ไม่พบผลการค้นหา
เวทีสนทนาคนรุ่นใหม่กับการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย สาธารณะ ตั้งคำถามพื้นฐานสำคัญ 4 เรื่อง ‘กิตติรัตน์‘ ชี้ คนรุ่นใหม่ต้องมีงานทำ ชงรัฐบาลกู้เงิน ลงทุนในสิ่งที่ควร ในระยะสั้น คือ เรื่องของการส่งออก เพิ่มกำลังซื้อ ‘ธนาธร’ ดันยกเลิกทหารเกณฑ์ แนะทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ยกเลิกรัฐราชการ ยกเลิกทุนผูกขาด ต้องลดการรวมศูนย์เพื่อปลดปล่อยศักยภาพทางเศรษฐกิจ ขณะที่ ‘วทันยา’ เผยเหตุส่งลูกเรียนนานาชาติ การศึกษาไทยยังมองการแสดงความเห็นเป็นเรื่องผิด

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 4 ธ.ค.2562 ที่ห้องประชุม ดร.เทียม โชควัฒนา ชั้น 3 อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการจัดสนทนา "Youth Engagement คนรุ่นใหม่กับการมีส่วนร่วมกําหนดนโยบายสาธารณะ" ร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักการเมืองตัวจริงทั้ง 4 คน จัดโดย ภาควิชาวารสารสนเทศคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้ร่วมงานประกอบด้วย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ 

โดยในงานช่วงแรกเป็นการสนทนาระหว่างนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักการเมือง ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเด็น คือ สาธารณสุข การศึกษา เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

ประเด็นสาธารณสุข นิสิตคนแรกได้พูดถึงเรื่องคนไทยกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน ความดันสูง จะแก้ไขอย่างไร

นายกิตติรัตน์ มองว่า ปัญหาใดจะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ต้องได้รับการยอมรับก่อนว่ามันเป็นปัญหา เมื่อยังไม่ถูกมองว่าเป็นปัญหา โดยคนที่รับผิดชอบโดยตรง และอ้อม รวมถึงคนที่กำหนดนโยบาย โอกาสที่จะได้รับการแก้ไขยากมันภาพใหญ่ของประเทศมีเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไขมากมาย ประเทศไทยมีปัญหาเฉพาะหน้าเยอะ ปัญหาเฉพาะหน้าจึงถูกจัดลำดับความสำคัญไว้ก่อนปัญหาที่นิสิตยกมา

ทั้งนี้ ยังรวมถึงความรู้ อุปนิสัย ที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่คนอายุน้อย กว่าจะส่งผลให้ปัญหาลด ใช้เวลานาน ปัญหาสำคัญแบบนี้ ถึงถูกจัดความสำคัญไว้น้อย

ด้านนายพริษฐ์ กล่าวว่า ประเด็นนี้ เป็นปัญหาที่คิดว่าน่าถกเถียง แต่ไม่ใช่ปัญหาเดียวของปัญหาสุขภาพในประเทศไทย ถ้าเราจับดูเทรนด์คือโรคไม่ติดต่อแบบเรื้อรัง ท้ายสุดการที่เราเป็นโรคเรื้อรัง ต้องไปหาหมอซ้ำๆ ทำให้คิวโรงพยาบาลยาวขึ้น ค่าใช้จ่ายของแต่ละคนก็จะสูงขึ้น แต่ยิ่งไปกว่านั้นปัญหาจะทวีคูณด้วยวิกฤตสภาพแวดล้อมเช่น ค่่าฝุ่นละอองเกินค่่ามาตรฐาน PM 2.5 อีกอย่างคือสังคมสูงวัย

ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ

นายพริษฐ์ ยังกล่าวว่า สิ่งที่ตนกังวลคือ เรื่องเศรษฐศาสตร์ ว่า เราจะจ่ายเงินอย่างไร นายพริษฐ์เสนอ 1.ลดค่าใช้จ่ายอย่างไร 1.ไม่ป่วยตั้งแต่ต้น เช่น ออกกำลังกาย2.ป่วยแล้วไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล ต้องปรับกฎหมายให้ทัน 3.จำเป็นไหมต้องไปโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุด ระบบคัดกรองคนไข้ที่มีประสิทธิภาพ 4.ถ้าจำเป็นต้องแอดมิด ลดจำนวนวันที่แอดมิด 2.เพิ่มรายได้ที่จะมาอุดตรงนี้ มี 2 ทาง1.ให้ผู้สูงอายุจ้างผู้สูงอายุทำงาน 2.การออม รณรงค์ให้คนไทยหันมาออม

ด้านการศึกษา ตัวแทนนิสิต ยกตัวอย่างว่า เด็กไทยเรียน 9 พันกว่าชั่วโมงต่อปี ในขณะที่ต่างชาติ 7-800 ชั่วโมงโดยเฉลี่ยเด็กไทยทำกิจกรรมเยอะ แต่สุดท้ายกิจกรรมเหล่านั้นเด็กกำลังถูกหลอกให้ทำ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ใครควรเข้ามาช่วยบ้าง และแก้ไขปัญหาอย่างไร

น.ส.วทันยา ระบุว่า การแก้ปัญหา คือต้องกลับมาใส่ใจเรื่องการศึกษา ส่วนตัว การศึกษาไทย คะแนนมาตรฐานต่างๆ จากต่างชาติ มหาวิทยาลัยชั้นนำ ถ้าเทียบกับต่างประเทศก็ยังรั้งท้าย เป็นปัญหาที่เถียงกันมาทุกยุคทุกสมัย มันมีปัจจัยพื้นฐานไม่แตกต่างกัน อันดับแรก กระบวนการเรียนรู้ การเรียน การสอน สอง ครู ถ้าต้องสอนนักเรียนให้เก่งในขณะที่ครูยังไม่ได้รับการคัดกรองที่ดี

น.ส.วทันยา ยกตัวอย่างว่า ทำไม ตนส่งลูกไปเรียนนานาชาติ เพราะเติบโตมาในโรงเรียนไทย มีปัญหา เช่น ทำข้อสอบว่าจงแสดงความคิดเห็น แต่มักจะมีอาจารย์มาบอกว่าอันนี้ผิด แล้วในเมื่อการแสดงความคิดเห็น มันควรจะเปิดเป็นความเสรี เหตุใดถึงมีผิดถูก พอเป็นแม่มีลูก ไม่อยากให้ลูกกลับไปเจอกระบวนการเหล่านี้

วทันยา วงษ์โอภาสี

น.ส.วทันยาแนะนำว่า ส่วนผู้ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหา บทบาทหลัก ต้องเป็นรัฐเป็นแกนหลักในการแก้ไข เพราะกระทรวงศึกษาฯ อยู่ในภาครัฐแต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาคนเดียวได้ หลายคนต้องมีส่วนร่วมให้การแก้ไข เมื่อไหร่ที่ควรจะเริ่ม การศึกษาควรจะเริ่มแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมมานาน ยิ่งเราเริ่มช้า ประเทศก็จะยิ่งสูญเสียโอกาสมากขึ้นเท่านั้น

ด้าน นายพริษฐ์ ระบุว่า เด็กไทยเรียนเยอะกว่าประเทศอื่นและผลลัพธ์แย่กว่าประเทศเพื่อนบ้านลงเรื่อยๆ หนึ่ง เด็กไทยเรียนเยอะกว่าเด็กประเทศอื่น ยังไม่บวกกับชั่วโมงที่เรียนพิเศษ ส่วนตัวแนะว่า ต้องทำให้เด็กมีบทบาทมากขึ้น เช่น เรามีสภาเด็กและเยาวชน แต่ไม่มีอำนาจในการทำอะไรเป็นไปได้ไหมให้เขาเสนอกฎหมายได้ ให้ ส.ส.พิจารณาต่อ

ด้านเศรษฐกิจ ตัวแทนนิสิต คือ นายธนวัฒน์ วงศ์ไชย คณะเศรษฐศาสตร์ และนักกิจกรรมทางการเมือง กล่าวว่าประเทศไทย มีอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน มาหลายปีแล้ว จากเสือตัวที่ 5 เป็นเห็บหมา มดน้อย กำไรในตลาดลดน้อย อัตราการว่างงาน เศรษฐกิจกำลังแข่งขันกับคนอื่นไม่ได้

นอกจากนี้ยังพูดถึง 'ภาครัฐกับการผูกขาดตลาด' ผลประโยชน์มหาศาล แต่กลับให้สัมปทานผูกขาดให้กับเจ้าเดียว ทั้งยังเหลื่อมล้ำเป็นอันดับหนึ่ง คนรวยที่สุดครอบครองทรัพย์สิน 75 เปอร์เซ็นต์ โครงสร้างพื้นฐานไม่เข้าถึง นโยบายการคลังที่ไม่เข้าถึงคนที่มีรายได้น้อย

SMEs กำลังสู้เจ้าสัวไม่ได้ ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำระหว่างเศรษฐกิจด้วยกันเอง อีกทั้งนโยบาย บัตรคนจน สุดท้ายวนหาทุนใหญ่ คือ เจ้าสัว นโยบายเหล่านี้สะท้อนการขาดวิสัยของภาครัฐ ปัญหาของภาครัฐ ไม่รู้จะทำอะไร อยู่บทบาทไหนในการบริหารประเทศ เป็นคำถามว่า ภาครัฐควรอยู่ตรงไหน มีบทบาทอย่างไรในระบบเศรษฐกิจ

โดยนายธนาธร กล่าวว่า เวลานี้ไม่ใช่เวลามารัดเข็มขัด หรือการมีวินัยทางการคลัง เวลานี้ต้องอัดงบประมาณให้ใหญ่แล้วมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่งบประมาณที่รัฐเสนอ เป็นการใช้งบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ภาพรวมการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้ภาครัฐอุ้มเศรษฐกิจได้เป็นเรื่องสำคัญ

สิ่งที่สำคัญบทบาทภาครัฐ ไม่มีประเทศไหนก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้ โดยไม่มีเทคโนโลยี รัฐบาลชุดนี้ยังอยู่ในกรอบที่เคยทำมาเมื่อปี 2500 ที่เกิดสภาพัฒน์ฯ แผนพัฒนาเศรษฐกิจ คือดึงทุนต่างชาติ ให้ไทยเป็นฐานการผลิต จนถึงวันนี้ก็ยังดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างนี้อยู่ ไม่สร้างอุตาสาหกรรมเอง นายธนาธรยกตัวอย่างว่า จีนแสดงให้เห็นแล้วว่าต้องมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง

นายธนาธร ยังแนะนำว่า ต้องยกเลิกการผูกขาด การผ่านกระบวนการให้เกิดสัมปทานรอบใหม่ รวมถึงตั้งข้อสังเกตว่ามีการตั้งใจ มีการแก้กฎหมาย ในนโยบายของ รัฐบาล ประยุทธ์ 1 โดยอาศัยช่องว่างระหว่างหลังเลือกตั้ง จบประเด็นการประมูลดิวตี้ฟรี แล้วผู้บริจาคเงินพรรค ก็ได้สัมปทาน

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

นายธนาธร กล่าวต่อว่า อีกเรื่องหนึ่งคือการกระจายอำนาจสำคัญมากที่ต้องยกเลิกรัฐราชการ ลดการรวมศูนย์เพื่อปลดปล่อยศักยภาพทางเศรษฐกิจ ถ้าไม่กระจายอำนาจ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ได้ ช่องว่างระหว่างเมืองชนบทไม่ได้ ต้องสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ที่มีเทคโนโลยีของตัวเอง ยกเลิกทุนผูกขาด กระจายอำนาจ

นอกจากนี้ นายธนาธรกล่าวว่า พรรคอนาคตใหม่ เตรียมเสนอกฎหมาย เหล้าเบียร์เสรี เพื่อแก้ปัญหาการเกษตรได้

ด้านนายกิตติรัตน์ ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทย กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงสำหรับการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ ที่ผิดพลาด อาจไม่เหมือนต้มยำกุ้ง แต่อาจไม่เบากว่า สิ่งที่อยากจะชี้ในเวลาที่จำกัด เราเรียนมาโดยหลักคิดว่า เป้าหมายทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่การเติบโต แต่เป็นเรื่องความยั่งยืน และการกระจายอำนาจ

กิตติรัตน์ ณ ระนอง

นายกิตติรัตน์ ยังแนะรัฐบาลควรกู้เงิน ลงทุนในสิ่งที่ควร ในระยะสั้น คือ เรื่องของการส่งออก เพิ่มกำลังซื้อ เวลานี้ไม่ใช่เวลาประหยัด เรากำหนดงบประมาณมากกว่าเดิม 2 แสนล้านที่เพิ่มขึ้นมา เกือบ 5 หมื่นล้านเพิ่มมาจ่ายค่าราชการชดเชยคลังที่ใช้ทะลุงบประมาณในปีก่อน ที่เหลือไม่เพียงพอจะเข็นเศรษฐกิจออกไป รัฐบาล ควรใช้เวลานี้กล้ากู้เงินมาลงทุนในสิ่งที่ควร แต่ถ้ากู้มาแล้วใช้เงินไม่ถูก ไม่ควร

นอกจากนี้ เวทีเสวนายังหยิบยกด้านสิ่งแวดล้อมโดยถามผู้ร่วมเสวนาถึงนโยบายหรือมาตรการในการลดมลพิษจากยานพาหนะ เนื่องจากเป็นปัจจัยอันดับหนึ่งในการเกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

โดย น.ส.วทันยา ตอบว่า ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่หลายคนเริ่มตระหนักถึงในเวลานี้่ ส่วนคุณภาพของอากาศเองก็เป็นสิ่งที่ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพของประชาน โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ซึ่งในประเทศไทยเริ่มตื่นตัวเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาซึ่งต่อต้นของปัญหามาจากหลายสาเหตุ การใช้พาหนะที่มาขึ้นเองก็เป็นหนึ่งในปัญหา แต่ต้นตอของปัญหาจริงๆ ของประเทศนั้นมาจากพื้นที่เกษตรทางภาคเหนือที่มีการเผาซากที่เกิดจากผลผลิตทางเกษตรกรรม นอกจากนี้ยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา ที่มีการเผาซากผลผลิตทางเกษตรกรรมที่หลุดลอยเข้ามา ฉะนั้น การแก้ไขปัญหาก็จำเป็นต้องแก้ไขตามสถานการณ์ไป 

ในส่วนของปัญหาที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ปัญหาหลักอาจจะมาจากเรื่องของพาหนะ ซึ่งการใช้พาหนะที่เป็นทางเลือกก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งการแก้ไขปัญหาที่ดี ส่วนการแก้ปัญหาทางภาคเหนือก็ต้องไปคิดว่าจะลดการเผาซากผลผลิตได้อย่างไร โดยจะต้องเป็นการคิดแก้ไขปัญหาอย่างหยั่งยืนโดยมีกระบวนการบรูณาการจากหน่วยงานรัฐในทุกภาคส่วน ไม่ใช่เป็นเพียงการแก้ไขปัญเฉพาะหน้าเท่านั้น ส่วนเกษตรกรที่มีการ 'ทำไร่เลื่อนลอย' ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศนั้นก็ควรที่คิดหาแนวทางในการเสริมให้เขาได้มีที่ดินที่ทำกินอย่างถูกต้อง ที่จะสามารถสร้างรายได้ให้ตนเองโดยไม่ต้องไปรุกล้ำป่าอีก

ด้าน นายธนาธร ตอบว่า เรื่องนี้ต้องชัดว่า ยูโร 5 ควรบังคับใช้ได้อย่างจริงจังสักที เนื่องจากทุกครั้งที่มีปัญหาฝุ่น PM 2.5 ก็มีการพูดถึง ยูโร 5 แต่หลังฝนตกก็หยุดพูดไป ซึ่งเรื่องนี้กรัฐบาลควรประกาศบังคับใช้อย่างจริงจังเพราะมันคือมาตรฐานไอเสียของรถยนต์ ส่วนปัญหาที่เกิดมาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า หรือ ลาว รัฐบาลก็ควรที่จะมีแก้ปัญหาร่วมกัน และควรมีการพูดคุยเจรจากันไว้ตั้งแต่ก่อนจะเกิดปัญหา โดยใช้มาตราการทางการค้า มาตรการทางการทูต เป็นสิ่งจูงใจให้ประเทศเพื่อนบ้านออกมาตรการในการหยุดเผาซากผลผลิต

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

นายธนาธร กล่าวว่า สำหรับเรื่องของพาหนะในการเดินทางในระดับประเทศควรเริ่มต้นที่รถไฟรางคู่ เพื่อลดระยะเวลาในการเดินทาง ส่วนในกรุงเทพฯ จะต้องมีการออกแบบระบบเส้นทางการขนส่งมวลชนใหม่ เพื่อที่จะนำคนที่อยู่ในที่ต่างๆ เชื่อมต่อกับสถานีขนส่งสาธารณะได้โดยสะดวก และไม่จำเป็นที่รถเมล์จะต้องวิ่งวนรอบกรุงเทพเหมือนปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาทั้งหมดนี้เป็นปัญหาการเมือง และหากไม่มีการแก้ไขโครงสร้างสถาปัตย์ทางการเมือง ก็ยากที่แก้ไขปัญหาเชิงประเด็นได้

ช่วงที่สอง ได้มีการถามว่า นโยบายสาธารณะใดจำเป็นเร่งด่วนต่อคนรุ่นใหม่

นายกิตติรัตน์ ตอบเพียงสั้นๆ ว่า “สร้างงาน” 

ส่วนนายธนาธร เห็นว่า สิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนสำหรับพรรคอนาคตใหม่ในเวลานี้คือการยกเลิกการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ เพราะรูปแบบการเกณฑ์ทหารแบบบังคับในลักษณะนี้มีมาตั้งแต่ปี 2497 แต่สิ่งที่พรรคอนาคตใหม่กำลังเสนอคือให้มีการสมัครใจเข้าเป็นไปทหารครั้งละ 5 ปี หากฝึกผ่านก็สามารถต่ออายุได้อีก 5 ปี โดยรัฐต้องจัดทำเงินเดือนให้ดี ทำสวัสดิการให้ดี 

ธนาธรกล่าวต่อว่า รูปแบบกองทัพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นปัญหาต่อการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างมาก ซึ่งการยกเลิกเลิกการเกณฑ์ทหารเป็นก้าวแรกในการปฎิรูปกองทัพที่พรรคอนาคตใหม่เสนอเข้าไป 

ในเวทียังพูดถึง "การแสดงออกในโลกออนไลน์สร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงหรือไม่"

ด้าน น.ส.วทันยา ตอบว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่รู้ได้ว่าความคิดเห็นในโลกออนไลน์ทุกวันนี้มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ หรือเรื่องที่เป็นไปในเชิงทำร้ายกัน ฉะนั้นเราควรจะสร้างสังคมออนไลน์ที่ดีอย่างไร หรือเราจะสามารถใช้สื่ออย่างไรให้เกิดประโยชน์ น่าจะเป็นเรื่องที่เราควรมาคุยกันมากกว่า ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ควรตระหนักกันคือ เรื่องของความน่าเชื่อถือของข้อมูล ควรที่จะมีการรับข้อมูลที่รอบด้านก่อนที่จะตัดสินใจเชื่ออะไร หรือไม่เชื่ออะไร

เมื่อถูกถามว่า ที่แต่ละคนเริ่มทำงานการเมืองนั้นเพราะอะไร

นายกิตติรัตน์ ตอบว่า ตนเข้ามาสู่วงการการเมืองในปี 2554 เพราะตั้งใจนำความเปลี่ยนแปลงที่ดีมาสู่ประเทศนี้ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ จึงได้เสนอตัว และเชื่อว่าในขณะที่ทำหน้าที่อยู่ก็ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงหลายเรื่องเชื่อว่าคนรุ่นใหม่หลายคนก็มีความตั้งใจที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้ดีขึ้น เพียงแต่ว่าการทำงานทางการเมืองในบางช่วงเวลาเป็นเรื่องที่จะต้องอดทน และเสียสละ

ส่วน น.ส.วทันยา ตอบว่า ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อได้เป็น ส.ส. และได้มีโอกาสในไปในพื้นีท่ต่างจังหวัดได้พูดคุยกับชาวบ้าน ได้เห็นปัญหาต่างๆ ก็ยิ่งทำให้เกิดแรงบรรดาลใจว่าเราจะต้องคิดหาทางแก้ไขปัญหาให้เขา เมื่อพูดถึงตัวปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศ ส่วนหนึ่งยอมรับว่าเป็นปัญหาจากการเมือง และควรมีการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม คือ แก้ไขไปพร้อมกันในทุกมิติ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ นั้นควรจะมีแบบแผนเข้ามารองรับเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริงและสำเร็จผล

นายพริษฐ์ กล่าวว่า เหตุผลที่ตนเข้ามาทำงานทางการเมืองเพราะว่าต้องการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ซึ่งก็ต้องถามต่อว่าบ้านเมืองที่ตนอยากเห็นนั้นเป็นอย่างไร โดยตนต้องการเห็นประเทศที่คนจะประสบความสำเร็จได้เพราะเกิดจากความสามารถและปัจจัยที่เขาสามารถควบคุมมันได้ โดยจะทำอย่างไรให้คนไทยทุกคนมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งปัจจัยเรื่องนี้สำหรับประเทศไทยยังห่างไกลมาก และการที่เข้ามาทำงานการเมืองห็เพราะการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงกฎหมาย และการทำงานในระบบประชาธิปไตยเป็นการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงอย่างซื่อตรงต่อประชาขน ไม่ใช่ว่าตนต้องการจะเห็นประเทศเป็นแบบนี้ แต่ประชาชนไม่เห็นด้วย ตนก็ไม่สามารถทำได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงนั้นจะต้องมาจากความต้องการของประชาชนด้วย

นายธนาธร ตอบว่า การที่ตนเข้ามาทำงานทางการเมืองเพราะต้องการยุติการรัฐประหารที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ส่วนภาพที่ตนต้องการเห็นสำหรับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น 'ไทยเจ๊ก' 'ไทยลาว' 'แหลงใต้' 'อู้คำเมือง' นับถือพุทธคริสต์ อิสลาม ไม่ว่าจะเป็น เกย์ ทอม ชาย หญิง ไม่ว่าจะมีนามสกุลสูงศักดิ์ หรือเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นใครในสังคมนี้ก็ควรมีสิทธิเสรีภาพและเท่าเทียมกัน นี่เป็นเหตุผลที่ตนเข้ามาทำงานการเมือง เพราะความเชื่อว่า สังคมแบบนี้คือสังคมที่ควรจะเป็นอนาคตสำหรับลูกหลานเรา