ศูนย์สำรวจความคิดเห็น 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง 'ได้เวลาเลือกนายก อบจ.' ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 14–15 ต.ค. 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น จำนวน 1,329 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเพื่อเลือก นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และสมาชิกสภา อบจ. ในวันที่ 20 ธ.ค. 2563 จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงการไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงพบว่า ส่วนใหญ่ 82.47% ระบุว่า ไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียง ขณะที่ 12.34% ระบุว่า ไม่ไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียง และ 5.19% ระบุว่า ไม่แน่ใจว่าจะไปหรือไม่
สิ่งที่ประชาชนใช้พิจารณาในการตัดสินใจเลือก นายก อบจ. พบว่า ส่วนใหญ่ 60.50% ระบุว่า พิจารณาจากผลงานที่ผ่านมาในการทำประโยชน์เพื่อท้องถิ่น รองลงมา 38.07% ระบุว่า พิจารณาจากนโยบายการบริหารและการพัฒนาท้องถิ่นของผู้สมัคร 24.91% ระบุว่า พิจารณาจากประวัติพฤติกรรมส่วนบุคคล 22.80% ระบุว่า พิจารณาจากคุณสมบัติประวัติส่วนบุคคล เช่น อายุ การศึกษา อาชีพ 8.58% ระบุว่า พิจารณาจากพรรคการเมือง/กลุ่มการเมืองที่ผู้สมัครสังกัด 4.97% ระบุว่า พิจารณาจากชื่อเสียงของผู้สมัคร 2.86% ระบุว่า พิจารณาว่าใครเป็นผู้สนับสนุนผู้สมัคร และ2.63% ระบุว่า พิจารณาจากความสัมพันธ์ส่วนบุคคลกับผู้สมัคร เช่น เป็นพ่อ-แม่ ลูก-หลาน ญาติพี่น้อง-เพื่อน
สำหรับที่มาของ นายก อบจ. ที่ประชาชนอยากได้ พบว่า ส่วนใหญ่ 79.23% ระบุว่า นายก อบจ. อิสระ รองลงมา 28.37% ระบุว่า นายก อบจ. ที่สังกัดพรรคการเมือง 14% ระบุว่า นายก อบจ. ที่สังกัดกลุ่มการเมือง
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความต้องการของประชาชนต่อการเปลี่ยน นายก อบจ. ในเขตจังหวัด พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.77 ระบุว่า อยากเปลี่ยนนายก อบจ. ขณะที่ 43.19% ระบุว่า ไม่อยากเปลี่ยนนายก อบจ. และ 12.04% ระบุว่า ยังไม่แน่ใจ