67 ปี คือจำนวน อายุของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ในปัจจุบัน ซึ่งเขามีอายุครบ 67 ปี เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2564
เป็น 67 ปีที่ นายกรัฐมนตรีผู้มาจากหัวหน้าคณะรัฐประหาร ในนาม 'คณะรักษาความสงบแห่งชาติ' (คสช.) อยู่ในตำแหน่งเก้าอี้ประมุขฝ่ายบริหารเข้าสู่ปีที่ 8 หากเทียบกับวาระปกติ ก็ถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในวาระนายกฯ มาถึง 2 เทอมก็ว่าได้
แต่นี่ไม่ใช่ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ เพิ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ในสมัยที่ 2
แต่ยังเป็นนายกฯ สมัยแรกของ พล.อ.ประยุทธ์ หลังการเลือกตั้ง ซึ่งผ่านมาสู่ปีที่ 3 และยังมีโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะได้อยู่ยาวมากกว่านี้อีก
ภายใต้กติกา รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ยังเปิดทางให้ ส.ว. 250 คน มีอำนาจโหวตเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองได้ผ่านการเลือกตั้งทั่วไปในครั้งหน้า
ก่อนเข้าสู่อายุปีที่ 67 เต็มนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเผชิญสถานการณ์ที่ตึงเครียดที่สุดนับแต่ครองอำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
โดยเฉพาะปี 2563 ที่เขาเพิ่งเข้ามาเป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ได้เพียง 1 ปี
พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเผชิญกับการต่อสู้กับไวรัสร้าย โควิด-19 ที่เข้าโจมตีประเทศไทยถึงสองระลอกใหญ่ ตั้งแต่ต้นปี 2563 ระลอกแรก และระลอกสองในปลายปี 2563
ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเผชิญกับมวลชนนอกรัฐสภา ในนามคณะราษฎร 2563 ที่ประกาศชุมนุมกดดัน ขับไล่รัฐบาลตั้งแต่เดือน ก.ค. 2563 เรื่อยมาจนถึงต้นปี 2564
พร้อมกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังต้องเข้าชี้แจงในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อตอบข้อซักถามการแก้ปัญหาโรคโควิด-19 สถานการณ์ชุมนุมทางการเมือง รวมทั้งต้องต่อสู้กับข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ
'วอยซ์' ได้ประมวลเหตุการณ์วาทะร้อนแรงตลอดปี 2563 จนถึงวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ มีอายุครบ 67 ปีเต็ม ล้วนผ่านเหตุการณ์ที่ นายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ตอบโต้อย่างดุเดือด มีอารณ์ และให้คำมั่นสัญญากับคนไทย ซึ่งวาทะเหล่านี้คือ บทบันทึกประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย
15 เม.ย. 2563 : ขอโทษประชาชนไม่ได้เยียวยา 5 พันอย่างทั่วถึง
หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ มีอายุครบ 66 ปี เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2563 เขาต้องเผชิญกับปัญหาจัดการกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่กำลังโจมตีประเทศไทยอย่างหนัก ในเดือน มี.ค. 2563 ประเทศไทยมียอดผู้ติดเชื้อในประเทศพุ่งขึ้นสู่หลักร้อยคน ทำให้ต้องประกาศ พ.ร.ก.การบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งออกมาตรการเคอร์ฟิว ห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 22.00 - 04.00 น. ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 2563
ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ ขอโทษประชาชนบางกลุ่มที่ไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทอย่างทั่วถึง เห็นได้จากที่มาประท้วงที่กระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 14 เม.ย. ต้องสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน ดังนั้นขอให้ทุกคนรอมาตรการการช่วยเหลือระยะต่อไปของรัฐบาล ที่จะให้การช่วยเหลือทุกกลุ่มให้ครอบคลุมมากที่สุด โดยการรับฟังข้อมูลจากทุกภาคส่วน
"รัฐบาลจะดูแลประชาชนทุกกลุ่มตามขีดความสามารถของรัฐที่มีอยู่ ขอให้ทุกคนเข้าใจด้วย ดังนั้นการสร้างความเข้าใจหรือบิดเบือนในทางที่ผิด ยิ่งจะทำให้การทำงานยากลำบากขึ้นไปอีก ซึ่งการจ่ายเงินเยียวยาจะต้องมีการตรวจสอบ"
24 มิ.ย. 2563 : ประชาธิปไตยไม่ใช่ล้มรื้อสร้างใหม่วันเดียว
พล.อ.ประยุทธ์ไปเป็นประธานในพิธีเปิด “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” ที่สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา (ฝั่งพระนคร) โดยช่วงหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้นำโทรศัพท์มือถือมาเปิดเพลง “สะพาน” ให้ชาวบ้านฟัง พร้อมร้องคลอตาม และกล่าวว่า “นี่เป็นแรงบันดาลใจของผม จากจิตใจของผม และคิดว่าวันนี้จิตใจของครม.และข้าราชการทุกคนเป็นดวงเดียวกัน คือทำเพื่อประชาชน อะไรไม่ดีต้องแก้ไข อะไรคิดนอกกรอบก็ต้องคิด ปรับจูนแก้ให้ตรงกันให้ได้ ถ้าทำไม่ได้ก็บอกเหตุผล ถ้าชนกันแบบเดิมไม่มีอะไรทำได้ ต้องคิดว่าทำอย่างไรคนจะมีบ้าน มีชีวิตดีขึ้น ซึ่งทุกอย่างคือยุทธศาสตร์ชาติที่มีขั้นตอนอยู่แล้ว กลไกประชาธิปไตยเป็นแบบนี้ ไม่ใช่ล้มรื้อสร้างใหม่วันเดียว มันไม่ได้ เราเป็นมา 80 กว่าปีแล้ว”
13 ส.ค. 2563 : วอนคนไทยปฏิเสธความเกลียดชัง แบ่งแยกการเมือง
พล.อ.ประยุทธ์ แถลงการณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เข้ารับหน้าที่ โดยระบุตอนหนึ่งว่า "คณะรัฐมนตรีที่ต้องรวมไทยสร้างชาติ ซึ่งวันนี้ ผมขอพูดต่อหน้าประชาชนคนไทยทุกคนว่า กรุณาปฏิเสธความเกลียดชัง และการแบ่งแยกทางการเมือง ขอให้ปฏิเสธการเมืองแบบเก่า ที่แพร่กระจายเชื้อโรคของความแตกแยก ระหว่าง ความเชื่อที่แตกต่าง คนรุ่นใหม่-คนรุ่นเก่า คนรวย-คนจน หรือความแตกต่างอะไรก็ตามที่ถูกใส่เข้ามาในสังคมของเรา"
17 ก.ย. 2563 : วอนม็อบชุมนุมพักการเมือง ขอเอาชนะโควิดก่อน
พล.อ.ประยุทธ์ แถลงการณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถึงการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ในโลก โดยย้ำตอนหนึ่งว่า "ผมได้ยินสิ่งที่ท่านพูด ผมรับทราบความคับข้องใจของพวกท่านในเรื่องการเมือง และความไม่พอใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ผมเคารพ ความคิดเห็น และความรู้สึกของท่าน แต่วันนี้ ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความเจ็บปวดเร่งด่วน ที่เราจำเป็นต้องจัดการก่อน นั่นคือการบรรเทาความเสียหายทางเศรษฐกิจที่โควิด-19 ได้ก่อให้เกิดขึ้นไปทั่วโลก เราไม่ควรทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งไปกว่านี้"
"การชุมนุมจะทำให้การฟื้นเศรษฐกิจเกิดการล่าช้า เพราะจะทำลายความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ และสร้างความลังเลใจให้กับนักท่องเที่ยวที่จะมาเมืองไทย เมื่อถึงเวลาที่เราพร้อมจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง การชุมนุมจะสร้างความวุ่นวายในประเทศ และทำลายสมาธิการทำงานของภาครัฐในการจัดการกับโควิด และปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน ผมจึงอยากขอให้เราเอาชนะโควิดและผ่านวิกฤตโลกครั้งนี้ ไปด้วยกัน ให้ได้ก่อน หลังจากนั้น เราค่อยกลับมาที่เรื่องการเมือง"
16 ต.ค. 2563 : ไม่ออก...ผมผิดอะไร
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ ภายหลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 1 เดือนเพื่อรับมือกับการชุมนุมทางการเมือง โดยยืนยันกับสื่อมวลชนที่ซักถามถึงข้อเรียกร้องของม็อบคณะราษฎรที่กำลังกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า "เรื่องอะไรอ่ะ ไม่ออกอ่ะ"
ผู้สื่อข่าวยังถามว่า ยังมั่นใจหรือไม่ว่า จะทำให้ประเทศสงบเหมือนกับที่เคยประกาศไว้ว่า จะเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสงบเรียบร้อยนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "แล้วที่ไม่สงบเพราะอะไร เพราะใคร สิ่งที่รัฐบาลนี้ทำมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำอะไรไปแล้วบ้าง ท่านเคยนำเสนอข่าวเหล่านี้ให้ประชาชนทราบหรือไม่ ถ้าเสนอข่าวแต่การเมืองอย่างเดียวก็จะวุ่นวายอย่างนี้ ท่านก็เสนอของท่านไปให้สถานการณ์มันสงบ ผมไม่ห้ามท่านอยู่แล้ว แล้วผมทำความผิดอะไรหรือ ผมผิดอะไรตอนนี้"
22 ต.ค. 2563 : ให้คำมั่น "ผมเป็นก้าวแรก ลดอุณหภูมิรุนแรง"
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้อ่านแถลงการณ์ เรื่อง “ถอยคนละก้าว เข้าสภา ใช้สติและปัญญา แก้ปัญหาร่วมกัน” โดยระบุถึงการแก้ปัญหาการชุมนุมทางการเมืองว่า คณะรัฐมนตรี เห็นชอบการเปิดประชุมวิสามัญ และได้ทูลเกล้าพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสภาแล้ว คาดว่าจะเปิดประชุมสภาได้วันที่ 26-27 ต.ค. 2563
พล.อ.ประยุทธ์ย้ำเป็นคำมั่นสัญญาว่า "ในฐานะผู้นำประเทศที่ต้องรับผิดชอบต่อสวัสดิภาพที่ดีของประชาชนคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประท้วง หรือจะเป็นประชาชนที่นิ่งเงียบ ไม่ว่าเค้าจะมีความคิดความรู้สึกแบบไหนก็ตาม วันนี้ผมจะเป็นคนที่เริ่มก้าวแรก เพื่อที่จะลดอุณหภูมิความรุนแรง"
5 พ.ย. 2563 : ผมเบื่อการใช้อำนาจ
ที่หอประชุมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวในช่วงท้ายของการเป็นประธานในพิธีเปิดการศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 63 ตอนหนึ่งว่า “ผมไม่เคยคิดว่าต้องมายืนตรงนี้ นี่อยู่มา 6 ปีแล้ว แต่ยังยืนอยู่ได้ยังไงเนี่ย หวังทุกคนคงเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจกันคงไปยาก ก็หวังอย่างยิ่งว่าถ้าวันหน้ามีคนที่เก่งกว่าผม ดีกว่า ซื่อสัตย์กว่าผม ซื่อสัตย์เหมือนผม ทำงานเหล่านี้ต่อไป ซึ่งการมีอำนาจ การที่ต้องมารับผิดชอบไม่ใช่เรื่องสนุก ผมใช้อำนาจมาเยอะ เป็น ผบ.ทบ.มา 4 ปี ผมเบื่อการใช้อำนาจ การใช้อำนาจใช้เฉพาะคือดูแลคนที่เขาทำความดี และลงโทษคนที่ทำความไม่ดี ก็เท่านั้น แค่สองอย่างนี้ยังยากเลย"
8 ธ.ค. 2563 : โควิด-19 ยังไม่เข้าข่ายระบาดรอบ 2
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ภายในประเทศว่า คำว่าสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่เข้าข่ายการแพร่ระบาดรอบ 2 แต่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากคนไม่กี่คน ซึ่งรัฐบาลก็ต้องเตรียมความพร้อม หากระบาดรอบ 2 ก็ต้องล็อกดาวน์ แต่ก็ไม่อยากให้ถึงจุดนั้น ซึ่งขณะนี้ได้กำชับให้มีการคัดกรองพื้นที่ชายแดนและตอนในประเทศ รวมถึงขอให้ประชาชนสังเกตความผิดปกติ
16 ก.พ. 2564 : ขู่ฝ่ายค้านระวังพูดจา คนรักทหารเยอะ
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติด่วนเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลุกขึ้นชี้แจงอย่างมีอารมณ์เพื่อตอบโต้ ส.ส.พรคก้าวไกลที่อภิปรายการจัดซื้อเป็นงบประมาณของกระทรวงกลาโหม โดยระบุว่า "ท่านไม่ชอบทหารแน่นอน ถ้าเดือดร้อนขึ้นมาอย่านึกถึงทหารละกัน หลายอย่างประชาชนก็ชอบ ท่านก็โจมตีทหาร"
"วันนี้สิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันหมด ยกเว้นคนทำผิดกฎหมาย ขอให้ระวังพูดจาระวัง คนรักทหารเยอะ ลูกหลานหลายคนก็เป็นทหาร"
17 ก.พ. 2564 : "ไม่ชอบผมไม่เป็นไร แต่ไม่ชอบประเทศ ไม่ควร"
ต่อในการประชุมสภาฯ เปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงตอนหนึ่งถึงการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อ โควิด-19 ว่า ผู้ชุมนุมเองก็ชอบปลุกปั่นจนชิน การใช้กำลังต่อต้านกฎหมาย แล้วจะมีความสุขหรือไม่ ต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่ และกรุณาอยู่ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ต้องไม่ละเมิดคนอื่น จะชุมนุมก็อย่าใช้ความรุนแรง แผ่นดินนี้มีความศักดิ์สิทธิ์
“จะไม่ชอบผมไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่ชอบประเทศของท่าน ไม่ควร” เพราะประชาชนคือประชาชนของเรา ที่ต่างฝ่ายก็รักกันทั้งคู่ คำว่ารัก ประชาชนต้องไม่เลือกว่าใครเป็นใคร กฏหมายจะดำเนินการอยู่แล้ว ขอให้ทุกคนอยู่อย่างปกติในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยแบบไหนก็ตาม ต้องมีกฎหมาย ซึ่งทำให้สังคมสงบเรียบร้อย
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวเป็นบทกลอนว่า "ศึกนอกศึกไกลนั้นไม่ห่วง แต่หวั่นทรวงศึกใกล้ไล่ข่มเหง หากคนไทยหันมาฆ่ากันเอง เราจะร้องเพลงชาติไทยให้ใครฟัง"
18 ก.พ. 2564 : เตือนบานปลาย ใครจะเป็นนายกฯ
พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ กรณีฝ่ายค้านที่อภิปรายไม่ไว้วางใจตนเองว่า การเข้ามาสภาฯ ครั้งนี้ไม่สบายใจอยู่อย่างหนึ่ง หลังจากที่เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยมาสองปี ซึ่งครั้งแรกเห็นว่าสถานการณ์ในสภาฯ ดีกว่านี้ แต่ครั้งนี้ไม่ค่อยสบายใจเท่าไรเพราะครั้งนี้มีการกล่าวคำอาฆาตมาดร้าย เหยียดหยามกันมากขึ้น แต่ตนก็ยังอดทน เพราะเป็นนายกรัฐมนตรี
"เป็นห่วงอยู่อย่างหนึ่ง คือการใช้คำว่านักเรียนเลว หรือครูชุดดำ เราไม่เคยมองเด็กอย่างนั้น เราไม่เคยยุแยงให้เด็กเป็นอย่างนั้น เราจะเรียกเขาเป็นนักเรียนเลวได้ยังไง เขาเป็นนักเรียน เขาเป็นอนาคตของชาติ ก่อนหน้านี้สมัยพวกผม ไม่มีเรื่องแบบนี้ เรื่องร้ายแรงแบบนี้ ไม่เคยมี ทำไมจะต้องให้เขาไปมีปัญหากับกฎหมาย ผมไม่เข้าใจ มีคนแอบอยู่ข้างหลัง คุณไม่สงสารเด็กบ้างหรือ เมื่อถึงเวลาก็มีเวลาของเขา วันนี้ให้เขาเรียนหนังสือ"
"ผมถามว่าถ้ามันบานปลาย แล้วใครจะเอาอยู่ ใครจะเอาอยู่ ใครจะเป็นนายกฯ ใครจะเป็นรัฐบาล ใครจะเอาอยู่" พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ
22 มี.ค. 2564 : ท้าแก้ รธน.ให้ได้แล้วกัน
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวหลังที่ประชุมรัฐสภาไม่เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่สาม เพื่อให้มี ส.ส.ร. โดยระบุว่า รัฐบาลได้มีการเสนอแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้ว ส่วนจะแก้ทั้งฉบับหรือรายมาตรา ไม่ขัดข้อง สามารถดำเนินการได้ แต่ขอให้ยึดตามกฏหมายรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตนไม่จำเป็นต้องไปสั่งใคร ทุกคนมีความคิด
"ทำไมระแวงผมจะสืบทอดอำนาจ ก็ขอไปแก้มาแล้วกัน จะเลือกผมหรือไม่เลือกผมก็ไม่ได้ขัดข้อง ขอให้ไปแก้มา แก้ให้ได้ก็แล้วกัน"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง