆ คืออะไร ถ้าจับได้ก็ตายแล้ว"
ถามว่า ทำไมรัฐบาลในขณะนั้นไม่เข้ามาป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุการณ์คนไทยฆ่าคนไทยด้วยกัน อดีตเลขาธิการ ศนท. บอกว่า รัฐบาลเวลานั้นต้องยอมรับว่า คนได้รับผลพวงจะไม่เข้าใจผลพวง จะไม่รู้คุณค่าของการได้มา คนเสวยสุขจะไม่รู้หรอกว่าคนสู้มาลำบากอย่างไร
"แล้วยิ่งประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาล ประชาธิปัตย์เล่นหลายหน้าจับปลาหลายมือ คนในประชาธิปัตย์ มีทั้งหนุนกลุ่มกระทิงแดง หนุนลูกเสือชาวบ้าน เข้าใจนักศึกษา ก็เลยมั่วเหมือน กปปส. ประชาธิปัตย์ไปอยู่กับ กปปส. ไปอยู่กับฝ่ายตรงข้าม ล้มรัฐบาลประชาธิปไตยแบบเดียวกัน"
"ผมตายไปยังมีคนพูด ไม่ใช่ตายไปไม่มีคนพูด ผมตายตาหลับแล้ว จะตายวันไหนก็ได้"
14 ต.ค. พ.ศ. 2516 เกิดขึ้นจากแรงกดดันที่บ้านเมืองเราถูกอำนาจเผด็จการครอบครองมานาน ประชาชนไม่มีสิทธิที่จะระบายทุกข์ ไม่มีสิทธิที่จะออกความเห็นต่างจากรัฐบาล ทำให้ความกดดันเหล่านั้นซึมลึก ขณะเดียวกันระบบเผด็จการได้ฝังกลบปัญหาของบ้านเมืองเอาไว้เยอะ มีการต่ออายุราชการ สืบทอดอำนาจอย่างต่อเนื่อง ไม่มีโอกาสที่คนดีๆจะได้เข้ามาดูแลบ้านเมือง ทำให้แรงกดดันเหล่านี้สะสม จึงออกมาในรูปของการเรียกร้องกติกา คือเรียกร้องรัฐธรรมนูญ กระทั่งนักศึกษาถูกจับและเกิดการไม่ยอม จึงรวมตัวกันเป็นขบวนการใหญ่ จากที่รวมตัวกันบริเวณลานโพธิ์ธรรมศาสตร์โดยคนไม่กี่คน กลายเป็นขบวนใหญ่ เคลื่อนออกจากธรรมศาสตร์ ทำให้รัฐบาลทหารอยู่ไม่ได้ นำไปสู่ชัยชนะของประชาชน และสิ่งที่ถูกกดทับก็เริ่มระบาย เสรีภาพในการพูดการคิดการเขียนมาพร้อมกับประชาธิปไตย
จากนั้นปัญหาต่างๆถูกนำมาเสนอแนะต่อสาธารณะอย่างเป็นระบบ เมื่อก่อนกรรมกรทำงาน 18 ชั่วโมงค่าแรงวันละ 10 บาทบาดเจ็บล้มตายไม่มีการดูแลรักษา แต่นักศึกษาบอกว่ากรรมกรคือคนเดือดร้อน จนเกิดค่าแรงขั้นต่ำ 25 บาท ทำงาน 3 กะ กะละ 8 ชั่วโมง
เมื่อก่อนชาวนาต้องทำนาเช่า ค่าเช่าแพงผลผลิตราคาถูก พวกเรานักศึกษาเข้าไปบอกว่าพี่น้องชาวนาต้องไปรวมตัวกันเป็นสหพันธ์ และกดดันเรียกร้องจนมีพระราชบัญญัติค่าเช่านา มีการประกันราคาผลผลิตที่ยุติธรรม เมื่อปี 2518 มีกฎหมายปฏิรูปที่ดินให้มีการจัดสรรที่ดินเพื่อคนจน เช่น ที่ดินที่รกล้างว่างเปล่า
แต่เมื่อเกิดแบบนี้ขึ้น คนที่ได้ประโยชน์ก็จะเสียประโยชน์ เช่น เจ้าของโรงงาน ก็จะคิดว่ากดแรงงานแล้วเอาเงินไปให้ผู้มีอำนาจดีกว่า คนเสียประโยชน์มีอยู่ 2 ประเภท 1.เจ้าของโรงงาน 2.ทหารหรือผู้มีอำนาจที่ได้รับผลประโยชน์ เมื่อไม่ได้รับประโยชน์เหมือนเมื่อก่อน เขาก็โกรธนักศึกษา มาบอกว่านักศึกษาเป็นตัวสร้างปัญหา
ขณะเดียวกัน ช่วงเวลานั้นอเมริกาได้ใช้ฐานทัพในประเทศไทยไปสร้างสงครามในเวียดนาม ซึ่งเราก็บอกว่าไม่น่าจะถูกต้องเพราะวันดีคืนดี เวียดนามอาจจะมาบอมบ์ใส่ประเทศไทยก็ได้ ซึ่งเราไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรเลย จนเราเรียกร้องให้กองทัพอเมริกาออกไป โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นก็เห็นด้วย แต่แล้ว ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็ถูกเล่นงาน เพราะฐานทัพอเมริกาในประเทศไทยนั้นมีประโยชน์ต่อ 1.อเมริกา 2.ทหารไทย
"6 ตุลา 19 เป็นความตายที่ไม่มีวันตาย เป็นความตายที่เป็นนิจนิรันดร์และเป็นความตายที่ควรจะค้นหาว่าความจริงคืออะไร จนกว่าจะได้พิสูจน์ว่าความจริงคืออะไร จนกว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะสำนึกผิด"
14 ตุลา ผมอยู่ในสถานะผู้เข้าร่วม เพราะตอนนั้นเรียนปี 1 ก็เป็นเด็กคนหนึ่งที่เข้าไปร่วมกับเขาแล้วก็ถูกจับ ที่บางลำภู เขาเอาไปขังไว้ที่วัดชนะสงคราม แล้วนำไปสอบสวน แต่บังเอิญจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีขณะนั้นลาออก ตำรวจก็บอกว่าน้องกลับได้แล้ว ถนอมลาออกแล้ว เรียบร้อยแล้ว เรากลายเป็นวีรชนไปเลย จากที่เพิ่งถูกขังเป็นทรชนเมื่อ 2 ชั่วโมงที่แล้ว
ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา มีการยิงผู้นำนักศึกษา ผู้นำกรรมกร มีการขู่ให้กลัว เพื่อให้พ่อแม่บอกกับลูกว่าอย่ามายุ่งกับเขา ก่อน 6 ตุลา เกิดเหตุการณ์แบบนี้ตลอด เพียงแต่ 6 ตุลา เป็นการรวบยอดการฆ่าหมู่กลางเมืองเท่านั้นเอง เพราะจริงๆมันฆ่ากันมาหลายที่แล้ว
ผมเจอประจำ ทิ้งระเบิดลงในการชุมนุม รอดตายก็เพราะว่ากระสุนไม่เจาะสมอง หรือว่าโดนไม่ตรงกับที่เราอยู่เท่านั้นเอง จริงๆเขาอยากฆ่าเรา แต่กระสุนและระเบิดลงไม่ตรงตัวเรา หน้าที่เลขาธิการศูนย์ฯ คือเอาพวงหรีดไปวางให้กับคนเสียชีวิต แต่ด้วยความที่เราผ่านมาจนชินแล้ว ก็ต้องสู้ ไม่สู้ไม่ได้
ก่อนเกิด 6 ต.ค. 2519 การที่จอมพลถนอม กลับมาประเทศไทยเป็นแผนการเพื่อเอาอำนาจเก่ากลับมา อำนาจเผด็จการเปรียบเหมือนตึกหลังใหญ่ที่ถูกสร้างขึ้นมา ใช้เวลายาวนาน เพียงแต่ 14 ตุลา เกิดพายุใหญ่พัดมา ทำให้กระเบื้อง 3 แผ่นปลิวออกไป นั่นคือ ถนอม (กิตติขจร) ประภาส (จารุเสถียร) ณรงค์ (กิตติขจร) แต่โครงสร้างยังอยู่ และรอการต่อเติมเท่านั้น 6 ตุลาคือการเอากระเบื้อง 3 แผ่นมาต่อเติมใหม่ โดยการสร้างอีเวนท์เหตุการณ์ฆ่านักศึกษา ว่านักศึกษามีการชุมนุมแล้วแสดงละครหมิ่นสถาบัน มันก็ 112 ปัจจุบันนั่นแหละ
วันนั้นกับวันนี้ไม่ได้ต่างกัน เนื้อหายังเหมือนกัน รูปแบบอาจจะแตกต่างกันบ้าง แต่เนื้อหาและหลักการอันเดียวกัน คือเขาต้องการที่จะรักษาอำนาจที่ตัวเองได้ประโยชน์และชาวบ้านได้เสียประโยชน์ ความจนของชาวบ้านคือโอกาสของเขา ความไม่รู้ของชาวบ้านคือโอกาสของเขา เขาไม่ได้อยากให้ชาวบ้านรู้ ชาวบ้านรู้มากปกครองยาก จึงไม่ให้ดู ไม่ให้พูด โดยมีกฎหมายเป็นเครื่องรองรับ จึงต้องปิดปาก จับขังคุกไว้ เมื่อก่อนก็มีขังลืมเยอะ สมัยจอมพลสฤษดิ์เป็นพันคน นักศึกษาปัญญาชน ทองใบ ทองเปาด์ จิตร ภูมิศักดิ์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ถูกขังเป็น 10-20 ปี นี่คือของจริง
หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ผมถูกพาไปที่เรือนจำกลางบางขวาง โดยที่ไม่รู้จะจบยังไง ข้อหาก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผมนอนที่คุกบางขวางก็คิดว่าคงจะตายในคุกนี่แหละ เพราะข้อหามันเยอะมาก มีประหารชีวิตหลายครั้ง ขณะเดียวกันเพื่อนเราหลายคนก็เข้าป่า คิดว่าถ้าได้มีโอกาสเจอกันก็คงแก่แล้ว แต่ 2 ปีเขาก็นิรโทษกรรม อายุ 23 ผมเข้าไปในคุก อายุ 25 ได้ออกมา เป็นการปรองดองครั้งใหญ่นิรโทษกรรมให้เรา
"6 ตุลา เป็นการรวบยอดการฆ่าหมู่กลางเมืองเท่านั้นเอง เพราะจริงๆ มันฆ่ากันมาหลายที่แล้ว"
(สุธรรม แสงประทุม และพร้อมเพื่อนผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา ถ่ายรูปร่วมกับ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ในช่วงเช้าวันที่ 17 ก.ย. 2521 สองวันหลัง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ผ่านสภา หนึ่งวัน ทำให้ผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา ได้รับอิสรภาพ)
อุดมการณ์ 6 ต.ค. 19 สานต่อโดยคนรุ่นใหม่
มาวันนี้เหมือนกับว่าภารกิจได้รับการส่งทอดต่อไปถึงคนแต่ละรุ่น วันนี้เราไปบอกเขาไม่ได้ แต่เขาก็ศึกษาเอง ซึ่งเขาก็จะพบว่าปัญหาต้นตอมันเกิดมาก่อนแล้ว คนรุ่นก่อนเขาถูกฆ่าตายไปเยอะแล้ว แต่ปัจจุบันนี้ข้อมูลข่าวสารมาถึงพวกเขาง่ายกว่ารุ่นเรา และสำหรับผมดูเหมือนว่ายิ่งนานไป ก็ยิ่งจะตอบคำถามมากขึ้น และเชื่อว่าปีนี้ความจริงเริ่มเห็นจากหลายมุม เช่น ผมเพิ่งเห็นคลิปของวอยซ์ทีวี (VOICE TV) ที่เอาภาพจากสำนักข่าว AP มาเล่าเรื่องใหม่ ตอนที่ผมเดินขึ้นศาล หลังเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆได้ 7 วัน ตอนนั้นผมยังได้กลิ่นไหม้ของการเผาศพคนเป็นๆอยู่เลย ที่สนามหลวง
การชุมนุมของเยาวชนทุกวันนี้ เจ้าหน้าที่ทำเกินเหตุ ขณะเดียวกัน ตำรวจก็กลัวว่าถ้าไม่จับเด็กเขาก็จะถูกปลด จึงต้องโยนภาระด้วยการจับเด็ก เมื่อตำรวจจับเด็กส่งให้ศาล ตอนแรกศาลก็ปล่อยบ้างจับบ้าง แต่หลังๆความกลัวของศาลมีอยู่ จึงต้องฝากขังต่อเนื่อง ปัญหาเล็กกลายเป็นปัญหาใหญ่ ถ้าพวกเขามีความกล้าซะหน่อย มองว่าเด็กไม่มีอะไร แค่มาคุยกันก็จบ แต่การไม่คุยกัน ทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ วันนี้ผู้ใหญ่มีความกลัวเป็นที่ตั้ง จึงสร้างปัญหาให้บ้านเมือง แต่ถ้าคุณมีความกล้าในการเผชิญกับความจริงว่าเด็กคือลูกหลาน แค่ฟังเขา แก้ได้ไม่ได้ก็ค่อยว่ากัน นำไปสู่อะไร
อย่างน้อยความจริงก็ถูกนำมาเปิดในที่สว่าง เมื่อก่อนก็มีแค่เสียงซุบซิบนินทาด่าแม่ วันนี้เขาเอามาพูดกันในที่สว่าง แต่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแค่ไหน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อเครื่องเอ็กซเรย์ทำงานแล้ว คนได้รู้จักอาการป่วยจริงของสังคมในขั้นต้นจะรักษาหรือไม่รักษาก็อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็ยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่ารักษาแล้ว จะนำไปสู่อาการที่ดีขึ้นหรืออาการจะหนักกว่าเดิมแต่ถ้าไม่รักษาก็หนักกว่าเดิมอยู่ดี
สิ่งที่สำคัญคือความจริงได้ปรากฏในขั้นต้นแล้ว เครื่องเอ็กซเรย์ไม่หลอกใคร เด็กเขาซื่อ ลูกเคยอ่านนิทานไหม เรื่อง ราชาไม่ใส่เครื่องทรง คือมีคนชมพระราชาว่าเครื่องทรงสวยงาม สวยหรู แต่เด็กตื่นขึ้นมาบอกว่า เฮ้ย ไม่ใส่เสื้อผ้านี่หว่า นั่นเพราะว่าเด็กมันบริสุทธิ์ ไม่ใส่เครื่องทรงก็แปลว่าเปลือย แต่คนไม่กล้าพูดว่าเปลือย กลัวพระราชาโกรธ
"ประวัติศาสตร์เหมือนกัน วันนี้เนื้อหาเหมือนกัน รูปแบบอาจจะแตกต่างกัน เนื้อเดิมหลักการเดียวกัน คือต้องการรักษาอำนาจที่ตัวเองได้ประโยชน์ และชาวบ้านเสียประโยชน์ไว้" สุธรรม ระบุถึงเหตุการณ์สองยุคในช่วง 6 ต.ค. 2519 และในเหตุการณ์ปีที่ 45 ของ 6 ต.ค. 2564
ภาพ - ณปกรณ์ ชื่นตา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง