นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยมีอุณหภูมิลดลง สภาพอากาศหนาวเย็น ประชาชนอาจเจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ แม้ที่ผ่านมาจะพบผู้ป่วยลดลงจากปีที่ผ่านมา ประชาชนให้ความร่วมมือในการป้องกันตนเอง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ในหลายจังหวัด หากเจ็บป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่อาจทำให้แยกอาการจาก
โรคโควิด 19 ได้ยาก จึงขอให้ประชาชนคงมาตรการส่วนบุคคล ทั้งการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลอกอฮอล์ เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่แออัด คนรวมตัวกันหมู่มาก และไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น จะช่วยป้องกันการติดเชื้อทั้งโรคโควิด 19 และโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอื่นๆ
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สำหรับความเข้าใจผิดที่ไม่ควรทำในช่วงที่อากาศหนาวเย็น คือ 1. การดื่มแอลกอฮอล์คลายหนาว เนื่องจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้รู้สึกอบอุ่นขึ้น ซึ่งเป็นเพียงชั่วครู่ จากการที่หลอดเลือดฝอยขยายตัว เป็นการระบายความร้อนออกจากร่างกาย ทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดต่ำลงกว่าปกติ เมื่อร่างกายสัมผัสอากาศเย็นเป็นเวลานานขณะนอนหลับ เป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้ และ 2.ไม่ควรนำเตาถ่านหรือตะเกียงน้ำมันก๊าดเข้าไปจุดในเต็นท์ นอกจากเสี่ยงเกิดเพลิงไหม้แล้ว ในควันไฟยังมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ เมื่อหายใจเอาก๊าซ 2 ชนิดนี้เข้าไปจะทำให้เซลล์ของอวัยวะต่างๆ ขาดออกซิเจนไปเลี้ยง เกิดอาการง่วง หลับโดยไม่รู้ตัวและเสียชีวิต
"วิธีการรักษาร่างกายให้อบอุ่น ขอแนะนำให้ประชาชนสวมเสื้อผ้าที่เพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกายอย่างเพียงพอ ไม่นอนในที่โล่งแจ้ง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลักายสม่ำเสมอ ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ไม่อาบน้ำอุ่นเกินไป หากผิวหนังแห้งทาครีมบำรุงบ่อยๆ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง" นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
แนะวัยทำงานอยู่กับบ้าน ฟิตร่างกายแบบไม่เสี่ยงโควิด-19
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงเฝ้าระวังสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้ประชาชนกลุ่มวัยทำงานบางกลุ่มต้องกลับมาใช้วิธีการทำงานที่บ้านเป็นหลัก จึงอาจจะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้น การป้องกันจึงต้องหมั่น ออกกำลังกายเป็นประจำแม้ในช่วงเวลานี้ ด้วยการเลือกออกกำลังกายที่ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดหรืออยู่ในจุดที่มีคนหนาแน่น โดยควรออกกำลังกายในบ้านหรือลานบ้านส่วนตัวจะเป็นทางเลือกที่นับว่าปลอดภัย ซึ่งการออกกำลังกายที่บ้านควรเน้นความเหมาะสมตามบริบทของ ผู้ออกกำลังกาย อุปกรณ์ สถานที่ หากไม่มีอุปกรณ์หรือพื้นที่ อาจเลือกชนิดการออกกำลังกายที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์มาก เช่น การเดินเร็วรอบ ๆ บ้าน กระโดดเชือก เต้นแอร์โรบิก โยคะ หรือออกกำลังกายเพื่อฝึก ความแข็งแรงแบบบอดี้เวท หรือเลือกใช้สิ่งของทดแทน เช่น การยกน้ำหนัก โดยใช้ขวดน้ำแทน และยังรวมถึงการทำงานบ้าน การเดิน หรือเปิด you tube ดูตัวอย่างการออกกำลังกาย สามารถทำตามได้ทันที
“สำหรับการออกกำลังกายโดยใช้อุปกรณ์นั้น ควรหมั่นทำความสะอาดมือ เครื่องมือและอุปกรณ์เป็นประจำทั้งก่อนและหลังด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่มีฤทธิ์กำจัดเชื้อ เช่น น้ำสบู่ แอลกอฮอล์ 70% หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ซึ่งการออกกำลังกาย แต่ละครั้งขอให้ได้ถึงระดับที่เหนื่อยพอพูดเป็นประโยคสั้น ๆ ได้ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที จะทำให้มีสุขภาพแข็งแรง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว