วันนี้ (24 ก.พ. 2562) ศาลปกครองกลาง นัดอ่านคำพิพากษา กรณีที่ บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด ฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงาน กสทช. โดยศาลนัดหมายเวลา 14.00-16.00 น. วันที่ 27 ก.พ. 2562 ที่ห้องพิจารณาคดี 8 (ชั้น 3)
คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก กสทช. ออกคำสั่งระงับใบอนุญาตออกอากาศช่อง 'วอยซ์ ทีวี 21' ของบริษัท วอยซ์ ทีวี เป็นเวลา 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 13-27 ก.พ. 2562 ทำให้ช่องวอยซ์ ทีวี 'จอมืด' ชั่วคราว ผู้บริหารของวอยซ์ ทีวี จึงเข้ายื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 13 ก.พ. และศาลมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราว โดยทุเลาคำสั่งของ กสทช. เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่่านมา วอยซ์ ทีวี จึงออกอากาศได้ตามปกติต่อไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาเป็นอื่น ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์เพิ่มเติมในวันที่ 27 ก.พ.
ทั้งนี้ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. และ พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช. ในฐานะประธานอนุกรรมการกำกับเนื้อหา เปิดเผยเมื่อวันที่ 12 ก.พ.ว่า บอร์ดมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ระงับใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี 21 เป็นผลจากการตรวจสอบตามการร้องเรียนของประชาชนและบางองค์กร พบว่า รายการ Wake Up News และ Tonight Thailand มีการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงยั่วยุ ขัดกับหลักกฏหมาย บอร์ดจึงอาศัยการพิจารณาตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ในมาตรา 37 ที่ห้ามออกอากาศเนื้อหากระทบความมั่นคงของรัฐ และมาตร 64 และ 16 ประกอบกับคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 97/2557 และฉบับที่ 103 /2557
พล.ท.พีระพงษ์ ยืนยันว่า ไม่ได้เลือกปฏิบัติต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ที่ผ่านมาได้มีการเรียกทีวีหลายช่องเข้ามาชี้แจงตลอดในประเด็นเนื้อหาที่ขัดต่อกฎหมาย โดยยืนยันว่า บอร์ดฯ มีความเป็นกลาง และไม่มีใครอยู่เหนือบอร์ด กสทช. แต่วอยซ์ ทีวี ได้ตัดสินใจยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง โดยนายประทีป คงสิบ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ระบุว่า มี 3 ประเด็นที่ต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลฯ คือ (1) การปิดสถานีสร้างความเสียหายต่อธุรกิจ (2) เมื่อมี พ.ร.ฎ. เลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ สื่อควรได้ทำหน้าที่ในการนำเสนอข้อมูลหลายด้านแก่ประชาชน และ (3) มั่นใจว่าวอยซ์ทีวีมีการนำเสนอเนื้อหาเป็นไปตาม พ.ร.บ. กสทช.
วอยซ์ทีวีมองว่าได้รับการปฏิบัติด้วยเหตุที่ไม่เป็นธรรม เพราะมีการใช้ประกาศคำสั่งของ คสช. 2 ฉบับที่มีการจำกัดการรายงานข้อมูลข่าวสาร ที่ผ่านมาสถานีฯ ถูกเรียกชี้แจงการทำงานในฐานะสื่อมวลชนตลอดระยะเวลาตั้งแต่มีการรัฐประหารปี 2557 ทั้งที่สถานีฯ ทำรายการเชิงวิเคราะห์ข่าวมาตั้งแต่ปี 2552 แล้ว ดังนั้นจึงเรียกร้องให้มีการยกเลิกคำสั่งของ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 เพราะหัวหน้า คสช.ที่เป็นผู้ออกคำสั่งขณะนี้ได้เข้าสู่การเลือกตั้งแล้ว
นอกจากนี้ คำสั่งปิดสถานีฯ 15 วันยังสร้างความเสียหายต่อองค์กรและพันธมิตรทางธุรกิจ มูลค่ากว่า 76 ล้านบาท ซึ่งในกระบวนการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจะดำเนินในลำดับถัดไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: