ไม่พบผลการค้นหา
คอลัมนิสต์ Forbes ชี้ อุปกรณ์เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ทั้งสมาร์ตทีวี กล้องวงจรปิด หรือแม้แต่หลอดไฟ อาจลอบเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานโดยไม่ได้รับความยินยอม ขณะที่สื่อเทคโนโลยีเตือน ใครที่เชื่อว่าตนเอง "ไม่มีอะไรต้องปิดบัง" อาจจะต้องเปลี่ยนวิธีคิด เพราะความไม่เป็นส่วนตัวของบุคคลหนึ่ง อาจส่งผลกระทบต่อองค์กรหรือคนหมู่มากได้

ออกัสติน ฝู คอลัมนิสต์ของนิตยสารฟอร์บส เผยแพร่บทความ Everything Is Listening—We Already Live In A Surveillance State, We Just Don’t Know It เมื่อ 1 ก.ย. 2563 โดยระบุว่า อุปกรณ์เทคโนโลยีหลายอย่างในทุกวันนี้สามารถดักฟังหรือลอบเก็บข้อมูลในชีวิตประจำวันของผู้ใช้งานได้ พร้อมย้ำว่า เราอยู่ในภาวะที่ถูกสอดแนม โดยที่ไม่รู้ตัวกันเอง

บทความดังกล่าวอ้างอิงรายงานข่าวและผลการสอบสวนในอดีตของคณะกรรมการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตของสหรัฐอเมริกา นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา บ่งชี้ว่าอุปกรณ์เทคโนโลยีหลายอย่างที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเพื่อสั่งงานระยะไกล รวมถึงอุปกรณ์เพื่อความบันเทิงอย่างสมาร์ตทีวี สามารถเก็บข้อมูลเสียงและข้อมูลการใช้งานอุปกรณ์ของแต่ละบุคคลเพื่อส่งต่อไปยังบุคคลที่ 3 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์หรือผู้ให้บริการด้านวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการค้าและโฆษณาที่เป็นพาร์ตเนอร์กับโปรแกรมเพื่อความบันเทิงต่างๆ

ฝูยังมีอีกบทความหนึ่ง The Internet Of (Creepy Spy-ey) Things ยกตัวอย่างบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยี เช่น แอมะซอน, กูเกิล และแอปเปิล เป็นส่วนหนึ่งที่เก็บข้อมูลของผู้ใช้งานโดยไม่แจ้งให้ทราบ

บทความของฝูระบุว่าเคยมีกรณี 'อเล็กซา' ระบบสั่งการอุปกรณ์อัจฉริยะของแอมะซอน รวมถึงสิรีของแอปเปิล และลำโพงกูเกิลโฮมของกูเกิล ลอบเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานระหว่างสั่งการด้วยเสียงเพื่อดำเนินการอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ และส่งข้อมูลดังกล่าวกลับไปยังบริษัทต้นทางที่เป็นเจ้าของอุปกรณ์

ทั้งสามบริษัทออกมายอมรับและระบุว่าได้แก้ไขการเก็บข้อมูลเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของบุคคลเสียใหม่ แต่ยังมีอุปกรณ์อื่นๆ ที่ถูกตรวจพบว่ามีการเก็บข้อมูลผู้ใช้งานโดยที่ไม่รู้ตัว เช่น สมาร์ตทีวีหลายยี่ห้อ ระบบหลอดไฟอัจฉริยะ รวมถึงกล้องวงจรปิดที่สามารถเก็บภาพและข้อมูลส่วนตัวของบุคคลจำนวนมากเอาไว้ได้ และระบบสั่งงานด้วยเสียงอาจทำงานอัตโนมัติ ตลอดจนโปรแกรมที่ติดตั้งมาพร้อมคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนก็อาจเข้าถึงข้อมูลรหัสผ่านส่วนบุคคลที่ผูกโยงกับบัญชีการเงินการธนาคารได้

AFP-ห้องควบคุมทีวี-สื่อ-จอมอนิเตอร์

แม้ผู้ใช้งานเทคโนโลยีจำนวนมากจะไม่สนใจความเป็นส่วนตัว (privacy) เพราะรู้สึกว่า "ไม่มีอะไรที่ต้องปิดบัง" แต่การใช้งานอุปกรณ์เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things หรือ IoT) โดยไม่ได้ระมัดระวังเรื่องข้อมูลที่ถูกลอบเก็บบันทึิก อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย (security) ของทั้งบุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้องได้เช่นกัน

เว็บไซต์ Security Boulevard ระบุว่า ความไม่ระมัดระวังเรื่องการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล ส่งผลกระทบต่อองค์กรได้ เพราะหากผู้ใช้งานอุปกรณ์เทคโนโลยีและระบบอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งปล่อยให้บุคคลอื่นเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้ อาจมีการใช้ช่องทางดังกล่าวเป็นเครื่องมือแฮ็กเข้าสู่ระบบเครือข่ายที่เก็บข้อมูลขององค์กรหรือบริษัท ซึ่งย่อมจะส่งผลกระทบมากกว่าแค่ความเสียหายส่วนบุคคล เช่น การโจมตีเครือข่ายปฏิบัติการหรือการล่มระบบโดยใช้มัลแวร์ หรือคำสั่งควบคุมระยะไกล

บทความของฝูในฟอร์บสเคยยกตัวอย่างว่าแอปพลิเคชัน Grindr และ TikTok ถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง เพราะมีกรณีที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันดังกล่าวเปิดเผยข้อมูลพิกัดส่วนบุคคล แต่เมื่อนำไปรวมกับข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้แอปพลิเคชันดังกล่าว อาจจะสุ่มเสี่ยงที่ผู้ไม่ประสงค์ดีจะนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้งานในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น กรณีมีผู้ใช้งานแอปฯ ดังกล่าวในค่ายทหารหรือหน่วยงานด้านข่าวกรองโดยไม่ได้ระมัดระวังเรื่องภาพ เสียง หรือสถานที่ตั้งหน่วยงาน

ขณะที่ Consumer Reports ซึ่งเป็นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคของสหรัฐอเมริกา รายงานว่า สมาร์ตทีวีหลายยี่ห้อติดตั้งระบบเก็บบันทึกและจำแนกข้อมูลต่างๆ (Automatic Content Recognition หรือ ACR) ทั้งภาพและเสียง และส่งกลับไปยังบริษัทต้นทาง เพื่อนำไปใช้กับสิ่งที่เรียกว่าการพัฒนาระบบและบริการ

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ต้องการรักษาความเป็นส่วนตัวอาจไม่พอใจนักที่ข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงรสนิยมหรือความชอบความบันเทิงในที่พักอาศัยจะถูกส่งไปให้บุคคลที่ 3 ไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไปหรือนิติบุคคลก็ตาม จึงมีความจำเป็นจะต้องเรียนรู้วิธีปิดหรือระงับไม่ให้อุปกรณ์เหล่านี้ลอบเก็บข้อมูลส่วนตัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: