ผ่านมากว่า 2 เดือน นับตั้งแต่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกคำสั่งปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2563 จวบถึงวันนี้ แม้ว่าศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.จะประกาศคลายล็อกเข้าสู่ระยะที่ 2 มีบางกิจกรรม/กิจการกลับมาเปิดดำเนินการได้ตามปกติ แต่ช่วงกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยที่ซบเซาก่อนหน้ามีโควิด-19 ก็ทำให้มีแรงงานในระบบประกันสังคมจำนวนมาก ประสบปัญหาถูกเลิกจ้าง หรือ จำเป็นต้องหยุดงานชั่วคราว
กว่า 2 เดือนที่คนเคยมีรายได้ดูแลตนเองและครอบครัว ต้องขาดเงิน ขาดงาน และรอรับเงินชดเชยจาก 'กองทุนทดแทนการว่างงาน' จากประกันสังคม
ผู้ประกันตนรายหนึ่ง ซึ่งมายื่นเอกสารขอรับเงินทดแทนการว่างงานจากเหตุสุดวิสัย เนื่องจากสถานประกอบการ (นายจ้าง) ประกาศให้หยุดงานชั่วคราว เนื่องจากเป็นธุรกิจให้บริการรถทัวร์ขนส่งนักท่องเที่ยว เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา บริษัทจึงต้องหยุดดำเนินการ ให้พนักงานรับเงินทดแทนจากประกันสังคม
"หยุดงานมาตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. ตอนเดือน มี.ค. บริษัทยังจ่ายเงินเดือนเต็มจำนวน กระทั่งช่วงเดือน เม.ย. บริษัทจ่ายร้อยละ 75 ของเงินเดือน แต่เดือนนี้ (พ.ค.) บริษัทให้มารับเงินชดเชยประกันสังคม เราถึงมาที่นี่ นี่ก็มา 2 หนแล้ว ครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา และก็มาวันนี้ (18 พ.ค.) เพราะบริษัทบอกให้มายื่นเรื่อง เราก็ได้เงินส่วนนี้ไปใช้จ่าย อยู่บ้านเช่า มีค่าเช่าบ้านเดือนละ 3,000 บาท ระหว่างนี้ก็อยู่แต่กับบ้าน และนายจ้างบอกว่า ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นก็จะรับกลับไปทำงาน"
ผู้ประกันตนรายดังกล่าวเป็นหนึ่งในแรงงานจำนวนหนึ่งที่นายจ้างดูแลและสามารถดำเนินการขอรับเงินทดแทนการว่างงานจากเงินประกันสังคมได้ แม้ว่า ในวันนี้ เธอยังไม่ทราบว่า เงินทดแทนการว่างงานนี้จะถูกโอนเข้าบัญชีเมื่อไร
ผู้ประกันตนอีกราย เป็นพนักงานร้านเกมในห้างสรรพสินค้า บอกว่า นายจ้างของเขาให้หยุดงานชั่วคราวมาตั้งแต่เดือน มี.ค. และเขาไม่ได้รับรายได้เลยมานับตั้งแต่นั้นมา
"ผมทำเรื่องขอรับเงินทดแทนการว่างงานจากโควิด-19 ผ่านระบบออนไลน์มาตั้งแต่เดือน มี.ค. แล้วก็รอมาเป็นเดือนแล้ว รอนานมาก พอประกันสังคมเปิดสำนักงานให้เข้ามายื่นร้องเรียน ก็เลยมาที่นี่ เพื่อทำเรื่องขอรับเงินทดแทนจากการหยุดงานชั่วคราว ซึ่งจะได้รับเงินร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน"
โดยผู้ประกันตนรายข้างต้นบอกด้วยว่า อยากให้ประกันสังคมปรับปรุงระบบงานให้เร็วขึ้น เพราะจากประสบการณ์ของเขา เขาต้องใช้เวลารอเงินชดเชยส่วนนี้มาเกือบ 2 เดือน
ส่วนผู้ประกันตนอีกราย 'วิษวัต เอมพันธ์' เป็นเชฟในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งมีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เขาเป็นคนหนึ่งในจำนวนพนักงานบริษัทในเครืออีกหลายร้อยชีวิตที่ถูกเลิกจ้าง เพราะพิษโควิด-19
"ผมพ้นสภาพพนักงานมาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ยื่นเรื่องผ่านระบบออนไลน์ แต่ในเว็บไซต์แจ้งว่ายังไม่ได้รับเอกสารจากนายจ้าง จึงมาทำเรื่องที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 2 กทม. (ประชาชื่น) เองอีกครั้งในวันนี้ พอมาถึงที่นี่ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบให้และบอกว่า นายจ้างแจ้งเรียบร้อยแล้ว พร้อมกับบอกว่า จะมีเงินเข้าบัญชีภายใน 5 วันทำการ แต่ผมก็ยังไม่รู้ว่าเงินจะเข้าจำนวนเท่าไร บางคนบอกว่าเราจะได้ร้อยละ 70 ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน แต่ถ้าได้ 5,000-6,000 บาท ก็ไม่น่าจะพอ อย่างเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มีอะไรก็จำนำไปก่อน ประคองตัวเองไป" วิษวัต กล่าว
อีกทั้งในฐานะผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน 'วิษวัต' ให้ความเห็นว่า ประกันสังคมต้องปรับปรุงระบบเพราะที่ผ่านมา ผู้ประกันตนจ่ายเงินเข้าประกันสังคมเดือนละ 750 บาท ถูกหักเงินเดือนอัตโนมัติทุกเดือน แต่พอไปโรงพยาบาล การรักษาพยาบาลก็เห็นๆ กันอยู่ว่า เขาจะแยกสิทธิประกันสังคมกับประกันอื่นๆ แตกต่างกันมาก ทั้งที่เงินที่หักแต่ละเดือนจำนวนนี้ ถ้าไปซื้อประกันสุขภาพก็จะได้รับบริการหรูๆ ได้ เป็นต้น
"ตอนนี้ก็เห็นๆ เลย ยุ่งยากมาก แต่ตอนหักเงินประกันสังคมเราหักจากเงินเดือนอัตโนมัติเลย เราก็มีคำถามนะว่า พอเราจะมารับคืน เราต้องลำบากเดินเรื่องขนาดนี้เลยเหรอ แต่ผมก็เข้าใจนะครับว่าเจ้าหน้าที่เหนื่อยกันมาก แต่มันก็น่าจะมีอะไรที่ทำได้ดีกว่านี้" วิษวัต กล่าว
กว่า 2 เดือนที่สำนักงานประกันสังคมให้ผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างหรือหยุดงานชั่วคราวจากเหตุสุดวิสัย หรือโควิด-19 ยื่นคำร้องขอรับเงินผลประโยชน์ทดแทนการว่างงานผ่านเว็บไซต์ แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดที่ไม่สามารถดำเนินการที่สำนักงานประกันสังคมในแต่ละพื้นที่ได้ เนื่องด้วยเหตุผลการดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคระบาด การรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)
กระทั่งสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทยมีจำนวนหลักหน่วยต่อวัน ล่าสุดสำนักงานประกันสังคมจึงเปิด 'ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ (โควิด-19)' ทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด เปิดทำการตั้งแต่เวลา 8.00-18.00 วันจันทร์-ศุกร์ เริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 15 พ.ค. 2563 เป็นต้นมา
'ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง' ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การจ่ายเงินทดแทนกรณีว่างงานอันเนื่องจากเหตุสุดวิสัย ในสถานการณ์โควิด-19 แก่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ปัจจุบันมียอดวินิจฉัยล่าสุด (17 พ.ค.2563) อยู่ที่จำนวน 984,005 ราย คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 5,316.07 ล้านบาท
โดยผู้ประกันตนที่ขอรับสิทธิประโยชน์แล้วยังไม่ได้เงิน หรือได้รับหนังสือแจ้งการปฏิเสธการจ่ายสิทธิประโยชน์ สามารถยื่นเรื่องต่อศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ (โควิด-19) สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ทุกพื้นที่ ทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด
"ปัญหาของผู้ประกันตนที่พบมากที่สุดในตอนนี้ คือเลขที่บัญชีคลาดเคลื่อน ข้อมูลไม่ครบ ข้อมูลคลาดเคลื่อน ส่งผลให้ผู้ประกันตนยังไม่ได้รับเงินทดแทนการว่างงาน ดังนั้น เราจึงเปิดศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ขึ้น เพื่อให้บริหารจัดการแก้ปัญหาให้ที่นี่" ดวงฤทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ (โควิด-19) สำนักงานประกันสังคม ไม่ได้รับแต่เรื่องขอรับผลประโยชน์ทดแทนการว่างงานเท่านั้น และ ณ ขณะนี้ ยังไม่มีกำหนดเวลาปิดศูนย์
'พิศมัย นิธิไพบูลย์' ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ศูนย์ฯ นี้ยังไม่มีกำหนดเวลาปิดศูนย์ฯ เราจะเปิดไปเรื่อยๆ ในช่วงแรกเราจะเปิดเฉพาะวันทำการ หยุดเสาร์-อาทิตย์ แต่หากมีผู้ประกันตนมาใช้บริการเยอะ อาจต้องเปิดวันเสาร์-อาทิตย์ ที่นี่อันดับแรกจะเป็นเรื่องการว่างงานจากโควิด แต่ก็รับร้องเรียนเรื่องอื่นๆ ด้วย ซึ่งช่วงที่ผ่านมา มีการยื่นเรื่องว่างงานจากเหตุสุดวิสัยเพิ่มขึ้นหลายเท่ามากๆ จากการยื่นเรื่องว่างงานจากเหตุการณ์ทั่วไป
"ผู้ประกันตนที่ผ่านการวินิจฉัย ทางประกันสังคมจะโอนเงินทดแทนการว่างงานเข้าบัญชีได้เลยภายใน 3 วันทำการ" พิศมัย กล่าว
พร้อมกับให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีผู้ประกันตนยื่นเรื่องขอรับเงินชดเชยว่างงานจากเหตุสุดวิสัย (โควิด-19) วันละประมาณ 10,000-17,000 คน และข้อมูล ณ วันที่ 17 พ.ค. พบว่า มีจำนวนผู้ยื่นเรื่องกว่า 1 ล้านคน จ่ายเงินให้แล้ว 9.84 แสนคน เป็นเงิน 5,316 ล้านบาท ขณะที่ สำนักงานประกันสังคมประเมินว่า ปีนี้จะมีผู้ว่างงานทั้งจากสถานการณ์โควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจประมาณ 3 ล้านราย และยืนยันว่า เงินกองทุนทดแทนว่างงานเพียงพอจ่ายให้กับผู้ประกันตน
"เราประเมินไว้ว่ามีคนว่างงาน 3 ล้านคน ตอนนี้มียื่นเรื่องมากว่า 1 ล้านคน ดังนั้น ณ ตอนนี้เงินจ่ายทดแทนว่างงานจึงมีเพียงพอแน่นอน" พิศมัย กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :