7 ก.ค. 2566 มีรายงานจากรัฐสภา เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เผยว่า จากที่ตนได้ระบุถึงการศึกษาแนวทางการเข้าชื่อ ส.ว. ที่จะยื่นตีความคุณสมบัติของบุคคลที่เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ นั้นล่าสุดเห็นว่าไม่ใช่แนวทาง ไม่เหมาะสมและไม่ควรทำ
เสรี ยังระบุว่า ขณะนี้ตนทราบว่าจะมี ส.ส.ที่อาจจะเข้าชื่อเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นคุณสมบัติของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกของพรรค จึงควรปล่อยให้กระบวนการเป็นเรื่องของสภาฯ ขณะเดียวกันทราบว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของ พิธา และเตรียมจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จึงเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะมีความชัดเจน ทั้งนี้ไม่ทราบว่าจะดำเนินการทันการโหวตนายกฯ
ส่วนกรณีมีผู้เสนอว่า ในการโหวตนายกฯ ไม่ควรนำประเด็นเรื่องแก้ไขมาตรา 112 หรือคุณสมบัติของ พิธา มาตั้งแง่เพราะเป็นคนละเรื่องกัน เสรี กล่าวว่า ไม่เช่นนั้นไม่ได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้สมาชิกรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ไม่ใช่แค่เลือกหรือไม่เลือก จึงต้องพิจารณารายละเอียดให้ครบถ้วน
ทั้งนี้ เสรี ยังย้ำว่า จำเป็นต้องตัดไฟแต่ต้นลมเรื่องแก้ไขมาตรา 112 ไม่สามารถรอให้ถึงขั้นพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ได้ และตนทราบเจตนาของผู้เสนอว่า ต้องการใช้เรื่องนี้มาเป็นเวทีเปิดช่องวิพากษ์วิจารณ์สถาบันเบื้องสูง
เสรี ยังมั่นใจว่า เกิดขึ้นได้ทุกอย่าง หาก พิธา ได้รับเสียงโหวตไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา อาจเกิดสถานการณ์พลิกขั้ว เปลี่ยนข้างได้ทั้งสิ้น เพราะขึ้นอยู่กับ ส.ส.จัดทัพ
เมื่อถามถึงกรณีที่ ส.ว.มีความเห็นว่า ให้ตัดสิทธิชื่อแคนดิเดตนายกฯ ที่โหวตไม่ผ่านในรอบแรก เสรี กล่าวว่า ตามกติกาไม่มีสิ่งใดห้าม แต่อยู่ที่ความเหมาะควร หากคนที่รัฐสภาไม่เห็นชอบในรอบแรก จะเสนอกลับมาอีกเพื่ออะไร หากทำเช่นนั้นอาจจะทำให้เกิดภาพได้ว่า มีการล็อบบี้กันเกิดขึ้นหรือไม่ ทั้งที่คะแนนรอบแรกปรากฎชัดเจนอยู่แล้ว หากรอบแรกไม่ได้ รอบต่อไปต้องเปลี่ยนคน
“หากรอบสอง พรรคการเมืองยังเสนอชื่อคนเดิม ส.ว. ไม่จำเป็นต้องประท้วงหรือเดินออก แค่นั่งบนเก้าอี้และงดออกเสียงก็เพียงพอ และมีค่าเท่ากัน” เสรี ทิ้งท้าย