นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เผยเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 หลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทางเทคโนโลยี ที่มี ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวง ดีอี เป็นรองประธานกรรมการ นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวง ดีอี เป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ และผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมหารือกัน เพื่อดำเนินงานตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ใน ระยะที่ 2
สำหรับมาตรการและผลการดำเนินงาน ระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1-31 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา มี 8 เรื่องที่สำคัญ ประกอบด้วย
1.การปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์ ในเดือนพฤษภาคม (ข้อมูล ตร.)
- การจับกุมคดีออนไลน์รวมทุกประเภท เดือนพฤษภาคม 2567 มีจำนวน 2,295 ราย ลดลง ร้อยละ 8 เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 2,495 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม - มีนาคม 2567
- การจับกุมคดีเว็บพนันออนไลน์ เดือนพฤษภาคม 2567มีจำนวน 991 ราย ลดลง ร้อยละ 7 เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 1,064 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม - มีนาคม 2567
- การจับกุมคดีซิมม้า บัญชีม้า มีจำนวน 199 ราย ลดลง ร้อยละ 17 เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 240 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม - มีนาคม 2567
ทั้งนี้ตำรวจมีการจับกุมครั้งสำคัญ ในเดือนพฤษภาคม 2567 อาทิ
1) จับกุมคดีพนันออนไลน์ เว็บไซต์ .บ้านหวย.com โดยจับกุมผู้ต้องหาได้ 9 ราย เงินหมุนเวียนประมาณ 80 ล้านบาทต่อเดือน โดยสามารถยึดทรัพย์เพื่อตรวจสอบมูลค่าประมาณ 70 ล้านบาท
2) ปฏิบัติการ HANG UP บุกทลายเว็บพนันใหญ่ ‘หวานเจี๊ยบ’ มีเงินหมุนเวียนหนึ่งพันล้านบาทต่อเดือน
3) ปฏิบัติการ แก๊ง Call Center หลอกลวงข้ามชาติ เมืองโอเสม็ด กัมพูชา โดยได้ดำเนินการจับกุมผู้ต้องหาแล้ว 12 ราย โดยมีการกำหนดเป้าหมายว่าในรอบ 1 สัปดาห์ ต้องหลอกผู้เสียหายให้ได้ขั้นต่ำ 20 ล้านบาท รายได้หมุนเวียนต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 80 ล้านบาท
4) การจับกุมและขยายผลกระบวนการหลอกลงทุนคริปโต 530 ล้านบาท ซึ่งมีการเชื่อมโยงกับการพนันออนไลน์จำนวน 2 เครือข่าย โดยมียอดเงินหมุนเวียนกว่า 13,000 ล้านบาท จับกุม 25 ราย โดยยึดทรัพย์สินกว่า 125 ล้าน
ขณะที่ดีเอสไอ มีการจับกุมที่สำคัญในเดือนพฤษภาคม 2567 ได้แก่ คดีเว็บพนันออนไลน์เครือข่าย (แม่มนต์) เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 โดยมีวงเงินหมุนเวียน ในบัญชีกว่า 150 ล้านบาท
2. การปิดโซเชียลมีเดีย เว็บผิดกฎหมาย และเว็บพนัน
- ปิดโซเชียลมีเดีย และเว็บผิดกฎหมายทุกประเภท เดือนพฤษภาคม 2567 จำนวน 15,758 รายการ เพิ่มขึ้น 9.3 เท่า จากเดือน จากเดือนพฤษภาคม 2566 ที่มีจำนวน 1,687 รายการ
- ปิดเว็บพนันเดือนพฤษภาคม 2567 จำนวน 6,459 รายการ เพิ่มขึ้น 82.8 เท่า จาก เดือนพฤษภาคม 2566 ที่มีจำนวน 78 รายการ
3. การแก้ปัญหาบัญชีม้า เร่งอายัด ตัดตอนการโอนเงิน ผลการดำเนินงานที่สำคัญถึง 31 พฤษภาคม 2567 มีดังนี้
- ระงับบัญชีม้าแล้วกว่า 800,000 บัญชี แบ่งเป็น ปปง.ปิด 344,079 บัญชี ธนาคารระงับเอง 300,000 บัญชี และ AOC ระงับ 171,794 บัญชี
- กำหนดมาตรการและเงื่อนไขการเปิดบัญชีใหม่ เพื่อป้องกันการนำไปกระทำความผิด โดยเพิ่มกระบวนการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง Customer Due Diligence หรือ CDD โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยง ธนาคารต้องตรวจสอบให้เคร่งครัดมากขึ้นก่อนอนุมัติเปิดบัญชีใหม่ โดย ธปท. ได้ดำเนินการออกหนังสือเวียนแล้ว เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567
- กวาดล้างบัญชีม้าจากการใช้รายชื่อเจ้าของบัญชีม้า และรายชื่อผู้กระทำผิดกฎหมาย โดยใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทำการปิดบัญชีธนาคารทุกธนาคาร จากชื่อบุคคลดังกล่าว โดยตั้งเป้าระงับ/ปิด บัญชีม้ามากกว่า 12,000 คนต่อเดือน หรือ 100,000 บัญชีต่อเดือน
4.การแก้ไขปัญหาซิมม้าและ ซิมที่ผูกกับ Mobile Banking มีผลการดำเนินงานที่สำคัญถึง 26 พฤษภาคม 2567 มีดังนี้
- การระงับหมายเลขโทรออกเกิน 100 ครั้ง/วัน แล้ว 42,298 หมายเลข มีผู้มายืนยันตัวตน 372 เลขหมาย ไม่มายืนยันตัวตน 41,926 เลขหมาย
- การกวาดล้างซิมม้าและซิมต้องสงสัย โดย สำนักงาน กสทช. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตน และผลการดำเนินงาน มีดังนี้
1)กลุ่มผู้ถือครองซิมการ์ดมากกว่า 100 ซิม โดยมีเลขหมายที่เข้าข่าย 5.0 ล้านเลขหมาย ซึ่งครบกำหนดการยืนยันตัวตนเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 มีผู้มายืนยันตัวตนแล้ว จำนวน 2.6 ล้านเลขหมาย และยังไม่มายืนยันตัวตน จำนวน 2.4 ล้านเลขหมาย โดยในกลุ่มที่ยังไม่มายืนยันตัวตน ถูกระงับซิมชั่วคราวไปแล้วทั้งสิ้น 2.3 ล้านเลขหมาย
2)กลุ่มผู้ถือครองซิมการ์ดตั้งแต่ 6-100 เลขหมายต่อค่ายมือถือ จะต้องยืนยันตัวตนภายในวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 ซึ่งมีเลขหมายที่เข้าข่าย 4.0 ล้านเลขหมาย มีผู้มายืนยันตัวตนแล้ว 1 ล้านเลขหมาย และยังไม่มายืนยันตัวตน จำนวน 3 ล้านเลขหมาย
- การตรวจสอบซิมที่ใช้กับโมบายแบงกิ้ง โดยกระบวนการตรวจสอบดังกล่าว คาดว่าจะแล้วเสร็จในระยะเวลา 120 วัน หรือประมาณเดือนตุลาคม 2567 ทั้งนี้ ในระหว่างดำเนินการ ประชาชนยังสามารถใช้งานโมบายแบงก์กิ้งได้ตามปกติ ในส่วนของข้อยกเว้นต่างๆ ที่ปรากฏตามสื่อยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชน และจะมีการแจ้งรายละเอียดให้ประชาชนทราบโดยเร็ว เมื่อมีการตรวจสอบข้อมูลเรียบร้อย ภายใน 120 วัน
- การเข้มงวดในการเปิดใช้ ซิมใหม่ ให้เป็นไปตาม หลักเกณฑ์ การลงทะเบียนและยืนยันตัวตนของ กสทช. เพื่อป้องกัน การนำซิมไปใช้กระทำผิดกฎหมาย
5. การดำเนินการเรื่องเสาโทรคมนาคม สายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสายโทรศัพท์ที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน
- สำนักงาน กสทช. ได้มีหนังสือให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตตรวจสอบการให้บริการโทรคมนาคมบริเวณชายแดนที่มีความเสี่ยง และทำการรื้อถอน ปรับทิศทาง หรือลดกำลังส่งสายอากาศ เพื่อให้มีพื้นที่การให้บริการครอบคลุมเฉพาะภายในประเทศ ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก อ.แม่สาย อ.เชียงของ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี อ.เมือง จ.ระนอง โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 19 มิถุนายน 2567
6. การแก้กฎหมายเร่งด่วน
6.1 การแก้ไขกฎหมายพิเศษแบบเร่งด่วน ใน 3 ประเด็น คือ (1) เร่งรัดการคืนเงินให้ผู้เสียหาย (2) การเพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล และ (3) การป้องกันการโอนเงินแบบผิดกฎหมายของคนร้ายโดยการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล
6.2 มาตรการปรับปรุงกฎระเบียบ/แนวปฏิบัติเพื่อการป้องกันการโอนเงินแบบผิดกฎหมายของคนร้าย โดยการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะที่เป็นแพลตฟอร์มซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย ดังนี้
(1) ก.ล.ต. ร่วมกับ ปปง. ผลักดันให้มีการยกระดับหลักเกณฑ์ด้านการฟอกเงินของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลด้านการฟอกเงินของ Financial Action Task Force (FATF)
(2) สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDO) ได้จัดทำแนวทางปฏิบัติงาน เรื่องการพิจารณาบัญชีต้องสงสัยว่าถูกใช้ในการกระทำผิด เพื่อเป็นแนวปฏิบัติ (guideline) สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในการพิจารณาคัดกรองการเปิดบัญชีและการทำธุรกรรมที่ต้องสงสัยว่าถูกใช้ในการกระทำความผิด
6.3 การแก้ไขปัญหาการซื้อขายสินค้าหรือบริการออนไลน์แบบใช้บริการเก็บเงินปลายทาง (COD) โดยเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้จัดรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ ให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. ....
7. การเพิ่มบทบาท ความรับผิดชอบให้ ผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และธนาคาร โดย กระทรวงดีอี ได้หารือแนวทางร่วมกันกับ บริษัท ไลน์ประเทศไทย แพลตฟอร์ม Meta และ X เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาภัยออนไลน์เชิงรุก ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ และการปิดกั้น URL ที่ผิดกฎหมาย แบบเชิงรุก
8. การบูรณาการข้อมูล โดยศูนย์ AOC 1441 โดยเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 กระทรวงดีอี โดยศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง MOU ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center: AOC) ร่วมกับ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
นายประเสริฐ กล่าวว่า ในภาพรวมของการดำเนินงานอย่างบูรณาการ เร่งรัดจับกุมคนร้าย กวาดล้างบัญชีม้าและซิมม้า เร่งการอายัดบัญชีธนาคาร ตัดเส้นทางการเงิน การปิดกั้นโซเชียลมีเดียหลอกลวงผิดกฎหมาย และเว็บพนันออนไลน์ มีผลงานชัดเจน เป็นตัวเลขที่สูงขึ้นต่อเนื่องจากในเดือนเมษายน 2567 อย่างไรก็ตาม
''นายกรัฐมนตรี ขอให้เร่งการปราบปรามจับกุมคนร้าย กวาดล้างบัญชีม้า ซิมม้า ปิดกั้นโซเชียลมีเดียหลอกลวงต่อเนื่อง แก้ปัญหาหลอกลวงซื้อขายออนไลน์ เพื่อให้จำนวนผู้เสียหายและมูลค่าความเสียหายจากคดีออนไลน์ลดลงโดยเร็ว ช่วยลดความเดือนร้อนของประชาชน''