วันที่ 29 พ.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เดินทางมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อ กกต. กรณีที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และว่าที่นายกรัฐมนตรี ถือหุ้นไอทีวี โดยยืนยันว่า ไม่ได้เป็นคนร้องหลัก แค่สะกิดให้ กกต. สรุประยะเวลาในการตรวจสอบข้อมูลว่าใช้เวลาเท่าไหร่ และได้รับคำตอบถึงไทม์ไลน์ของ กกต. ว่า จะพิจารณา และทำคดีให้เสร็จสิ้นภายหลังการรับรอง ส.ส. 95% หรือ 476 คนจากจำนวน 500 คน จากนั้นจะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย
สนธิญา ระบุว่า หลักฐานที่นำมาประกอบการให้ข้อมูลต่อ กกต. มีอยู่ 2 อย่าง คือ ข้อมูลที่ นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงว่า พิธา เป็นผู้ถือหุ้นไอทีวีจริง และข้อมูลที่ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐเป็นผู้ร้อง โดยกระบวนการสอบสวนเป็นเรื่องของ กกต. ที่จะเรียกรายละเอียด ซึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือนจึงจะสามารถสรุปเรื่องต่างๆ ได้
สนธิญา ยังกล่าวถึงคนที่มาวิพากษ์วิจารณ์ อาทิ พระพยอม กัลยาโณ และประชาชนคนอื่นๆ ว่า ตนมาเคลื่อนไหวก็โดนด่าโดนว่า แต่เรื่องทั้งหมดขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะที่มาของ ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ม.98 ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 18 ข้อบังคับในการที่ผู้ทำไม่ถูกต้องนั้นจะลงสมัคร ส.ส. ไม่ได้ และไม่ใช่เรื่องของการกลั่นแกล้ง ไม่ใช่เรื่องของความเมตตาธรรม เพราะผู้ลงสมัคร ส.ส. เมื่อได้รับเลือกตั้งจะเข้าไปโหวตนายกรัฐมนตรีเพื่อนำไปสู่การบริหารประเทศ ดังนั้นที่มาของ ส.ส. จึงจำเป็นต้องถูกต้อง และเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ม.98 ทั้งหมด
สนธิญา เรียกร้องไปยังพรรคก้าวไกลอีกว่า พรรคก้าวไกล โดยเฉพาะหัวหน้าพรรคขาดความชอบธรรมในการถูกเสนอชื่อไปเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุผลคือ ขณะนี้ กกต. อยู่ในระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง และถ้า กกต. ส่งรายชื่อ พิธา ที่มีข้อร้องเรียนไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ประธานสภาฯ ไม่ว่าของพรรคเพื่อไทย หรือพรรคก้าวไกล จะกล้าเสนอชื่อ พิธา ทูลเกล้าไปเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นั่นจะทำให้ประเทศไทยจะอยู่ในช่องว่างของอำนาจ เพราะการจะทูลเกล้านายกรัฐมนตรีต้องกระทำหลังจากที่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้ว
“ทั้งหมดทั้งมวลไม่ใช่เพราะผู้ร้อง แต่เป็นเพราะเหตุผลที่ พิธา ไม่ได้ดำรงตัวเองให้ถูกต้องตามกระบวนการกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่ฝ่ายกฎหมายของพรรคก้าวไกลไม่ได้ตรวจสอบให้ดี จึงทำให้ไม่มีสิทธิเป็นหัวหน้าพรรค และลงสมัคร ส.ส. อีกทั้งยังพัวพันไปถึง ส.ส. ทั้งสองระบบของพรรคที่จะโมฆะไปด้วย ย้ำว่า ไม่ใช่เรื่องของเกลียดหรือไม่เกลียด แต่การกระทำไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ” สนธิญา กล่าว
เมื่อถามว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นตามหลักนิติรัฐแล้วเป็นสิ่งที่บิดเบี้ยว สนธิญา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประชาชนทั้ง 17 ล้านเสียง มีการรับร่างประชามติมาแล้ว ถ้าบอกว่าบิดเบี้ยว บิดเบี้ยวจากมุมมองของฝ่ายไหนมากกว่า และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้มาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งผ่านการใช้มาแล้ว 4 ปีในสภาฯ ถ้าบิดเบี้ยวจริง ทำไมไม่คิดแก้ หรือดำเนินการในช่วงที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล หรือพรรคเพื่อไทย และทุกพรรค สามารถแก้ไขได้
เมื่อถามว่า กรณีการร้องเรียน พิธา จะนำไปสู่การลงถนนของประชาชนหรือไม่ สนธิญา กล่าวว่า การลงถนนนั้นสามารถทำได้ทั้งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และฝ่ายที่เห็นด้วยกับการที่ กกต. จะวินิจฉัยตามข้อมูล แต่บ้านเมืองนี้อยู่ด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ ถ้าทุกฝ่ายยอมรับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หรือเคารพสิทธิและเสรีภาพก็ไม่มีปัญหาอะไร