เวลา 13.30 น. วันที่ 6 มิ.ย. 2565 ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางมาเป็นประธานในการประชุมสภากรุงเทพมหานครครั้งแรกโดยมี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะบริหารเข้าร่วม
โดย พล.อ.อนุพงษ์ นั้นได้นัดหมายการประชุมสภากรุงเทพมหานคร ตามอำนาจตามความในมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 และพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 37 และได้กล่าวเปิดการประชุมว่า ขอแสดงความยินดีกับสมาชิกสภากรุงเทพทุกท่านที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ขอให้ทุกท่านปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล และยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อทำให้การบริการสาธารณะของกรุงเทพฯ เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน
พล.อ.อนุพงษ์ ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนหลังการประชุมว่า วันนี้เป็นการเปิดการประชุมสภากทม.ครั้งแรกตามกฎหมาย หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองตำแหน่ง ซึ่งตนได้หารือกับผู้ว่าฯกทม.และปลัดกรุงเทพมหานครมาแล้ว จนถึงวันนี้ที่มีการเปิดประชุมสภา โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการพูดคุยเรื่องการทำงานในภาพรวม
ทั้งนี้ ผู้ว่าฯกทม.ได้แสดงเจตนารมน์ในการทำงานเพื่อประชาชนอย่างเต็มที่ ซึ่งตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยืนยันว่ากระทรวงมหาดไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของกทม. และพร้อมสนับสนุนทุกอย่าง โดยจะร่วมทำงานเพื่อประชาชนเป็นหลัก
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ผู้ว่าคนนี้เป็นคนที่มีความตั้งใจสูง เป็นที่ถูกใจของประชาชน และบรรยากาศการประชุมวันนี้เป็นไปด้วยดีซึ่ง กทม.ไม่มีบรรยากาศการทำงานแบบนี้มาหลายปีแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ.อนุพงษ์ ต้องเป็นตัวเชื่อมระหว่างรัฐบาล และท้องถิ่น พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า การทำงานจะไม่มีรอยต่อแน่นอน เพราะ กทม. เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีอำนาจในตัวเองตามกฎหมาย ไม่ต้องขอความเห็นจากใคร หากมีแผนพัฒนาด้านใดก็สามารถทำได้เลยตามอำนาจหน้าที่
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวต่อว่า ตนนั้นไม่มีอำนาจไปก้าวก่ายการทำงานของผู้ว่าฯ กทม. หรือ สภาฯ กทม. เพราะ กทม.เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอิสระ พร้อมยืนยันไม่มีปัญหาใดทั้งสิ้น แต่หากมีเรื่องใดที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากคณะรัฐบาล ตนก็พร้อมจะสนับสนุนเต็มที่
ส่วนกรณีประเด็นปัญหาการสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของกทม. เป็นหลัก เพราะที่ผ่านมา กทม.มีปัญหาแล้วหาทางแก้ไขไม่ได้ ก็ได้ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ช่วยหาทางแก้ไข
ซึ่งขณะนี้ แนวทางการแก้ไข ต้องรอทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ แต่เมื่อมีผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ มีสภากทม. ชุดใหม่ ตนจะทำหนังสือมาถามว่า กทม.จะมีแนวทางอย่างไร หากทม.แจ้งว่ามีแนวทางดำเนินเพื่อเป็นข้อยุติ ก็จะนำเรื่องเข้า ครม.เพื่อไม่ต้องขอมติ ซึ่งเข้าใจว่าผู้ว่าฯ จะหาแนวทางที่จะแก้ไขอยู่แล้ว ส่วนทางด้านกระทรวงมหาดไทยก็จะหาร่วมมือกันในการแก้ไขเช่นกัน โดยพร้อมรับแนวทางเข้าไปเสนอ ครม.
"เชื่อมั่นว่า กทม.จะดีขึ้นแน่นอน ในด้านของการปกครองภายหลังมีการเปิดประชุมสภา กทม. เพราะผู้ว่าชัชชาติ มีความตั้งใจ ผมเป็นคนกรุงเทพฯ ก็อยู่ภายใต้การดูแลของท่านชัชชาติเช่นกัน" พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่จังหวัดอื่นๆ มีการเรียกร้องอยากเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดบ้างนั้น พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ เพราะมีความแตกต่างกัน ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกรุงเทพมหานครมีหน้าที่บริการสาธารณะ แต่ในพื้นที่อื่นๆ ไม่ได้มีหน้าที่นั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดอื่นๆ มีหน้าที่เชื่อมต่ออำนาจจากส่วนกลางลงไปในพื้นที่ ยึดโยงกับพื้นที่ ซึ่งมันคนละอำนาจกัน
นอกจากนี้ ในวันเดียวกันนั้น ได้มีการเลือกประธานสภากรุงเทพมหานคร โดย ส.ก.ทั้ง 45 คน ได้มีมติเห็นชอบให้ วิรัตน์ มีนชัยนันท์ ส.ก.เขตมีนบุรี พรรคเพื่อไทย ได้รับตำแหน่งประธานสภา พร้อมด้วย ชญาดา วิภัติภูมิประเทศ ส.ก.เขตคันนายาว พรรคเพื่อไทย ตำแหน่งรองประธานสภาคนที่ 1 และอำนาจ ปานเผือก ส.ก.เขตบางแค พรรคก้าวไกล รองประธานสภาคนที่ 2