ไม่พบผลการค้นหา
ไมโครซอฟท์จัดอันดับสิงคโปร์เป็นชาวเน็ตคุณภาพสูงอันดับ 4 ของโลก สุภาพ มีเหตุผล ภูมิคุ้มกันข่าวบิดเบือนสูง

ดัชนีชี้วัดความมีอารยะทางอินเตอร์เน็ต (Digital Civility Index) ที่จัดทำโดย 'ไมโครซอฟท์' ได้จัดอันดับให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในสิงคโปร์ เป็นชาติที่มีความอารยะบนโลกหรือสุภาพทางอินเทอร์เน็ตเป็นอันดับ 4 ของโลก 

ไมโครซอฟท์ ได้สำรวจความคิดเห็นของวัยรุ่นและผู้ใหญ่ 16,000 คนทั่วโลกกว่า 32 ประเทศ ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงพฤษภาคมปี 2563 ซึ่งเป็นการจัดทำรายงานเพื่อสะท้อนความมีอารยะชนบนโลกอินเตอร์เน็ต โดยใช้ตัวแปรด้านของการแสดงความเห็นอย่างสุภาพ การรับผิดชอบต่อการแสดงความเห็นของตัวเอง การเขียนข้อความในเชิงคุกคามทางเพศ การกลั่นแกล้งทางกายหรือวาจา การประทุษร้ายด้วยข้อความ การใส่ร้ายกล่าวหา และการสร้างข่าวปลอม รวมทั้งตัวชี้วัดอื่นๆ ที่สะท้อนให้เห็นคุณภาพของประชากรในประเทศนั้นๆ

จากรายงานผลการสำรวจ ด้วยเกณฑ์การจัดอันดับคะแนนที่ 0 - 100 ถ้าคะแนนต่ำบ่งชี้ว่ามีความเสี่ยงทางออนไลน์ที่น้อย และระดับการรับรู้ถึงความสุภาพบนอินเทอร์เน็ตนั้นสูง โดยจากการสำรวจพพบว่าเนเธอร์แลนด์ ครองแชมป์ประเทศที่มีความสุภาพชนบนโลกอินเทอร์เน็ตมากสุดด้วยคะแนน 51 % รองลงมาคือ อังกฤษ 55% สหรัฐอเมริกา 56% สิงคโปร์ 59% และไต้หวัน 61% 

ส่วนประเทศที่ไม่ค่อยมีความสุภาพทางอินเตอร์เน็ตคือ แอฟริกาใต้ 81% รัสเซีย 80% เม็กซิโก 76% อินโดนีเซีย 76% และเปรู 74 %  ส่วนไทยอยู่ในกลุ่ม 10 อันดับสุดท้ายของโลกด้วยคะแนน 69 % หรืออันดับที่ 19 จากทั้งหมด 32 ประเทศ

สำหรับสิงคโปร์ครองอันดับ 4 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย เอเชีย แม้จะหล่นลงมาจากการที่เคยอยู่ในอันดับ 1 ของโลกเมื่อปี 2562 แต่ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์สูงท่ามกลางสภาวะความเครียดของผู้คนจากการรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ในช่วงสถานการณ์โรคระบาด โดยผู้คนในสิงคโปร์มีประสบการณ์เชิงลบในโลกออนไลน์น้อยลง 

สังเกตได้จากประเด็นการถูกคุกคามทางเพศออนไลน์ลดลงอย่างมากจาก 30% เมื่อปี 2562 เป็น 15 % ในปี 2563 ความเสี่ยงดังกล่าวครอบคุลม การได้รับข้อความและรูปภาพที่โจ่งแจ้งทางเพศที่ไม่พึงปรารถนา การได้รับการล้อเลียนทางเพศ และการล้อเลียนอื่นๆ หรือเรื่องชู้สาวทางออนไลน์

นอกจากนี้ การคุกคามทางออนไลน์ที่กระทบต่อชื่อเสียงของผู้อื่นยังลดลงจาก 18% เมื่อปี 2562 เป็น 13% ในปี 2563 ความเสี่ยงเหล่านี้รวมถึงการถูกนำข้อมูลส่วนตัวอย่างที่อยู่หรืออาชีพมาเปิดเผยด้วยเช่นกัน ที่น่าสนใจคือ การคุกคามทางออนไลน์ที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว เช่น การติดต่อทางออนไลน์โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือยินยอม การรับคำพูดที่แสดงความเกลียดชัง การหลอกลวง เนื้อหาอันเป็นเท็จ ไม่สุภาพ หยาบคาย และการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต ก็มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

ในสิงคโปร์ 19 % ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่าความสุภาพทางออนไลน์ดีขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 มีสาเหตุมาจากความรู้สึกร่วมของชุมชนที่มากขึ้นและผู้คนต่างมารวมตัวกันในโลกออนไลน์ เพื่อติดตามข่าวสารและหาวิธีรับมือกับวิกฤตนี้ แต่ในทางกลับกันอีก 31 % กล่าวว่ามารยาททางออนไลน์เลวร้ายลงในช่วงที่มีการระบาด เนื่องจากมีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จและทำให้เกิดการเข้าใจผิดในวงกว้าง และผู้คนก็ใช้ช่องทางโซเชียลระบายความผิดหวังจากโอกาสต่างๆ ที่ตนเองพลาดเนื่องจากโควิด

ปัจจัยสำคัญคือมาตรการรับมือของหน่วยงานรัฐท้องถิ่นอันมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ให้ข้อมูลแก่สาธารณะตรงไปตรงมาและมากเพียงพอ ประกอบกับสิ่งที่ชาวเน็ตสิงคโปร์มีมากกว่าผู้ใช้งานในชาติอื่นๆ คือความฉลาดในการรับและกรองข้อมูล และไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวเหล่านี้ได้โดยง่าย

รองศาสตราจารย์เอ็ดสัน ทันดอค จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (NTU) กล่าวว่า “อาจเป็นไปได้ว่าความเสี่ยงทางเพศและความเสี่ยงด้านชื่อเสียงออนไลน์ลดลงเนื่องจากการเข้ามามีบทบาทของสถาบันครอบครัว เนื่องจากผู้คนจำนวนมากต้องเรียนและทำงานจากที่บ้านร่วมกับครอบครัว อาจะทำให้เกิดกระบวนการไกล่เกลี่ยหรือตรวจสอบเนื้อหา โดยผู้ปกครองที่สอดส่องดูแลลูกหลานตัวเองสำหรับการใช้สื่อดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น”

ด้าน ดร.วิลเลียม วาน เลขาธิการของ Singapore Kindness Movement ตั้งข้อสังเกตว่า ในหลายสังคมเกิดความคิดริเริ่มที่ดี และเป็นเชิงบวกมากขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อที่จะยกระดับการมีอารยะของชาวเน็ตสิงคโปร์ อาทิ แคมเปญ Sure Anot โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ที่จะช่วยกรองข่าวปลอมให้กับผู้สูงอายุ ยังมีกลุ่มสนับสนุนแรงงานข้ามชาติ ItsRainingRaincoats ที่เปิดตัวโครงการริเริ่มสอนภาษาอังกฤษแก่แรงงานข้ามชาติผ่านระบบออนไลน์ โดยจับคู่อาสาสมัครกับคนงานที่ติดอยู่ในบ้านอันเนื่องมาจากการระบาดเพื่อให้เกิดการใช้ภาษาที่เหมาะสมในโซเชียลมีเดียต่างๆ ดร.วาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงนี้มีประชาชนจำนวนมากต้องทำงานที่บ้าน ซึ่งเป็นโอกาสที่จะใกล้ชิดกับผู้สูงอายุ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือเราต้องดูแลพวกเขา สร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกันและช่วยกันต่อต้านข่าวปลอม 

ดร.วาน กล่าวปิดท้ายได้อย่างน่าสนใจเกี่ยวกับความสุภาพทางโลกออนไลน์ว่า "อย่าทำกับคนอื่นในสิ่งที่คุณไม่ต้องการให้คนอื่นทำแบบนั้นกับคุณ" 

ที่มา: straitstimes1 , straitstimes2