ไม่พบผลการค้นหา
ไข่ของนายกฯ แต่ละคนบอกได้ถึงปากท้องของคนในสมัยนั้นๆ ทั้งไข่ชวน ไข่มาร์ค ไข่แม้ว ไข่ปู และตอนนี้เข้าสู่ยุค “ไข่ตู่” บวกโควิด-19 แปลกกว่าทุกสมัย เพราะไม่ใช่แค่ไข่แพง แต่ยังหาซื้อไม่ค่อยได้

เมื่อถึงจุดหนึ่งของสถานการณ์โรคระบาด เราจะเห็นคนสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่ชอบสร้างความเท็จ Fake News ส่วนกลุ่มที่สองก็คือกลุ่มลูกอีช่างแชร์ จริงไม่จริงไม่รู้ขอแชร์ไว้ก่อน คนสองกลุ่มนี้ดูเผินๆ ก็เหมือนกับ “ไวรัสโคโรนา” กับ “ไขมันที่หุ้มไวรัส” ขาดกันไม่ได้ ถ้าชั้นไขมันแห้งหายไปเมื่อไหร่ไวรัสก็ตาย เหมือนข่าวลือมั่วๆ ถ้าไม่มีคนแชร์ก็จบข่าว 

Fake News ที่ดูไร้สาระสุดๆ ในรอบสัปดาห์ ก็คือเรื่องเด็กแรกเกิดแทนที่จะร้องอุแว๊ ดันพูดว่า “ห่าลงเมือง” แถมบอกให้กินไข่ต้มเพื่อป้องกันโรค พูดเสร็จเด็กก็ตาย ดูขลังดี อารมณ์เหมือนเทวทูตมาบอกข่าวแล้วหมดหน้าที่ แต่คิดอีกทีเหมือนกำปั้นทุบดิน คนจะได้ไม่ต้องไปตามหาตัวว่าเด็กที่พูดอยู่ที่ไหน โดยข้อความแนวๆ นี้ถูกเอาไปดัดแปลงเป็นหลายเวอร์ชัน จนไปถึงการแนะนำให้กินไข่ต้มก่อนเที่ยงคืนวันนั้นวันนี้จะช่วยให้รอดจากการติดเชื้อได้


“ไข่” ในพิธีกรรม

ข่าวลือเรื่องไข่ต้มป้องกันโควิดมาพร้อมๆ กับสถานการณ์ราคาไข่ที่เริ่มพุ่งวันพุ่งคืน แต่ข่าวลือกับราคาไข่อาจไม่เกี่ยวกัน เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่นายทุนมักจะชี้นำราคาสินค้าจำเป็นบางอย่าง ในช่วงเวลาไม่ปกติที่คนต้องซื้ออาหารสำรอง และ “ไข่” เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดตัวเลือกหนึ่ง เพราะมีคุณค่าทางอาหาร ราคาไม่แรง เก็บดีๆ ในตู้เย็นอยู่ได้เกือบเดือน และประกอบอาหารได้หลายอย่าง

ที่จริงแล้วตั้งแต่ยุคอดีตมาคนสยามมีอาหารหลักคือ “ข้าวกับปลา” เป็นที่มาของคำพูดติดปาก “กินข้าวกินปลามาหรือยัง?” แม้แต่ฝรั่งต่างชาติที่เข้ามาในบ้านเราสมัยอยุธยาก็บันทึกไว้ ว่าคนบ้านเรากินง๊ายง่าย มีแค่ข้าวกับปลาแห้งก็ทำเป็นสำรับได้หลายกระบวน ดังนั้น “ไข่” จึงไม่ใช่อาหารหลักที่พอขาดแคลนแล้วจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน

ถึงไม่ใช่อาหารหลัก แต่ไข่อยู่ในวิถีชีวิตโดยเฉพาะในพิธีกรรมมีทั้งใช้เป็นเครื่องมือพยากรณ์ และใช้เป็นเครื่องเซ่นไหว้ผีนอกเหนือจากหมูเห็ดเป็ดไก่เหล้ายา เช่น ในเอกสาร “วชิรญาณวิเศษ” สมัยรัชกาลที่ 5 ระบุว่ากลุ่มไทยดำในสิบสองจุไท ใช้ไข่เป็นส่วนหนึ่งในการเซ่นผีรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วย 

“เมื่อจะเส้น (เซ่น) นั้น ต้องหาหมอมดมาอ่านมนต์คนหนึ่ง แลมีคนเป่าปี่คนหนึ่ง ในคำที่อ่านมนต์นั้นเปนใจความเชิญผีเรือนให้ช่วยรักษาแลให้ขับผีป่าไป การที่เส้นไหว้นี้ถ้าทำครั้งหนึ่งไม่หาย ก็ทำไปครั้งกว่าจะหายแลตาย ถ้าหาหมอทำครั้งหนึ่ง ต้องมีค่าเบี้ยเลี้ยงให้กับหมอเงินสลึงหนึ่ง เข้าสาร 3 ถ้วย ไข่เป็ด 2 ฟอง ให้กับหมอในเวลาเส้นคราวหนึ่ง”

