วันที่ 22 ต.ค. ที่อาคารรัฐสภา เสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เป็นตัวแทนกลุ่ม สว. นำ 98 รายชื่อ ขอยื่นญัตติเพื่อเปิดอภิปรายรัฐบาลแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 153 แห่งรัฐธรรมนูญ ต่อประธานวุฒิสภา
โดย เสรี ยืนยันว่า ประเด็นที่จะขอเปิดอภิปรายเป็นประเด็นที่มีประโยชน์กับการบริหารราชการแผ่นดิน และต่อประชาชน ส่วนบางฝ่ายที่มองว่ารัฐบาลเพิ่งบริหารประเทศได้เพียง 4 เดือน ยืนยันว่าไม่ได้ยื่นญัตติเพื่อจะล้มรัฐบาลหริอทำให้เกิดความเสียหายอะไร แต่เห็นว่าในประเด็นที่จะอภิปราย รัฐบาลควรที่จะต้องเริ่มดำเนินการทำสิ่งที่หาเสียงหรือแถลงนโยบายไว้
“แม้จะบอกว่า ทำไมเพิ่งมายื่นรัฐบาลนี้ ไม่ใช่รัฐบาลที่แล้ว ก็ต้องเรียนว่า รัฐบาลนี้กับรัฐบาลที่แล้วไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่ เพราะพรรคการเมืองที่มาร่วมรัฐบาล ก็เป็นพรรคเดียวกันเสียเป็นส่วนใหญ่ และเราก็ไม่ได้ดูว่าใครเป็นนายกรัฐมนตรี เราก็ยื่นตามภารกิจ หน้าที่สำคัญของสมาชิกวุฒสภาพึงจะต้องทำ” เสรี กล่าว
เสรี หวังว่าญัตติที่ยื่นน่าจะมีผลกระทบในเชิงบวกให้รัฐบาลนำไปปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของประชาชน ส่วนในสมัยรัฐบาลประยุทธ์นั้น มองว่า 3 ปี ก็ใช้แก้ปัญหาโควิด-19 ไปแล้ว อีก 1 ปีก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรถึงกับต้องยื่นญัตติ แต่มาปัจจุบันนี้เห็นปัญหาเยอะ แม้กระทั่ง 4 เดือนเอง ไม่ใช่ว่ารัฐบาลไม่ทำงาน แต่มีประเด็นที่ควรต้องพูดในสภาฯ เพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา
ส่วนปัญหาสำคัญที่ทำให้จำเป็นต้องยื่นนั้น มีเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง เราน่าจะแก้ปัญหาได้เร็วและดีกว่านี้ แต่ไปเสียเวลาอยู่กับการแจกเงินดิจิทัล ที่ทำได้ยาก มีอุปสรรคมาก เช่นเดียวกับเรื่องกระบวนการยุติธรรม หากรัฐบาลยังเลือกปฏิบัติหาช่องทางเอื้อประโยชน์ จะเป็นปัญหาใหญ่ของบ้านเมือง ไม่จำเป็นต้องรอนาน
ขณะที่ประเด็นกระบวนการยุติธรรม จำเป็นต้องเปิดอภิปรายในช่วงเวลาก่อนที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะได้รับการพักโทษหรือไม่นั้น เสรี ระบุว่า ไม่ได้เน้นตัวบบุคคล เน้นที่ตัวหลักการ ไม่ขึ้นอยู่กับเปิดอภิปรายก่อนหรือหลัง สำคัญอยู่ที่จะยึดหลักกระบวนการยุติธรรมให้เป็นจริงได้มากเพียงไร ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนว่า กฎหมายต้องใช้กับทุกคนเท่าเทียมกัน
เสรี ยังเผยว่า ตั้งใจขอกรอบเวลาในการอภิปราย 2 วัน ส่วนจำนวนผู้อภิปราย อยู่ที่สมาชิกจะแสดงความจำนงชัดเจนแค่ไหน แต่ปัจจุบันนี้ก็มีลงชื่อมาเยอะแล้ว