5 พ.ค. 2567 เวลา 14.10 น. ณ วัดกู่พระโกนา ตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ติดตามประเด็นการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้รับฟังการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอสำหรับประชาชนในด้านต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่และการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำและศักยภาพของพื้นที่ เช่น กรมพัฒนาที่ดิน นำเสนอ 1) การพัฒนาพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งมีพื้นที่ 2.1 ล้านไร่ (เช่น การบริหารจัดการดินและน้ำ ปรับปรุงดิน ส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน) เพื่อพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เพื่อยกระดับการผลิตและเพิ่มคุณภาพข้าวหอมมะลิ 105 ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยในการพัฒนาพื้นที่ยังต้องเดินหน้าขับเคลื่อนให้ไปสู่ทิศทางแห่งความยั่งยืนต่อไปอีก 1,097,729.35 ไร่ 2) การดำเนินงานส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม จ.ร้อยเอ็ด ดำเนินการแล้วเสร็จ ปีงบประมาณ 2556 - 2566 พื้นที่ที่ดำเนินการก่อสร้างแล้ว 15,255 ไร่ เหลือพื้นที่ที่ยังไม่ดำเนินการ 224,682 ไร่ 2) โครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน จ.ร้อยเอ็ด (เป็นการขุดสระหรือบ่อน้ำในพื้นที่นาของประชาชน 1 รายต่อ 1 บ่อ เพื่อเก็บกักไว้ใช้สำหรับทำการเกษตร หรือเลี้ยงสัตว์น้ำต่าง ๆ สร้างอาชีพและรายได้ โดยกรมพัฒนาที่ดินสนับสนุนงบฯ ให้ส่วนหนึ่ง และเกษตรกรสมทบ 2,500 บาท โดยต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนงบฯ สำหรับการดำเนินโครงการดังกล่าวด้วย รวมทั้งกรมชลประทานนำเสนอแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำเขตทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นการขุดลอกลำน้ำเสียวใหญ่ ลำน้ำเสียวน้อย ลำพลับพลา ลำเตา ลำห้วยหินลาด เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักในลำน้ำธรรมชาติให้เพียงพอตลอดปี ทั้งก่อสร้างประตูระบายน้ำและฝายในลำน้ำ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักและระบายน้ำ ช่วยป้องกันอุทกภัยและภัยแล้ง รวมถึงสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ เพื่อกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตรอย่างทั่วถึง และพัฒนาแก้มลิงสองฝั่งลำน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำในฤดูฝน และใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของทุกกิจกรรมการใช้น้ำในฤดูแล้ง ทั้งนี้ หน่วยงานขอรับการสนับสนุนงบฯ จากรัฐบาล จำนวน 15 โครงการ ได้แก่ โครงการเร่งด่วน จำนวน 4 โครงการ (ขุดลอกลอกลำห้วยเสียวใหญ่ โครงการฝายห้วยหินลาด พร้อมขุดลอก บ้านแคน โครงการฝายห้วยหินลาด พร้อมขุดลอก บ้านดงเมือง ปรับปรุงฝายยางสำเตา บ้านเมืองบัว) 2. โครงการที่ได้การร้องขอจากประชาชน จำนวน 11 โครงการ (เช่น ขุดลอกลอกลำห้วยเสียวน้อย ขุดลอกลอกลำเตา ขุดลอกลอกลำห้วยแล้ง ขุดลอกหนองหลุบกก ฯลฯ)
นอกจากนี้ นายกฯ ยังได้รับฟังความต้องการของโรงพยาบาลสุวรรณภูมิ ต.สระคู อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ในการสนับสนุนงบฯ ในเรื่องของการบำบัดน้ำเสียของโรงพยาบาล เครื่องมือจักษุ และการขอถ่ายโอนพื้นที่กองกำกับ (เก่า) ของสถานีตำรวจ สำหรับใช้เป็นพื้นที่เพื่อรองรับการดูแลผู้ป่วยจิตเวช จากยาเสพติด ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบล และสิ่งก่อสร้างเป็นของกรมธนารักษ์
โอกาสนี้ นายกฯ กล่าวว่าได้เดินทางมาจังหวัดร้อยเอ็ดหลายครั้งแล้ว ล่าสุดมาดูเรื่องโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรคบัตรใบเดียว ดีใจที่ได้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง โดยวันนี้ที่เดินทางมาจังหวัดร้อยเอ็ด มีเรื่องหลักที่จะมาดูแล คือการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งขณะนี้อยู่หน้าร้อนแล้ว เรื่องของการเพาะปลูกเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับปากท้องของพี่น้องประชาชนทุกคน หากน้ำไม่เพียงพอ พี่น้องประชาชนก็ไม่สามารถที่จะเพาะปลูกได้ วันนี้จะมาดูแลเรื่องของน้ำ โดยโครงการต่าง ๆ ที่เสนอมา นายกฯ สั่งการให้ กรมชลประทานพิจารณาความเหมาะสมของโครงการและความเร่งด่วนต่าง ๆ ในการพัฒนาระบบชลประทานทั้งระบบในจังหวัดร้อยเอ็ด คำนึงผลกระทบโดยรวม และการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย รวมถึงการวางแผนการบริหารจัดการน้ำระยะยาวสำหรับโครงการที่อยู่นอกแผนของกรมชลประทาน ให้ดูถึงความเหมาะสม เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ในการอุปโภคบริโภคและใช้ในการทำมาหากิน
นายกฯ กล่าวถึงการพัฒนาที่ดินในทุ่งกุลาร้องไห้ว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นจุดที่กว้างใหญ่มีอาณาเขตครอบคลุม 5 จังหวัด มีศักยภาพในการพัฒนาข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย มีชื่อเสียงไปทั่วโลก และเป็นข้าวหอมมะลิที่พัฒนาอย่างมีคุณภาพ และได้รับการยอมรับจากทั่วโลก นายกฯ จึงสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลเกษตรกรพัฒนาการปลูกข้าวหอมมะลิ ให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้นไปอีกในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและเพิ่มผลผลิตยกระดับรายได้ขึ้นไปอีก
นายกฯ กล่าวถึงการจัดการที่ดินและน้ำว่า ขอให้พัฒนาระบบการจัดการที่ดินและน้ำ ให้เหมาะสมกับการปลูกข้าวหอมมะลิ จัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอเพื่อให้เกษตรกรสามารถรักษาคุณภาพผลผลิตได้ตลอดปี รวมทั้งสนับสนุนการจัดหาพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพสูง และใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อเพิ่ม ผลผลิตและคุณภาพของข้าว และเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ขณะที่การตลาดการขายให้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนการตลาดส่งเสริมการขายข้าวหอมมะลิไปตลาดโลก เพื่อเพิ่มมูลค่าและขยายโอกาสทางการตลาด รวมถึงให้มีการส่งเสริมการแปรรูป การผลิตสินค้าคุณภาพ การเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกรด้วย เพื่อเป็นการสร้างแหล่งรายได้เสริมเพิ่มเติมให้เกษตรกรในด้านต่าง ๆ อีกด้วย