หลังการนั่งในตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเป็นเวลา 4 ปี เมื่อปี พ.ศ.2514 พล.ต.พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ขอลาออกจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. พ.ศ.2514 เป็นต้นไป เนื่องจากปัญหาสุขภาพพระพลานามัยไม่แข็งแรงและไม่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่
ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ 3/2514 วันที่ 29 มี.ค. 2514 จึงได้มีมติให้ศาสตราจารย์ พล.ต.พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ทรงลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยได้ และที่ประชุมมีมติให้แต่งตั้งศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2514 เป็นต้นไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ 'สัญญา ธรรมศักดิ์' ได้รับการสนับสนุนจากภายนอกมหาวิทยาลัยให้รับตำแหน่งอธิการบดี มาจากการกระแสความเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่เริ่มรวมตัวเคลื่อนไหว จัดทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะกิจกรรมทางการเมืองที่ก่อให้เกิดการประท้วงทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ รวมถึงการประท้วงเพื่อรักษาสิทธิและความต้องการของตนเอง ภายในมหาวิทยาลัยก็ยังมีการรวมตัวกันของนักศึกษาเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตนเองโดยเฉพาะ "วิกฤตการณ์หน่วยกิต" ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2514
"พอผมเปลี่ยนจากการเป็นคณบดีมาเป็นอธิการบดีได้สักพัก ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เริ่มเปลี่ยนระบบการเรียนจากระบบคะแนนมาเป็นระบบหน่วยกิต พวกนักศึกษาธรรมศาสตร์ไม่พอใจมาก ถึงกับเดินคัดค้านระบบหน่วยกิตเป็นการใหญ่ ความจริงระบบ Credit System นี้เป็นระบบอเมริกันที่ท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ท่านเป็นผู้ริเริ่มขึ้น ตอนที่ท่านเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการอยู่ แล้วเรื่องนี้ก็เข้าสภามหาวิทยาลัยอนุมัติตั้งแต่เสด็จในกรมฯ ทรงเป็นอธิการบดี แต่มามีผลกระทบ อีก 1 ปีให้หลัง ซึ่งเป็นสมัยของผม (สัญญา ธรรมศักดิ์) พอดี เมื่อเกิดเรื่องขึ้นทั้งนักศึกษาและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่พอใจกันมาก ท่านอาจารย์อดุล วิเชียรเจริญ เชิญผมไปชี้แจงให้อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ว่าเปลี่ยนทำไม ผมก็ชี้แจงไม่ได้ว่าทำไมถึงเปลี่ยน คนที่จะชี้แจงได้ดีคือ ท่านอาจารย์ป๋วย ซึ่งก็ไปอยู่เมืองนอกเสียแล้ว"
ผลจากการเปลี่ยนระบบดังกล่าวทำให้นักศึกษาปีที่ 1 ต้องพ้นสภาพ (รีไทร์) 23 คน และได้รับใบเตือนอีกประมาณ 400 คน กลุ่มนักศึกษาที่เสียผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาได้ออกมาเรียกร้องให้มีการผ่อนผันการใช้ระบบหน่วยกิตออกไปก่อน โดยการเขียนโปสเตอร์ติดในมหาวิทยาลัยและทำหนังสือถึงอาจารย์สัญญา ในฐานะรักษาการอธิการบดี
การเรียกร้องครั้งนั้นยังเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ฉบับวันที่ 7 ม.ค. พ.ศ.2514
'สัญญา ธรรมศักดิ์' ขณะนั้นเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และองคมนตรีควบคู่ไปด้วย ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสุ๋ที่ประชุมคณบดี ปรากฏว่าผลการประชุมคณบดีไม่วสามารถตัดสินได้ว่าจะยืนยันให้ใช้ระบบการศึกษาแบบใหม่ต่อไป ทำให้ 'สัญญา' ซึ่งอยู่ในฐาานะรักษษการอธิการบดีจึงแก้ปัญหานี้โดยส่งหนังสือไปถึงจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อขอให้เรียกประชุมสภามหาวิทยาลัยเป็นการด่วนในการหาแนวทางแก้ปัญหานี้
25 ม.ค. พ.ศ.2514 สภามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ลงมติให้ใช้ระบบหน่วยกิตต่อไป ส่งให้นักศึกษกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอพบจอมพลถนอม นายกรัฐมนตรีขณะนั้น แต่ก็ไม่ได้พบ
26 ม.ค. 2514 นักศึกษาจึงเดินขบวนไปทำเนียบฯ อีกครั้งหนึ่งและประกาศเชิญนายกรัฐมนตรีออกมาพบด้านนอก เหตุการณ์ครั้งนี้อาจารย์สัญญา ได้เขียนบันทึกประจำวันส่วนตัวไว้ระหว่างวันที่ 26-29 ม.ค. 2516 ซึ่งเหตุการณ์วันที่ 26 ม.ค. ได้รับการบันทึกไว้ว่า "ไอ้พวกเด็กๆ รุ่นลูกหลาน เวลานั้นมาหาที่บ้านก็กราบไหว้ดี แต่พอมันเดินขบวนโรคบ้าคลั่งเข้าจับใจจึงตะโกนกู่ก้องไม่ยอมเรา (สัญญา) ขอพบนายกฯ (ถนอม) ให้ได้ (ทีแรกนายกฯไม่ออกมาพบท่าเดียว แต่ทีหลังก็ต้องอกและยอมเด็กเสียด้วย)"
คืนวันที่ 26 ม.ค. 2514 เวลาประมาณ 22.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เรียกตัวอาจารย์สัญญษเข้าเฝ้าฯ และรับสั่งแนะนำถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์หน่วยกิต
"ฉัน (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) ไม่สบายใจ และรู้ว่านายสัญญาคงไม่สบายใจจึงเรียกมา ทรงพระราชดำริว่า ทางที่จะระงับคราวนี้ทำไมไม่คิดให้เรียนอย่างเก่าก็ได้ อย่างใหม่ก็ได้แล้วแต่สมัครใจ"
การทำหน้าที่องคมนตรีของ 'สัญญา' ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงมีโอกาสเรียกอาจารย์สัญญา ให้เข้าเฝ้าฯเพื่อพระราชทานคำแนะนำในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครั้งนั้นทรงแนะนำว่า ทางที่จะระงับเหตุการณ์ความวุ่นวายครั้งนี้ น่าจะใช้การเรียนระบบคะแนนแบบเดิมผสมกับระบบใหม่ คือระบบหน่วยกิต
ในบันทึกลงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2514 ระบุว่า นายกสโมสรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตัวแทนนักศึกษาปี 1 ได้เข้าพบอาจารย์สัญญาเพื่อขอให้ระงับการใช้ระบบหน่วยกิตเป็นการชั่วคราว และหากทางมหาวิทยาลัยไม่ยินยอมก็จะเรียกร้องต่อไป ในระหว่างการเข้าพบรักษาการอธิการบดีปรากฏว่านายกสโมสรฯ ได้เสนอให้ใช้วิธีผสม คือ ให้นักศึกษาสามารถเลือกเรียนได้ทั้งระบบนับคะแนนและระบบหน่วยกิต ความเห็นดังกล่าวนี้จึงสอดคล้องกับคำแนะนำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานแก่อาจารย์สัญญาเมื่อคืนวันที่ 26 ม.ค.พ.ศ. 2514
ดังนั้น อาจารย์สัญญาจึงขอให้นายกสโมสรฯ ทำบันทึกยื่นเสนอให้เป็นความคิดของนายกสโมสรฯ เอง
อย่างไรก็ตามปรากฏว่าเมื่อมีการประชุมสภามหาวิทยาลัยในวันที่ 29 ม.ค. พ.ศ. 2514 ได้มีการนำเรื่องการใช้ระบบวัดผลการเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้าพิจารณาในที่ประชุม
ซึ่งในที่สุดก็ได้มีการลงมติให้ใช้ระบบหน่วยกิต แต่เฉพาะสำหรับนักศึกษาปี 1 ส่วนนักศึกษาในปีการศึกษา 2513 สามารถเลือกได้ว่าจะเรียนในระบบนับ คะแนนหรือระบบหน่วยกิต
หนังสือ "ผมชื่อ สัญญา ธรรมศักดิ์ ผมเป็นอธิการบดี : อธิการบดี ผู้รักษาหน้าที่ เสรีภาพและความเสมอภาค (พ.ศ. 2514 – 2517) ยังระบุถึงคำปรารถของ 'สัญญา ธรรมศักดิ์' จนทำให้กลายมาเป็นที่มาคำขวัญ 'ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว'
ทั้งนี้ 'สัญญา ธรรมศักดิ์' ได้เขียน "คำปรารภของอธิการบดี เรื่องการเชียร์ของคณะในมหาวิทยาลัย" ลงวันที่ 27 ก.ย. 2514
โดย 'อาจารย์สัญญา' ได้ระบุว่า "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของเรามีประเพณีสำคัญประการหนึ่ง ซึ่งผิดแผกแตกต่างกับประเพณีของมหาวิทยาลัยแห่งอื่นๆ และเป็นประเพณีของชาวธรรมศาสตร์ทุกรุ่นทุกสมัยตลอดมา ถือเป็นข้อภาคภูมิใจ กล่าวคือ เราถือว่านักศึกษาทุกคนไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาปีแรกหรือนักศึกษาปีใดๆ ก็ตาม ต่างมีความเสมอภาค เท่าเทียมกัน เป็นเพื่อนร่วมสถาบันเดียวกัน มีความเป็นอิสระแก่ตนเองมีเกียรติภูมิความเป็นนักศึกษาเท่ากัน กิจการต่างๆ ของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ย่อมขึ้นอยู่กับความสมัครใจของนักศึกษาแต่ละคน ไม่มีการบังคับขู่เข็ญกันในรูปหนึ่งรูปใดทั้งสิ้น ประเพณีนี้เป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนักศึกษาปัจจุบันควรจะภาคภูมิใจและประพฤติสืบเนื่องตามครรลองของประเพณีดังกล่าว”
“นักศึกษามีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น คำพูด หรือการขีดเขียน มหาวิทยาลัยไม่เคยกีดกันเลย ถ้าหากการกระทำนั้นไม่ล่วงล้ำสิทธิของผู้อื่น และก็เป็นเรื่องของนักศึกษาบางคนซึ่งย่อมมีความคิดเห็นทางการเมืองได้ สำหรับการแต่งกายนั้นนักศึกษาควรแต่งให้เหมาะสมกับสภาพ เพื่อให้เป็นที่น่าเลื่อมใส เครื่องแบบของมหาวิทยาลัยก็มีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงขอให้อยู่ในดุลยพินิจ ความรับผิดชอบของนักศึกษาเอง สุภาพสตรีควรแต่งกายให้สวยและสุภาพ ส่วนสุภาพบุรุษควรจะแต่งกายสุภาพและเข้มแข็ง”
ด้วยแนวคิดดังกล่าวของอาจารย์สัญญา เชื่อกันว่าเป็นคำกล่าวที่กลายมาเป็นคำขวัญของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน
และที่พูดติดปากทั้งอาจารย์ นักศึกษา และประชาชนมาจนถึงปีที่ 49 ในปี 2563 ว่า "ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว”
ในขณะที่ปี 2563 อีกไม่กี่วันจะถึงวันครบกำหนดที่มาคำกล่าวของ 'สัญญา ธรรมศักดิ์' ในเรื่องความเชื่อมั่นความเสมอภาค เสรีภาพ และต้องการให้นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความสามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้
การที่นักศึกษากลุ่มหนึ่งถูกปิดกั้นการแสดงออกในรั้วมหาวิทยาลัยของตนเอง ก็อาจจะดูสวนทางกับการคำขวัญที่ว่า "ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว”
ขณะเดียวกันในปีที่ 86 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นับแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2477 เมื่อนักศึกษาต้องเจอกับอุปสรรคในการเรียกร้องประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน
การถูกปิดกั้นการแสดงออกทางการเมืองของนักศึกษาในวันที่ 19 ก.ย. 2563 ก็ทำให้ดูสวนทางกับคำพูดที่ว่า "ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน"
อ้างอิง - (เนื้อหา-ภาพ) หนังสือ : ผมชื่อ สัญญา ธรรมศักดิ์ ผมเป็นอธิการบดี: อธิการบดี ผู้รักษาหน้าที่ เสรีภาพและความเสมอภาค (พ.ศ. 2514 – 2517) เรียบเรียงโดย จันทนา ไชยนาเคนทร์