ไม่พบผลการค้นหา
ฟังความสองข้าง “โครงการเพิ่มปริมาณน้ำให้อ่างเก็บน้ำภูมิพล” ที่กำลังถูกชาวบ้านตั้งคำถามและเป็นกังวล แม้ฝ่ายรัฐยืนยัน มีผู้ได้รับผลกระทบน้อยมาก และ “ชาติได้ผลประโยชน์มหาศาล” โดยมีบริษัทจากจีนพร้อมลงทุนให้

ลองนึกดูว่าจู่ๆ มีคนบอกให้คุณเสียสละทรัพยากรรอบๆ บ้านที่อยู่กับคุณและบรรพบุรุษมาหลายร้อยปี เพื่อช่วยเหลือคนอื่นที่อยู่ห่างออกไป 500-700 กิโลเมตร คุณจะรู้สึกอย่างไร ?

“โครงการผันน้ำยวม” หรือชื่ออย่างเป็นทางการ “โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำภูมิพล” ของกรมชลประทาน มูลค่ากว่า 70,000 ล้านบาท กำลังถูกชาวบ้านและชาวกะเหรี่ยงหลายชาติพันธุ์ ตั้งแต่ท้ายอุโมงค์ผันน้ำยันหัวเขื่อนกักเก็บน้ำ ที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.แม่ฮ่องสอน จ้องเขม็งด้วยความไม่สบายใจ

“เขาบอกพวกเราจะอยู่ดีกินดี ผมว่าไม่ดีหรอก ค้านหัวชนฝาเลย ไม่มีใครเห็นด้วย” เสียงจาก วันชัย ศรีนวล ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด ม.6 ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว 


ผันน้ำยวมคืออะไร ? 

“โครงการผันน้ำยวม” มีขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเฉลี่ย 1,700–2,000 ล้านลูกบาศก์เมตรให้กับเขื่อนภูมิพลและพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 

โครงการนี้ครอบคลุมพื้นที่ ต.แม่วะหลวง ต.แม่สวด ต.กองก๋อย และ ต.สบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน , ต.นาเกียน ต.อมก๋อย และ ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ รวม 36 หมู่บ้าน

การศึกษาของกรมชลประทาน พบว่า แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำภูมิพล มีความเหมาะสมในการพัฒนา เนื่องจากมีปริมาณน้ำมากพอ ไม่กระทบต่อการใช้น้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ มีความคุ้มค่าในการลงทุน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ในเกณฑ์น้อยมากและกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบได้ 

ลักษณะของเขื่อนน้ำยวม เป็นคอนกรีตสูง 69.50 เมตร หรือประมาณตึก 24 ชั้น ความกว้างสันเขื่อน 8 เมตร ยาว 180 เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 2,075 ไร่ ระยะยาวประมาณ 22 กิโลเมตร คาดว่าเขื่อนน้ำยวมจะทำให้สูญเสียพื้นที่ป่า 1,426 ไร่ พื้นที่ปลูกผัก 39 ไร่ พื้นที่สิ่งปลูกสร้าง 4 ไร่ 

รูปแบบของโครงการ จะมีระบบอุโมงค์ทำหน้าที่ลำเลียงน้ำจากสถานีสูบน้ำด้วยความดัน มาพักที่ถัง ก่อนจะใช้อุโมงค์ส่งน้ำลำเลียงไปท้ายน้ำห้วยแม่งูด บ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เข้าสู่อ่างของเขื่อนภูมิพล 

อุโมงค์มีความยาว 63.47 กม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 6.8 เมตร ถังพักน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 34 ม. สูง 25.6 ม. 

น้ำยวม

โครงการก่อสร้างไม่ได้แค่หลับตาแล้วมีขึ้นมาเลย แต่ต้องการผ่านการขุดเจาะ ลำเลียงดิน และมีจุดกองวัสดุหลายร้อยไร่ 

จุดกองวัสดุแบ่งออกเป็น 6 จุด ได้แก่ 1.ต.แม่สวด พื้นที่ 89.4 ไร่ , 2.ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ พื้นที่ 112.7 ไร่ , 3.ตำบลนาเกียน 26.20 ไร่ , 4.ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย พื้นที่ 112.7 ไร่ , 5.ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ พื้นที่ 88.1 ไร่ และ 6.ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ พื้นที่ 77.2 ไร่ 

เอกสารจากกรมชลประทาน ระบุว่า โครงการผันน้ำฯ มีประโยชน์ 5 ด้านได้แก่ ด้านการเกษตร เพื่อพื้นที่เพาะปลูก 1,640,026 ไร่, ด้านน้ำประปาส่วนภูมิภาค 50 ล้าน ลบ.ม./ปี ประปานครหลวง 250 ล้าน ลบ.ม./ปี, เพิ่มพลังงานการผลิตไฟฟ้าให้เขื่อนภูมิพล เฉลี่ย 417 ล้านหน่วยต่อปี และผลิตพลังงานท้ายเขื่อนน้ำยวมได้ 46.02 ล้านหน่วย, ทำประมงในอ่างเก็บน้ำเขื่อนน้ำยวม พื้นที่ 2,075 ไร่ สามารถเลี้ยงปลาได้ 17,638 กิโลกรัมต่อปี และ การท่องเที่ยวทะเลสาบดอยเต่าและการท่องเที่ยวบริเวณเขื่อนน้ำยวม 


‘บ่นระงม’ จากท้ายอุโมงค์ถึงสถานีสูบน้ำ 

แดดร้อนๆ ลมน้อยๆ ในหน้าแล้ง ที่หมู่บ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ซึ่งตามแผนเป็นท้ายอุโมงค์ของโครงการผันน้ำยวม

วันชัย ศรีนวล ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด ม.6 บอกหน้าเข้มว่า ชาวบ้านไม่เคยได้รับข้อมูลและผลกระทบที่ชัดเจน ตนเคยเตรียมข้อมูลไปเพื่อสอบถามในที่ประชุมร่วมกับภาครัฐ ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตัดบทไม่ให้อธิบายต่อ โดยอ้างว่าหมดเวลาแล้ว

“เราไม่ได้เห็นแก่ตัว” พ่อหลวงของชาวบ้านกล่าว “เขาบอกเราไม่ช่วยเจ้าพระยา คำถามคือเจ้าพระยาเคยช่วยเหลือพวกผมบ้างไหม ทำไมเราต้องสละน้ำให้เจ้าพระยา”

น้ำยวม
  • วันชัย ศรีนวล (คนด้านขวาเสื้อสีขาว)

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน เห็นว่าโครงการดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวาง มีผลต่อแม่น้ำเมยและสาละวิน เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำเดียวกัน และมีความเชื่อมโยงกันทางนิเวศ อันเป็นพรมแดนไทย-พม่า รวมถึงมองว่า แนวคิดผันเอาต้นทุนทางทรัพยากรจากลุ่มน้ำสาละวินไปแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นการละเมิดสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านกว่า 36 หมู่บ้านในพื้นที่ไม่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการ 

“โอยยยย...” ตัน ศรีนวล ชาวบ้านแม่งูดวัย 50 ปี เจ้าของไร่ลำไยหลายสิบไร่ ส่ายหน้า ร้องเสียงหลงหลังถูกถามว่า คิดเห็นอย่างไรกับโครงการผันน้ำฯ ? 

“ไม่มีชาวบ้านอยากได้หรอกครับ” หนุ่มใหญ่บอกไม่มีประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้รับจากโครงการนี้ มีแต่ 'เสียกับเสีย' ทั้งที่ทำกิน ทรัพยากร และรวมถึงวิถีชีวิต

คำปฎิเสธนั้นสอดคล้องกับกลุ่มชาวกะเหรี่ยงที่หมู่บ้านกะเบอดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ หนึ่งในพื้นที่แนววางกองหินและอุโมงค์ส่งน้ำ เมื่อหลายคนบอกว่า การสร้างเขื่อนแม่น้ำยวมจะทำลายทรัพยากร ความอุดมสมบูรณ์ของป่า รวมถึงกังวลเรื่องที่ดินทำกินที่รับจากมาบรรพบุรุษและเตรียมส่งต่อให้ลูกหลาน 

“เคยมีคนจากภาครัฐบอกว่า เขาจะสร้างเขื่อนเพื่อเติมไฟฟ้าให้เรา แต่ชาวบ้านหลายคนที่นี่ไม่เข้าใจ ไม่รู้ผลกระทบที่แท้จริง” ศรายุทธ พงทวิช วัย 30 ปีบอกและเห็นว่าการนำเสนอนโยบายของภาครัฐต่อกลุ่มชาติพันธุ์มีปัญหาในด้านการสื่อสาร เนื่องจากใช้ภาษาภาคกลาง ซึ่งชาวบ้านฟังไม่เข้าใจ และอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด 

น้ำยวม

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน รายงานว่า อุโมงค์ส่งน้ำคอนกรีต ที่ยาวกว่า 60 กิโลเมตร จากบ้านสบเงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ถึงลำห้วยแม่งูด ต.นาคอเรือ จ.เชียงใหม่ ต้องมีการขุดเจาะผ่านป่าสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำชั้น 1 เอ ที่เป็นป่าสมบูรณ์บริเวณรอยต่อ 3 จ. คือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และตาก เป็นป่าที่ประชาชนรอบๆ มีส่วนในการดูแลรักษาร่วมกับหน่วยงานของรัฐ 

ยอดชาย พรพงไพร รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)แม่สวด อ.สบเมย ให้สัมภาษณ์ ณ จุดบรรจบระหว่างแม่น้ำเงาและแม่น้ำยวม ซึ่งตามแผนเป็นบริเวณใกล้กับที่ตั้งสถานีสูบน้ำ ถังพักน้ำและปากอุโมงค์ส่งน้ำ 

เขาได้เข้าร่วมประชุมกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ซึ่งวันนั้นยอดชายบอกว่าไม่ได้รับโอกาสอธิบายผลกระทบต่อชุมชนอย่างเต็มที่ 

“พวกเราชาวบ้านช่วยกันดูแลป่าต้นน้ำมาตลอดชีวิต แต่เรากำลังจะไม่ได้ประโยชน์จากมัน” เขาย้ำ “เราดูแลน้ำเพื่อให้เขาผันไปให้คนอื่น”

กรรมาธิการฯ บอกกับ “ยอดชาย” ว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจะได้รับเงินรายละ 1 ล้านบาท ซึ่งสำหรับเขาแล้วจำนวนเงินแค่นั้นเป็นการดูถูกชาวบ้านอย่างมหาศาล 

“เจ็บมากครับ” หนุ่มใหญ่แววตาเศร้า “เงินล้านไม่มีค่าสำหรับผม เมื่อเทียบกับสิ่งที่เรามี” 

น้ำยวม
  • ยอดชาย พรพงไพร

รองนายก อบต.แม่สวด กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาภาครัฐไม่เห็นคุณค่าหรือส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับผู้คนที่อยู่ห่างไกลจากส่วนกลาง แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องการผลประโยชน์กลับคิดแต่จะได้เพียงอย่างเดียว 

“คนดูแลป่า น่าจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้” เขาบอกความในใจ “คนบ้านเราเหมือนถูกคนกรุงเทพฯ กินชีวิต”

ธงชัย เลิศพิเชียรไพบูลย์ ชาวบ้านแม่เงา บอกว่า ถ้ารัฐเลือกเดินหน้าทำโครงการ ทรัพยากรที่เสียไปจะไม่สามารถกู้คืนกลับมาได้ 

“วันนี้เราไม่มีเงินมีทอง แต่อยู่ดีกินดี ถ้ามีโครงการนี้พวกเราจะอยู่กันอย่างไร” ชายวัย 50 ปีบอก “ผมเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน ผมไม่ต้องการโครงการนี้”


ไร้ยุทธศาสตร์ ทำพังทั้งระบบ

ในด้านความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน ตั้งข้อสังเกตว่า มูลค่าต้นทุนกว่า 7 หมื่นล้าน ค่าดำเนินการบำรุงรักษา 328 ล้านต่อปี ค่าพลังงานสูบน้ำ 2,985 ล้านบาทต่อปี ซึ่งปริมาณน้ำผันที่จะได้จากโครงการเฉลี่ยปีละ 1,795.25 ลบ.ม. แต่ความต้องการทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาประมาณ 20,415 ลบ.ม. ถือเป็นความแตกต่างระหว่างปริมาณน้ำที่ได้กับปริมาณน้ำที่ต้องการ ซึ่งไม่สามารถตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ 

หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ (ประเทศไทย) บอกว่า การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและปัญหาขาดแคลนน้ำ ต้องทำอย่างมียุทธศาสตร์และเป็นระบบ ไม่ใช่การผลักดันบางโครงการเพื่อตอบสนองอีกโครงการเท่านั้น โดยประเทศไทยมีทั้งหมด 22 ลุ่มน้ำ คณะกรรมการแต่ละลุ่มน้ำจำเป็นต้องวางแผนและออกแบบการบริหารจัดการไปด้วยกัน 

“มาพูดว่าน้ำขาดแล้วไปหาน้ำมาใส่เลย อันนี้มันขาดการวิเคราะห์ เราต้องวางแผนทั้งลุ่ม ตรงไหนทำ ไม่ทำ ตรงไหนต้องดูแลรักษาป่า ตรงไหนต้องวางอุตสาหกรรมเพื่อให้มีน้ำเพียงพอ ถ้าน้ำไม่พอก็ไม่ต้องวางอุตสาหกรรมให้มาเบียดเบียนน้ำ การส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชที่ใช้น้ำมาก ก็ต้องลดในบางพื้นที่ ถ้าหากน้ำเพียงไม่พอ ปัจจุบันกลายเป็นว่าไม่มีการวางแผนในเชิงยุทธศาสตร์เลย” 

น้ำยวม
  • หาญณรงค์ เยาวเลิศ

การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเดียว อาจเท่ากับเพิ่มปัญหาสะสมไม่รู้จบ 

“ถ้ามองแค่โครงการเดียว การแก้ไขปัญหาก็จะทำเพื่อตอบโจทย์โครงการนั้นๆ แต่สุดท้ายในภาพรวม ปัญหาเรื่องลุ่มน้ำมันไม่ได้ถูกแก้ไข และจะสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นมา”

เขามองว่าโครงการนี้ยากจะคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจและอาจมีขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของนักการเมืองเท่านั้น 

“ผลกระทบมันต้องไปแก้ที่เหตุ เหตุเกิดอย่างคุณไปแก้อย่างมันก็จบสิ ตั้งโจทย์นี้มันเข้าทางนักการเมือง เข้าทางงบประมาณเลย” ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำชี้ว่า “โครงการผันน้ำยวม” ขาดการศึกษาที่ครบถ้วนและจะนำไปสู่การใช้งบประมาณบานปลาย ซึ่งหมายถึงภาษีประชาชน 

“อนุมัติไปก่อน ปัญหาไปแก้กันตอนหลัง” หาญณรงค์คาดการณ์ 


ถ้าชาวบ้านเดือดร้อน ผมไม่ทำอยู่แล้ว ? 

วีระกร คำประกอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จ.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ หนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ยืนยันเสียงหนักแน่นกับ ‘วอยซ์ออนไลน์’ ว่า ตลอดบริเวณการก่อสร้างโครงการผันน้ำยวมมีความเหมาะสม ขนาดความสูงของเขื่อน 69 เมตร ถูกวางในพื้นที่ทางน้ำเดิม ที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะลึกและลาดชันมากอยู่แล้ว ไม่ได้สร้างผลกระทบหรือทำให้เกิดน้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนโดยรอบ อย่างที่มีบางส่วนเข้าใจ 

“เราเป็น ส.ส.เราไม่ยอมอยู่แล้ว อะไรเป็นความเดือดร้อนของประชาชน เราจะไปทำได้อย่างไร ต้องสมเหตุสมผล ประชาชนต้องวิน-วิน ทั้งนั้นแหละ เราไม่ใช่เอ็นจีโอ แต่เราก็รักประเทศไทยเหมือนเอ็นจีโอนั่นแหละ”

ขณะที่พื้นที่วางวัสดุหรือกองดินต่างๆ ส.ส.จากนครสวรรค์ บอกว่า คณะกรรมาธิการ เล็งเห็นปัญหานี้จึงสั่งการให้ทำการออกแบบ วางแผนเฉลี่ยกองดินและกองวัสดุไปตามพื้นที่ป่าต่างๆ โดยกระทบกับประชาชนน้อยที่สุดหรือไม่กระทบเลย โดยเฉพาะพื้นที่ทำกิน เช่นกันกับกระบวนการขุดเจาะอุโมงค์และก่อสร้างที่จะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้กระทบกับสิ่งแวดล้อมและประชาชนน้อยที่สุด  

“ถ้าชาวบ้านเดือดร้อน ผมไม่ทำอยู่แล้ว ใครบอกกระทบคนเยอะแยะ ท่วมบ้านคน นั่นแปลว่าโกหก” นายวีระกรย้ำว่ามีผู้ได้รับกระทบบริเวณที่ตั้งสถานีสูบน้ำเพียงแค่ 4 ราย และเป็นการกระทบกับพื้นที่ทำกิน “ไม่ใช่บ้านพัก”

“ชาวบ้านบอกว่าได้ค่าชดเชยเวนคืนเขาก็พอใจแล้ว เพราะเขามีที่ทำกินหลายที่ หมุนเวียนกันไป” 

เมื่อถามย้ำว่าทั้งโครงการกระทบกับคนมากน้อยขนาดไหน ? 

“ไม่มีเลย มีแค่ 4 เจ้านี้ เราถามหมดแล้ว ถ้าชาวบ้านไม่ยอมเราจะไปทำได้ยังไง เราก็ต้องไปหาที่อื่นทำ” นายวีระกร ยืนยัน

น้ำยวม

ผันน้ำที่เกินความจำเป็น  

ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำ 28,000 ล้านลบ.ม น้อยกว่าความต้องการราว 3,000-4,000 ล้าน ลบ.ม. กอรปกับที่ผ่านมาชาวบ้านตลอดพื้นที่ลุ่มน้ำ ปิง วัง ยม น่าน ต่างพากันเรียกร้องขออ่างเก็บน้ำ ฝาย และประตูน้ำหลายแห่ง เพื่อเก็บกักไว้ใช้ ถ้าโครงการต่างๆ สำเร็จตามที่ร้องขอ ในอนาคตภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางทั้งหมดจะขาดน้ำอย่างแน่นอน 

สิ่งที่รัฐบาลจะแก้ไขได้คือ การนำน้ำส่วนเกินที่ปกติจะไหลทิ้งลงทะเลมาใช้ประโยชน์ โดยเส้นทางการไหลของแม่น้ำยวม จะเข้าสู่แม่น้ำเมย ไปต่อที่แม่น้ำสาละวิน กระทั่งสู่อ่าวเมาะตะมะ โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์เลย 

“คุณจะปล่อยให้ทิ้งเปล่าหรอ ?” นายวีระกรตั้งคำถาม 

เขาอธิบายว่า แม่น้ำเมยมีปริมาณน้ำเฉลี่ย 4,700 ล้านลบ.ม. เป็นน้ำในฤดูฝน 4,100 ลบ.ม. โครงการผันน้ำต้องการประมาณ 1,700 ลบ.ม. โดยสูบเฉพาะฤดูฝนเท่านั้น รวมถึงมีเกณฑ์กำหนดด้วยว่าระดับไหนถึงจะสูบได้ เพื่อไม่ให้กระทบกับชาวบ้านในพื้นที่ 

