ไม่พบผลการค้นหา
ศบศ.เคาะมาตรการกระตุ้นบริโภคผ่าน 'ช้อปดีมีคืน' ซื้อสินค้าบริการลดหย่อนภาษีสูงสุด 30,000 บาท จ่อชง ครม.สัปดาห์หน้า พร้อมขยายเวลา 'เราเที่ยวด้วยกัน' สิ้นสุด ม.ค. 2564 ปลดล็อกเที่ยวในจังหวัดได้

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 (ศบศ.) ครั้งที่ 4/2563 วันที่ 7 ต.ค. 2563 ได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศผ่าน 'ช้อปดีมีคืน' ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี ส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่น และส่งเสริมการอ่าน โดยเป็นการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าสินค้าและบริการ ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท 

มาตรการ 'ช้อปดีมีคืน' จะใช้หลักการเดียวกับมาตรการ 'ช้อปช่วยชาติ' ที่ดำเนินการในปี 2558-2561 ซึ่งไม่รวมสินค้าที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ สลากกินแบ่งรัฐบาล น้ำมัน ค่าที่พัก และตั๋วเครื่องบิน โดยมาตรการจะมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค. – 31 ธ.ค. 2563 ซึ่งหากนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ทันในสัปดาห์หน้า จะเริ่มมาตรการไปพร้อมกับ 'คนละครึ่ง' ทันที

ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการ 'ช้อปดีมีคืน' จะไม่สามารถใช้ร่วมกับมาตรการ 'คนละครึ่ง' ได้ ดังนั้นประชาชนต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น กลุ่มที่มีฐานการเสียภาษีที่ 5% ควรใช้มาตรการ 'คนละครึ่ง' ซึ่งจะได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐมากกว่า 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของมาตรการ 'ช้อปดีมีคืน' คาดว่าจะทำให้รัฐจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลดลงประมาณ 11,000 ล้านบาท แต่หากรวมการดำเนินการกระตุ้นบริโภคผ่าน 3 มาตรการที่รัฐเติมเงินเข้าไปในระบบประมาณ 60,000 ล้านบาท ได้แก่ เติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 21,000 ล้านบาท, คนละครึ่ง 30,000 ล้านบาท และ ช้อปดีมีคืน อีก 11,000 ล้านบาท มั่นใจว่าจะสามารถกระตุ้นให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มเป็น 2 แสนล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 เดือน

นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบศ.ยังได้อนุมัติขยายระยะเวลาโครงการ 'เราเที่ยวด้วยกัน' ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ต.ค. 2563 ไปเป็นสิ้นสุด 31 ม.ค. 2564 พร้อมปลดล็อกให้สามารถเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดที่มีทะเบียนบ้านได้ด้วย

ส่วนความคืบหน้าการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะให้เข้าประเทศได้เมื่อใด ซึ่งในหลักการยังคงมีอยู่ เพียงแต่ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาถึงความเหมาะสมของระยะเวลาอีกครั้ง รวมถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: