ไม่พบผลการค้นหา
'วรเจตน์' ตั้งคำถาม ออกฏหมายจำนวนมาก ประชาชนมีความสุขหรือไม่ ชี้หากกฏหมายไม่เกิดความยุติธรรม ต้องแก้ไขปรับปรุง เพื่อสอดคล้องกับการบังคับใช้ ไม่กดขี่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แนะควรเปิดกว้างวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาใด

นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวภายในเวทีเสวนา "กฏหมายกับความยุติธรรม" ว่า ความยุติธรรมมีหลากหลายมิติ อยู่ที่มุมมองของแต่ละคน ดังนั้น ผู้พิพากษาจะใช้ความยุติธรรม เพื่อไปตัดสินคดีจะต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน เพราะกฏหมายที่ถูกบัญญัติไว้เป็นเพียงหลักเกณฑ์ ว่าผู้พิพากษาจะตัดสินว่าอย่างไร ดังนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความยุติธรรมก็ยังคงต้องนำมาใช้คู่กับกฏหมาย แต่ต้องใช้กฏหมายไปในทิศทางที่ถูกต้องและยุติธรรม แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังมากสุด คือการใช้กฏหมายเพื่อสอดรับกับธรรมเนียมหรือประเพณีบางอย่างในชาติ ซึ่งการใช้กฏหมายในลักษณะนี้อาจจะเป็นการกดขี่ได้

อย่างไรก็ตาม หากกฏหมายที่ออกมาแล้วไม่เกิดความยุติธรรมในสังคม นายวรเจตน์ มองว่าผู้พิพากษาต้องพยายามตีความ และใช้เทคนิคในการตีความกฏหมาย เพื่อผ่อนคลายความไม่ยุติธรรมนั้นลง นำมาปรับและตัดสินเพื่อให้เกิดความยุติธรรม แต่หากทำไม่ได้ ควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพื่อปรับให้เกิดความยุติธรรม แต่หากวันนี้การจะแก้ไขกฏหมายอะไรก็ตาม ในกระบวนการหรือรณรงค์ผ่านสาธารณะ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนในระบบ ก็ยังทำไม่ได้ เรื่องนี้ตนมองว่าไม่ใช่นิติรัฐที่สมบูรณ์ ดังนั้นการจะไปแสวงหาความยุติธรรมในสังคม ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ 

นายวรเจตน์ ยังได้ตั้งคำถามว่า ตั้งแต่ช่วงที่มีการรัฐประหารหลายปีที่ผ่านมา เรามีกฏหมายออกมาเป็นจำนวนมาก เป็นกฏหมายที่ออกมากกว่าสภาที่มาจากการเลือกตั้ง แม้ตัวผู้นำเองก็ออกมาบอกว่าเป็นรัฐบาลที่ออกกฏหมายมากที่สุด จึงอยากถามว่าเรามีความสุขเพิ่มขึ้นหรือไม่ ที่มีกฏหมายออกมามากในลักษณะนี้ หรือการออกกฏหมายมาแบบนี้ เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนั้นเองหรือไม่ 

ทั้งนี้ หากตอนที่เขียนหรือบัญญัติกฏหมายขึ้นมา ผู้ที่มีอำนาจอยู่ในขณะนั้นกลับไม่สนใจเรื่องความยุติธรรมเลย หรือกำหนดกฏหมายเพื่อการกดขี่ประชาชน จุดนี้เองจะทำให้เกิดปัญหา เหมือนที่ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ ทำให้ทุกวันนี้เกิดการถกเถียงกันในสังคม และพยายามจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าก็ตาม แต่หากวันนี้ยังเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ก็จะฝ่ายที่มีอำนาจเล่นงานเหมือนที่เป็นอยู่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ถูกติดตามตัวลี้ภัยและถูกจับกุมในที่สุด

นายวรเจตน์ ยังระบุว่า จะต้องเปิดกว้างให้วิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินได้ ซึ่งหากระบบไหนยังกดไว้อยู่ กดการแสดงออก ไม่ยอมเปิดให้มีการแสดงออก อันนี้ถือว่าเป็นการสร้างความอยุติธรรมขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง แต่ในประเทศไทยนั้นเป็นระบบปิด พร้อมทั้งเสนอให้มีระบบและกลไกเพื่อให้ผู้พิพากษามีความพร้อมที่จะรับผิดจากการตัดสินคดีนั้นๆ ด้วย เพราะมองว่า หากประเทศไหนไม่มี ก็ถือว่าไร้ความยุติธรรมเช่นกัน