ไม่พบผลการค้นหา
รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ เผย รมว.ยุติธรรม เร่งดำเนินการปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด คาดต้นเดือน ส.ค.2563 สามารถนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.นครศรีธรรมราช รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยความคืบหน้านโยบายการปรับพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ว่า ตามที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ได้เร่งดำเนินการปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเปิดรับแสดงความคิดเห็น

ผู้สนใจสามารถแสดงความเห็นที่เว็บไซต์ https://www.oncb.go.th/Pages/main.aspx ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) กระทรวงยุติธรรม เป็นระยะเวลา 15 วัน โดยคาดว่าในช่วงต้นเดือนส.ค.2563 จะสามารถนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป

รองโฆษก พปชร. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้จากการหารือร่วมกับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ถึงแนวทางการดำเนินนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล ถือเป็นการทำให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจชุมชน และวิถีชีวิตของชุมชน โดยพืชกระท่อมมีหลักฐานการใช้เป็นสมุนไพรในครัวเรือนมาตั้งแต่อดีต โดยใช้ในการบำรุงกำลังเป็นยาขยัน แก้ปวดท้อง แก้ปวดเมื่อย ดังนั้นพืชกระท่อม จึงไม่ใช่ยาเสพติด  

ขณะเดียวกัน ในด้านการส่งเสริมให้ปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจนั้น เนื่องจากพืชกระท่อมมีสาร 2 ชนิด ที่เรียกว่า "ไมทราไจนีน" ซึ่งมีสรรพคุณช่วยระงับความเจ็บปวดได้ดีกว่ามอร์ฟีน และ "เซเว่นไฮดรอกซี" เป็นยาชูกำลัง โดยขณะนี้ประเทศมหาอำนาจผลิตมอร์ฟีนขายสร้างรายได้ปีละเกือบ 5 แสนล้านบาท ดังนั้นประเทศไทยจึงควรเปิดให้มหาวิทยาลัยที่มีความรู้และสนใจศึกษาวิจัยพืชกระท่อม เพื่อเตรียมความพร้อม รวมทั้งการกำหนดพื้นที่ปลูกและสำรวจกลไกการตลาด เพื่อไม่ให้เกิดภาวะล้นตลาดเหมือนพืชเศรษฐกิจเช่น ยางพารา และปาล์มน้ำมัน

รองโฆษก พปชร. กล่าวว่า ในส่วนด้านความกังวล เรื่องการควบคุมนั้น รมว.ยุติธรรมได้เผยถึงมาตรการป้องกันว่า จะต้องป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนยุ่งเกี่ยวกับพืชกระท่อม และป้องกันการใช้พืชกระท่อมเป็นส่วนผสมของสารเสพติด หรือเครื่องดื่มชูกำลัง เช่น 4 คูณ 100 โดยในส่วนของการใช้ทั่วไป สามารถใช้เพื่อเคี้ยวเป็นยาบำรุงกำลังได้เพียงอย่างเดียว ในขณะที่หากจะนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์จะต้องมีการขออนุญาตที่ อย.ก่อน

โดย รมว.ยุติธรรม ได้กล่าวสรุปง่ายๆ ถึงการใช้พืชกระท่อมว่าบุคคลทั่วไป สามารถนำมาเคี้ยวได้อย่างเดียว ห้ามนำมาทำ 3 คูณ 100 หรือ 4 คูณ 100 ซึ่งตนในฐานะรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ และ ส.ส.นครศรีธรรมราช เห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกร ที่จะส่งเสริมให้มีการปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจสามารถทำให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ โดยจะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือ และสร้างความเข้าใจกับประชาชน และเยาวชน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่มีการใช้พืชกระท่อมเป็นยาสมุนไพรมาตั้งแต่อดีต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: