ไม่พบผลการค้นหา
'เศรษฐา' จับเข่าคุยม็อบค้านแลนด์บริดจ์ รับปากนำข้อเสนอไปพิจารณา เพื่อทำให้ทุกฝ่ายมีความกระจ่าง ลั่นรัฐบาลทำหลายอย่างพัฒนาภาคใต้หลายมิติ

วันที่ 23 ม.ค. ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ศูนย์การศึกษาจังหวัดระนอง กลุ่มประชาชนค้านโครงการแลนด์บริดจ์ จากพื้นที่ อ.หลังสวน อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร และ อ.เมือง จ.ระนอง รวมตัวเพื่อรอยื่นหนังสือถึง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ในโอกาสการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร จ.ระนอง ขอให้รัฐบาลชะลอโครงการแลนด์บริดจ์ 'ชุมพร-ระนอง' และมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการศึกษาที่มีตัวแทนจากประชาชนในพื้นที่ นักวิชาการ นักการเมือง และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง โดย ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ อาทิ ภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ , สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรีบางส่วน มารับหนังสือด้วยตนเอง และบรรยากาศการรับหนังสือ เป็นไปด้วยความเป็นกันเอง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้นั่งฟังกลุ่มแกนนำคัดค้านโครงการ อ่านแถลงการณ์ร่วม 10 นาที

323266_0.jpg

ช่วงหนึ่ง แกนนำกลุ่มคัดค้าน กล่าวว่า พวกเราชาวอำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ในนามเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน และเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นจังหวัดระนอง ที่มาขอพบท่านในโอกาสนี้ อาจจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์ฯ ที่ไม่อยู่ในสมการการพัฒนาของท่าน เหมือนคนบางกลุ่มที่ท่านความสำคัญมากกว่าในเวลานี้ ด้วยเพราะท่านเชื่อว่าหากโครงการนี้เกิดขึ้นได้จริง จะสร้างผลตอบแทนอย่างมหาศาลให้กับคนภาคใต้และคนไทยทั้งประเทศในภาพรวมได้ทั้งหมด 

แกนนำ กล่าวต่อว่า แม้จะมีเสียงทักท้วงอย่างหนักทั้งจากนักวิชาการและผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์รายใหญ่ของประเทศนี้ และเรื่องง่ายที่พวกเราจะบอกกับท่านว่า ชุดความคิดดังกล่าวนั้นไม่ได้เป็นความจริงทั้งหมด เพราะในที่สุดแล้วพวกเราก็จะเป็นเพียงผู้เสียสละให้กับการพัฒนา ที่จะต้องสูญเสียอาชีพ การดำรงชีวิตในถิ่นฐานเก่าแก่ของตนเอง รวมถึงต้องสูญเสียฐานทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม 

323273_0.jpg

โดยข้อเสนอของกลุ่มประชาชน ค้านโครงการแลนด์บริดจ์ ข้อหนึ่ง คือ จัดตั้งคณะทำงานหรือคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด ที่มีองค์ประกอบของหลายภาคส่วน เช่น นักการเมือง ข้าราชการ ท้องถิ่น ท้องที่ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เป็นกลไกในการดำเนินงานตามข้อเสนอทั้งหมดให้เป็นที่ประจักษ์ อันจะเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความไม่เข้าใจที่ไม่ตรงกันของประชาชนกลุ่มต่างๆ และเพื่อช่วยค้นหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาอื่นๆที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงได้ร่วมออกแบบการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของท่านและรัฐบาลตามที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา

จากนั้นนายกรัฐมนตรี กล่าวตอบว่า ท่านอาจจะมีข้อสงสัยอยู่หลายข้อ 1 ข้อสงสัยเรื่องของการโครงการแลนด์บริดจ์ ว่าครอบคลุมทุกมิติและเป็นอิสระหรือไม่ ไม่ใช่แค่โครงการแลนด์บริดจ์เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงอุตสาหกรรมที่จะตามมาอย่างต่อเนื่องในอนาคตด้วย ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนโดยเฉพาะประชาชนในท้องถิ่นตรงนี้รับฟัง และ จะนำไปพิจารณาเป็นข้อประกอบการทำเอกสาร ศึกษาเพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีความกระจ่าง ในจุดประสงค์ของการทำโครงการแลนด์บริดจ์ 

นายกฯ กล่าวต่อว่า การมายื่นหนังสือข้อเสนอในวันนี้หลายคนอาจจะข้อสงสัยในหลายข้อ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ มีความครอบคลุมเป็นอิสระหรือไม่ และมีความต่อเนื่องไปจนถึงอนาคตหรือไม่ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชน และภาคประชาคม ซึ่งรัฐบาลพร้อมรับ และจะนำไปประกอบการพิจารณาศึกษา เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความกระจ่างในจุดประสงค์ของการทำโครงการแลนด์บริดจ์ รวมถึงจะพูดคุยเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคใต้นอกเหนือจากโครงการแลนด์บริดจ์ 

323269_0.jpg

"มั่นใจว่ารัฐบาลจะทำอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว การสร้างสนามบินอันดามัน ที่จังหวัดพังงา ซึ่งมีการดำเนินการแล้วในรัฐบาลนี้ รวมถึงเรื่องการประมง ตลอดจนเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ วัฒนธรรม อาหาร กีฬา ถูกบรรจุไว้ในนโยบายของรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว ยืนยันว่า ทุกเสียงของประชาชนจะได้รับการรับฟังไตร่ตรองที่ดีจากรัฐบาลนี้" นายกรัฐมนตรี กล่าวปิดท้าย