และก็อย่างที่เห็นในข้อความ “ไข่เป็ด” ดูจะได้รับการกล่าวถึงในบันทึกเก่าๆ มากกว่าไข่ไก่ เช่นเดียวกับในตำราอาหารโบราณส่วนใหญ่ก็ใช้ไข่เป็ดเป็นส่วนประกอบ เช่น ในตำราแม่ครัวหัวป่าก์ เมนูไส้กรอก, ล่าเตียง, มะเขือเทศยัดไส้ทอด, ห่อหมกปลาหางสด ฯลฯ หรือแม้แต่ไข่เจียวแกล้มในเมนู “เข้าคลุก” (ข้าวคลุก) ก็ใช้ไข่เป็ด มีเพียงไม่กี่เมนูที่ระบุว่าใช้ทั้งไข่เป็ดและไข่ไก่ หรือใช้ไข่ไก่แทนได้ เช่น ไข่คว่ำ, ขนมทองเอก, ขนมเบื้องหน้าหวาน, ทองก้อน ฯลฯ 

ส่วนที่ระบุว่าใช้ “ไข่ไก่เท่านั้น” มีเล็กน้อย และส่วนใหญ่เป็นเมนูขนม-ของว่าง เช่น ขนมทองพลุ, ขนมเสน่ห์จันทน์ และมัสสะกอด (มัศกอด) และถ้าหลุดจากเรื่องอาหารการกินไปเลย ไข่ไก่ก็ไปปรากฏเป็น “สัตว์วัตถุ” ในยาแผนไทย โดยตำรับให้ใช้ “เปลือกไข่ไก่บ้าน” มีรสเย็น บำรุงกระดูก และแก้เกล็ดกระดี่ขึ้นตา (ซึ่งแพทย์แผนปัจจุบันบอกว่าโรคนี้เกิดจากการขาดวิตามินเอ)


ขุนนางสยามผู้ชื่นชอบไข่ไก่

สำหรับคนทำอาหารแล้ว จะรู้ว่าเนื้อสัมผัสของไข่ไก่และไข่เป็ดนั้นแตกต่าง ลางเนื้อชอบลางยาบางคนก็ว่าไข่เป็ดนั้นคาวเกินไป ส่วนไข่ไก่บางคนก็ว่าไม่สะใจไข่แดงเล็กกว่าและสีไม่แดงเท่า 

ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีขุนนางท่านหนึ่งเป็นทีมไข่ไก่ และมีส่วนทำให้ไข่ไก่บูมอย่างน้อยก็ในเมืองตรัง ขุนนางท่านนั้นคือ “พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี” (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) สมุหเทศาภิบาล มณฑลภูเก็ต ผู้ดูแลหัวเมืองตะวันตกตั้งแต่ภูเก็ต ตรัง กระบี่ พังงา ตะกั่วป่า ระนอง และสตูล โดยในเอกสาร “สาสน์สมเด็จ” ระบุว่าท่านเจ้าคุณฯ เป็นผู้สนับสนุนให้เมืองตรังเลี้ยงไก่เพราะเจ้าตัวเป็นคน “ชอบกินไข่ไก่”

“...พระยารัษฎานุประดิษฐฯ เองชอบกินไข่ไก่ ให้สั่งราษฎรในตำบลนั้น บ้านหนึ่งให้เลี้ยงไก่ตัวผู้ตัว 1 ตัวเมีย 5 ตัวสำหรับให้เกิดไข่ เรียกเมื่อใดให้ได้เสมอ พวกราษฎรเคยกลัวเจ้าเมืองมาแต่ก่อนก็กระทำตาม พระยารัษฎานุประดิษฐฯ แกล้งเรียกไข่ไก่ตำบลละครั้งหนึ่ง สองครั้งพอเปนกิริยา แล้วสั่งให้กำนันบอกราษฎรว่าไข่ไก่มีมากเกินต้องการแล้ว ให้ราษฎรฟักไข่เปนตัวไก่ขายเขาเถิด ก็เกิดมีไก่มากขึ้นในเมืองตรัง พระยารัษฎานุประดิษฐฯ ไปชวนพวกพ่อค้าที่เมืองปีนัง ให้เอาเรือไฟไปซื้อขายสินค้าที่เมืองตรังก็เกิดการค้าขายไก่ยังเปนสินค้าใหญ่อย่างหนึ่งของเมืองตรังอยู่จนทุกวันนี้” 


ไข่ไก่สุดยอดอาหาร “ยุคสร้างชาติ”

ในเคสของเมืองตรัง ถือได้ว่าไข่ไก่ได้รับการสนับสนุนจากทางการ แต่นั่นเป็นเพียงระดับท้องถิ่นเท่านั้น เพราะ “ไข่ไก่” ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม และคราวนี้เป็นการสนับสนุนแบบเต็มแม็กซ์ทั่วประเทศ แถม “ไข่ไก่” ในยุคนี้ยังเหมือนสุดยอดอาหารที่จะพาคนไทยไปสู่ความศิวิไลซ์

ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นับเป็น “ยุคสร้างชาติ” มีการปฏิรูปวัฒนธรรม วิถีชีวิต รวมไปถึงอาหารการกิน ในสมัยนี้มีการเสนอ “โครงการส่งเสริมอาหารของชาติ” ให้ความสำคัญกับโภชนาการจนมีการตั้ง “กองส่งเสริมอาหาร” ซึ่งเหตุผลของการตั้งกองฯ บอกเอาไว้ชัดเจนเห็นเจตนารมณ์ว่า

"...เนื่องจากความอ่อนแอของพลเมือง และความไม่เติบโตสูงใหญ่ให้สมส่วนของพลเมืองหนุ่ม ก็มีการบกพร่องธาตุสำคัญแห่งอาหารเป็นสาเหตุ ฉะนั้นกิจการแพทย์และการสาธารณสุขแผนปัจจุบัน จึ่งต้องอาศัยวิชาอาหารการบริโภคเป็นรากฐาน"


Field_Marshal_Plaek_Phibunsongkhram.jpg

เป็นที่เม้ามอยกันว่า จอมพล ป.พิบูลสงคราม ส่งเสริมการเลี้ยงไก่เต็มสูบเพราะเกิด “ปีระกา” แต่ไม่ว่าจะอย่างไร การสนับสนุนของจอมพล ป. ก็ทำให้ไข่ไก่ และเนื้อไก่กลายเป็นแหล่งโปรตีนของชาติในที่สุด


ปัญหา “ไม่เติบโตสูงใหญ่” ในสมัยนั้นคือการกินโปรตีนน้อย จึงมีการส่งเสริมให้กินอาหารโปรตีน จากนั้นในปี พ.ศ.2483 ที่ประชุม ครม.จึงมีโครงการบำรุงและส่งเสริมการเลี้ยงสุกร เป็ด และไก่ เป้าหมายหลักๆ คือการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ให้ประชาชนมีไข่บริโภคมากขึ้น เพราะไข่เป็นอาหารที่มีโภชนาการสูง กินแทนนมที่คนไทยไม่ค่อยชอบได้สบายๆ สอดคล้องกับนโยบายกินสร้างชาติ

เรียกได้ว่าไข่ไก่ได้รับการผลักดันให้เป็นอาหารหลักของครัวเรือนอย่างเป็นรูปธรรมในยุคมาลานำไทยนี่เอง ดันหนักไม่หนักก็ถึงกับมีการก่อตั้ง “วารสารสาส์นไก่” เผยแพร่นวัตกรรมและเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงไก่เป็นล่ำเป็นสัน ขอคัดบางส่วนบางตอนในวารสารมาให้ดูเพื่อให้เห็นว่าไข่ไก่ยุคนี้ฮอตขนาดไหน

“กินไข่วันละฟอง ไม่ต้องหาหมอ (บ่อย) โปรตีนแร่และไวตามิน มีทุกอย่างสิ้นในไข่ไก่ พลานามัยสำหรับชาติไทย มีอยู่ในไข่ทุกฟอง กินผักผลไม้และเนื้อนมไข่ จะช่วยให้ชาติไทยแข็งแรง ผู้ที่สูงด้วยอารยะธรรม รับไข่เป็นประจำ”  

(สาส์นไก่ ปีที่ 5 เล่ม 9 มิถุนายน พ.ศ. 2499)

และนี่คือจุดเริ่มต้นการเปิดศักราชให้ “ไข่ไก่” กลายเป็นของจำเป็นในครัวเรือน และเป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจ เพราะไข่ของนายกฯ แต่ละคนบอกได้ถึงปากท้องของคนในสมัยนั้นๆ ทั้งไข่ชวน ไข่มาร์ค ไข่แม้ว ไข่ปู และตอนนี้เข้าสู่ยุค “ไข่ตู่” บวกโควิด-19 แปลกกว่าทุกสมัย เพราะไม่ใช่แค่ไข่แพง แต่ยังหาซื้อไม่ค่อยได้ ขณะที่พ่อค้าแม่ค้าก็หาไข่มาขายไม่ได้เหมือนกัน ตลาดแถวบ้านฉันร้านขายไข่ปิดร้านไป social distancing ที่บ้านเรียบร้อย

ไม่รู้ไข่มันหายไปไหน นี่เป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์ของ “ไข่” ที่ต้องจารึก

91509972_653319565470207_7124380081455104000_n.jpg



วิฬาร์ ลิขิต
เสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามแต่ปากอยากจะแกว่ง เรื่องที่คนทั่วไปสนใจ หรือใครไม่สนใจแต่ฉันสนใจฉันก็จะเขียน การตีความที่เกิดขึ้นไม่ใช่ที่สุด ถ้าจุดประเด็นให้ถกเถียงได้ก็โอเค แต่ถึงจุดไม่ติดก็ไม่ซี เพราะคิดว่าสิ่งที่ค้นๆ มาเสนอ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างไม่มากก็น้อยในวาระต่างๆ จะพยายามไม่ออกชื่อด่าใครตรงๆ เพราะยังต้องผ่อนคอนโด แต่จะพยายามเสนอ Hint พร้อมไปกับสาระประวัติศาสตร์ที่คิดว่าน่าสนใจและเทียบเคียงกันได้
2Article
0Video
66Blog