“เราสูบน้ำที่เกินความจำเป็นและเกินความต้องการ แทนที่จะปล่อยให้ตกลงอ่าวเมาะตะมะ ลงทะเลไป เราก็เอากลับมาใช้ เขื่อนภูมิพลเราขาดแคลนประมาณ 4,000 ล้าน เราจะหาน้ำมาเติมจากโครงการแม่น้ำเมย 1,000 กว่าล้าน ยวม 1,000 กว่าล้าน”  

วีระกรบอกว่าเขาไม่เห็นความเสียหายจากโครงการดังกล่าว พบแต่ความคุ้มค่า และจากการพูดคุยกับชาวบ้าน พวกเขาไม่มีปัญหา ต้องการเพียงไฟฟ้าและถนนหนทางเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต  

“ไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ชื่อวีระกรค้ำอยู่แล้วเรื่องนี้ มีอย่างเดียวอยากให้ประชาชนมีความสุขเท่านั้นเอง” 

“มันมีแต่ดีกับดี ผมไม่เห็นมันจะเสียหายตรงไหนเลย แต่เอ็นจีโอไปปลุกปั่นชาวบ้านว่าพวกเขาเป็นเจ้าของน้ำ เขาต้องได้ค่าน้ำ โอ๊ย..เหลวไหล ผมว่าเหลวไหล พวกเอ็นจีโอเนี่ย”

วีระกร พลังประชารัฐ ประชุมสภา_200108_0022.jpg

จีนเสนอลงทุนให้ แลก “เขื่อนกั้นสาละวิน”

นายวีระกร เปิดเผยว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีน สนใจลงทุนในโครงการผันน้ำยวมและน้ำเมย มูลค่ารวมกว่าแสนล้านบาท เพื่อแลกกับการขอให้ไทยอนุญาตให้สร้างเขื่อนกั้นน้ำสาละวิน ซึ่งเป็นลักษณะ run-off river คือไม่มีการสร้างอ่างเก็บน้ำ แต่เป็นการนำกระแสน้ำหมุนเทอร์ไบน์ โดยจีนพร้อมจะเจรจากับรัฐบาลพม่าอีกทางหนึ่ง 

“ถ้ายอมให้เขาทำเขื่อนสาละวิน เขาจะยอมลงทุนให้ก่อนเลยในโครงการยวมและเมย ไทยไม่ต้องลงทุนและเขาจะเอากระแสไฟฟ้าที่ได้จากสาละวินมาปั่นไฟขายให้เรา”

นายวีระกรกล่าวว่า ข้อเสนอของจีนยังมีรายละเอียดและขั้นตอนศึกษาอีกมากที่ต้องพิจารณาถึงประโยชน์ที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบ มีความสนใจและพร้อมสนับสนุน 

ส.ส.จากซีกรัฐบาล ยอมรับว่า หากไม่รับข้อเสนอจากจีน โครงการผันน้ำยวมมูลค่ากว่า 70,000 ล้าน อาจเกิดขึ้นได้ยาก 

“รัฐบาลไทยคงต้องคิดหนัก เนื่องจากเงินลงทุนสูงมาก โอกาสเกิดคงต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าจะพิจารณาเรื่องที่มาของเงิน แต่ถ้ามีคนลงทุนให้ ไทยไม่ต้องทำอะไรเลย เจรจากันลงตัวก็มีโอกาส

“ถ้าอนุญาตให้เขาสร้างที่สาละวิน เขาก็จะมาสร้างที่ยวมและเมยให้เป็นการตอบแทน เป็นแพ็กเกจ ซึ่งได้ไม่ได้ ดีไม่ดี อยู่ที่ สทนช.และกรมชลฯ พิจารณา” วีระกรกล่าว 

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog