ไม่พบผลการค้นหา
ผศ.ดร.ประจักษ์ ยกสรรพเหตุการณ์ในอดีต ย้ำ จนท.ทำตามคำสั่งได้แต่สุดท้ายต้องมีความเป็นมนุษย์ ด้านนักเคลื่อนไหวอื่นๆ วอนตำรวจคิดให้ดีว่าใครคือ 'นาย' ของตนเอง
“เรามาทำเพื่อเขา(ประชาชน) เรายอมตาย ถ้าเราถอยคือเขาเจ็บ แต่เรายอมเจ็บ” 

ประโยคข้างต้น เป็นสิ่งที่ ธนเดช ศรีสงคราม ตัวแทนกลุ่มอาชีวะฟันเฟืองประชาธิปไตย เผยกับ 'วอยซ์' หนึ่งวันหลังเกิดเหตุปะทะระหว่างกลุ่มคนเสื้อเหลืองกับทีมการ์ดอาชีวะซึ่งประจำการอยู่แนวหน้าบริเวณถนนทหาร สี่แยกเกียกกาย ส่งให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บเบื้องต้นตามข้อมูลจากศูนย์เอราวัณ กรุงเทพฯ ถึง 55 คน ในจำนวนนั้น 6 คน ถูกยิง

ราษฎร ฉีดน้ำ ควัน เบริเออร์  คณะราษฎร อาชีวะ แก๊สน้ำตา รัฐสภา
  • การ์ดอาชีวะรายหนึ่ง ระหว่างเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ยิงน้ำผสมแก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุม เมื่อ 17 พ.ย.บริเวณ สี่แยกเกียกกาย

คำถามสำคัญที่สาธารณชนต้องฉุกใจคิดคือ แม้การปะทะดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจากฝีมือของเจ้าหน้าที่ แต่เหตุใด ทั้งที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ถึงมีเจ้าหน้าที่ประจำการหน้ารัฐสภา แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลบริเวณถนนทหารซึ่งเป็นจุดสุ่มเสี่ยงเผชิญหน้าระหว่างผู้ชุมนุม 2 กลุ่ม ซ้ำร้าย ยังมีการยิงน้ำผสมแก๊สน้ำตารวมไปถึงสารเคมีอื่นๆ เข้าใส่ผู้ชุมนุมที่ไม่มีอาวุธ 


ผู้จับอาวุธคือคนตัดสินใจ

เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางการเมือง ผู้ถูกออกหมายจับในข้อหาประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี เผยว่า การสลายม็อบโดยใช้แก๊สน้ำตาที่เกิดขึ้นเมื่อ 17 พ.ย.ท้ายที่สุดแล้ว เจ้าหน้าระดับปฏิบัติการคงหนีไม่พ้นวลี ‘นายสั่งมา’ ซึ่งตนเข้าใจว่าเป็นเรื่องจริง เนื่องจากมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ปฏิบัติงานควบคุมฝูงชนหลายครั้งว่าเขาเหล่านั้นไม่ได้ต้องการทำตามคำสั่งเพียงแต่ขัดไม่ได้ 

สิ่งที่ เอกชัย ชวนตั้งข้อสังเกตุคือ ‘นาย’ คือใครกันแน่และเมื่อไหร่จะเปิดเผยตัวตนให้ชัดเจน ซึ่งในประเด็นดังกล่าว เขาชี้ว่าตนเองพอทราบมาบ้างว่า ‘นาย’ ในที่นี้คือใคร เช่นเดียวกับ 'ชลธิชา แจ้งเร็ว' อีกหนึ่งนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เสริมว่า ความรุนแรงไม่เคยเกิดขึ้นจากฝั่งของประชาชน ยิ่งไปกว่านั้น ทุกครั้งที่รัฐบาลใช้ความรุนแรงกับประชาชน ยิ่งทำให้เห็นชัดขึ้นว่าใครคือศัตรูของประชาชน

“ประชาชนฉลาด ประชาชนรู้แล้วว่านายของคุณคือใคร เราจะไม่หยุดแค่ขี้ข้า เราจะไล่เจ้าของหมา”

ม็อบ 17 พ.ย. ฝ่าด่าน ลูกเกดเจรจา
  • ชลธิชา แจ้งเร็ว นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ระหว่างเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณหน้ารัฐสภา เมื่อ 17 พ.ย.

ขณะที่ทีมโฆษกตำรวจย้ำในงานแถลงข่าววันที่ 18 พ.ย.ว่า การปกป้องความสงบเรียบร้อยเป็นหน้าที่และอำนาจของเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมาย

"ชุมนุมถ้าทำโดยสงบไม่เป็นปัญหา แต่ถ้ามีการทำลายสิ่งกีดขวาง มีการทำลายทรัพย์สินมันเป็นความผิดทางกฎหมาย ตำรวจมีอำนาจและหน้าที่ในการระงับยับยั้งอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องผิดกฎหมายและก่อให้เกิดความเสียหาย"

ด้าน เอเลียร์ ฟอฟิ ตัวแทนกลุ่มศิลปะปลดแอกซึ่งเคยถูกจับกุมจากการร่วมชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมาเล่าว่า เมื่อวันที่ตนเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับทีมการ์ดอาชีวะหวังเอาผ้าขาวขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยความในใจของผู้คนขึ้นคลุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยต้องมีการเจรจากับเจ้าหน้าที่เพื่อขอเข้าไปยังอนุสาวรีย์ฯ แต่การเจรจาไม่เป็นผลจนต้องใช้กำลังดันกันระยะหนึ่ง 

เขาเล่าต่อว่า เจ้าหน้าที่ซึ่งยืนประจันหน้ากับตนเองคือคนเดียวกันกับที่นั่งพูดคุยและดูแลเมื่อครั้งที่ถูกจับกุม ณ วินาทีนั้น เจ้าหน้าที่ตรงหน้าทำได้เพียงบอกให้ เอเลียร์ ถอยกลับไป เพราะหากใช้กำลังฝ่าฝืนเข้ามา ตัวเจ้าหน้าที่ซึ่งถูกสั่งการให้ปกป้องพื้นที่จำเป็นต้องใช้กำลังกลับ ซึ่งเอเลียร์ชี้ว่าตัวเขาและทีมการ์ดไม่ยอมถอยจนช่วงชิงพื้นที่มาได้

มุมมองของเอเลียร์ต่อวลี ‘นายสั่งมา’ เป็นการตั้งคำถามกลับไปที่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานทุกคนว่า “อยากให้เอาคำว่านายสั่งมาตั้งคำถามกับตัวเองอีกครั้งนึงว่า การที่นายสั่งเราขนาดนี้โดยที่ประชาชนได้เจรจากับตำรวจแต่นายเขาไม่ยอมทำให้เกิดการปะทะ นายคนนั้นเขาอยู่ข้างใครกันแน่ แล้วคุณกำลังทำงานให้ใคร” 

คลุมผ้าอนุสาวรีย์_๒๐๑๑๑๔.jpg
  • อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 14 พ.ย.

เอเลียร์ ยังทิ้งท้ายในส่วนของเขาสั้นๆ ว่า เขาเชื่อว่าตำรวจทุกนายมีจิตวิญญาณและความเป็นมนุษย์มากพอ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานอยู่แนวหน้าจริงๆ 

คำถามจากตัวแทนศิลปะปลดแอกข้างต้นยังมาเชื่อมโยงกับสิ่งที่ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ แสดงความเห็น ระบุว่าตนอยากให้เจ้าหน้าที่ใช้จิตสำนึกของตัวเองในการกระทำการใดๆ ก็ตาม โดยเฉพาะเมื่อเงินเดือนทุกวันนี้มาจากภาษีของประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐจึงมีหน้าที่ต้องรับใช้ประชาชน ไม่ใช่ ‘นาย’ ผู้มีตำแหน่งสูงกว่า

"นายสั่งมาต้องหันกระบอกปืนกลับไปสู่นาย" น.พ.ทศพร กล่าว
ม็อบ 18 พ.ย. หน้า สตช. นพ.ทศพร
  • นพ.ทศพร เสรีรักษ์

‘โฮโลคอสต์’ - ‘อาหรับสปริง’ สู่ 'ไทยชนะ' ?

หากนับจากวันที่ 18 ก.ค.ที่กลุ่มเยาวชนปลดแอกลุกขึ้นมาส่งเสียงถึงประชาราษฏร์ การเคลื่อนไหวดำเนินมาไม่ถึงครึ่งปีด้วยซ้ำ แต่กลับเผชิญหน้ากับความรุงแรงหลายครั้งจากยุทธวิธีสลายการชุมนุม ไปจนถึงการตั้งคำถามที่ยกระดับเป็นจากโจมตีทั้งจากฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปสถาบันสูงสุดของประเทศไปจนถึงกลุ่มคนในฝั่งเดียวกัน ส่งให้ผู้คนไม่น้อยมองไม่ออกว่าม็อบจะเป็นอย่างไรต่อไปและการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมคือสิ่งไหน 

ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดคุยพิเศษกับ ‘วอยซ์’ เมื่อ 18 พ.ย.พร้อมแนบคำบรรยายอ้างอิงประวัติศาสตร์และกรณีศึกษาในต่างประเทศจากกลยุทธ์ ‘นายสั่งมา’ ไปจนถึงแนวทางสันติวิธีที่ทำให้ผู้ชุมนุมได้รับชัยชนะ 

อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ รัฐศาสตร์ ม.ท่าพระจันทร์_190816_0007.jpg
  • ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สำหรับประเด็นแรก อ.ประจักษ์ ชี้ว่า ในยุคสมัยของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีเยอรมัน ชาวยิวกว่า 6 ล้านคนถูกฆ่าตายจากฝีมือของนายทหารตำรวจชั้นผู้น้อยในกรณีโฮโลคอสต์ ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นปฏิเสธความผิดของตนเองผ่านการอ้างว่า “เขาแค่ทำตามคำสั่ง เขาไม่อยากทำหรอก เขาไม่ได้อยากใช้ความรุนแรงแต่ว่านายสั่งมา” 

ต่อมาภายหลัง มีการตั้งกระบวนการตรวจสอบและศาลตัดสินให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการเหล่านั้นมีความผิดเช่นเดียวกัน ซึ่ง อ.ประจักษ์ อธิบายว่า “ศาลบอกว่าข้ออ้างนี้มันฟังไม่ขึ้น เพราะว่าในขณะที่คุณเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ คุณก็เป็นมนุษย์ด้วยในเวลาเดียวกัน แล้วมนุษย์ต้องมีจิตสำนึก มีมนุษยธรรมต่อคนอื่น ฉะนั้นถึงจุดนึงคุณต้องตัดสินใจได้”

สิ่งที่เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจต้องเผชิญในภาวะเช่นนั้น คือสิ่งที่ อ.รัฐศาสตร์ อธิบายว่าเป็น ‘moral choice’ หรือ ทางเลือกทางศีลธรรม พร้อมยกตัวอย่างเสริมว่า หากคุณถูกสั่งให้ไปฆ่าเด็กหรือเพื่อนบ้านที่คุณรู้จักอยู่แล้วว่าไม่ได้กระทำสิ่งใดผิด เป็นผู้บริสุทธิ์คนหนึ่ง แล้วคุณยังตัดสินใจฆ่าได้ลง คุณไม่อาจอ้างได้แล้วว่า ‘ทำตามนายสั่ง’ เพราะท้ายที่สุดแล้ว “มันก็คือข้ออ้างเพื่อปัดความรับผิดชอบ ก็เท่ากับว่าคุณในฐานะปัจเจกไม่หลงเหลืออิสระในการตัดสินใจอะไรทั้งสิ้นซึ่งมันไม่จริงไง ถึงจุดนึงทุกคนเลือกได้ทั้งสิ้น”

เมื่อกลับมาที่สถานการณ์ปัจจุบันในไทย อ.ประจักษ์ ชี้ว่า เจ้าหน้าที่ที่มาควบคุมม็อบตลอด 3-4 เดือนที่ผ่านมา ย่อมต้องประจักษ์แจ้งต่อสายตาว่าผู้มาชุมนุมมาโดนสันติ มาด้วยใจบริสุทธิ์อยากเห็นบ้านเมืองดีขึ้น ดังนั้น การตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ซึ่งมีราคาที่ต้องจ่ายและอาจต้องจ่ายค่อนข้างสูงสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้น้อยจึงเป็นต้นทุนที่ต้องคำนวณให้ดี ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เองต้องไม่ลืมว่า ผู้มาชุมนุมมีราคาที่ต้องจ่ายเช่นเดียวกันและราคาเหล่านั้นอยู่ในกำมือของผู้ควบคุมฝูงชน 

รองคณบดีฯ เชื่อมโยงต่อไปว่าวลีนายสั่งมาเช่นนี้เคยเกิดขึ้นกับกรณีอาหรับสปริงซึ่งเป็นการลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐบาลในตะวันออกกลาง แต่สุดท้าย เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจชั้นผู้น้อยเหล่านั้นเห็นว่าหน่วยงานหรือบุคคลที่ตนเองทำงานให้ทั้ง “เสื่อมทรามและคดโกง” จึงเลือกทิ้งอาวุธและหันมาร่วมกับประชาชน 

อาหรับสปริง - ตูนิเซีย - เอเอฟพี
  • ผู้ชุมนุมสวมกอดและจูบเจ้าหน้าที่ทหารในชุมนุมประท้วงที่ตูนิเซีย เมื่อ 20 ม.ค.2554

ย้อนกลับมาอีกครั้งที่ประเทศไทย อ.ประจักษ์ ชี้ว่า สำหรับตอนนี้ผู้คนคงทำได้แค่รอให้ความหวังดังกล่าวเกิดขึ้น ทว่า อ.ประจักษ์ ย้ำว่าอยากให้ทุกคนมีความหวังและต้องเชื่อมั่นว่า “คนเปลี่ยนได้” 

“คนเปลี่ยนได้ เจ้าหน้ารัฐเป็นมนุษย์ ผมเชื่อว่าก็เปลี่ยนได้” อ.ประจักษ์ ชี้

รองคณบดีฯ คณะรัฐศาสตร์ มธ.ปิดท้ายเพียงว่า ประวัติศาสตร์โลกดำเนินไปด้วยกลไกของมัน คือเมื่อคนจำนวนน้อยเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลง ส่งผ่านชุดข้อมูล แนวคิดดังกล่าวจะขยายวงไปเรื่อยๆ จนท้ายสุด คนส่วนใหญ่จะเปลี่ยนตาม และสังคมจะเปลี่ยนไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;