ไม่พบผลการค้นหา
รัฐสภาล่ม ! ปิดฉากสูตรหาร 500 ดับฝัน 'พรรคเล็ก' เฮือกสุดท้ายกฎหมายลูก หลังสมาชิกแสดงตนเพียง 349 คน ไม่ครบกึ่งหนึ่งขององค์ประชุม

วันที่ 15 ส.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ในวาระที่สอง พิจารณาเป็นรายมาตรา โดย ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ให้เวลาสมาชิกรัฐสภากว่า 1 ชั่วโมงในการลงชื่อแสดงตนเป็นองค์ประชุม จึงมีผู้มาลงชื่อครบองค์ประชุม 364 คน แบ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 165 คน และ ส.ส. 200 คน

ต่อมาในเวลาประมาณ 10.08 น. เมื่อมีผู้มาประชุมจำนวน 367 คน ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้เรียกให้สมาชิกแสดงตนกลับพบว่า ต้องรออยู่ร่วม 1 ชั่วโมง โดย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นกล่าวต่อที่ประชุมว่า รอสมาชิกแสดงตนมาสักพักแล้ว จะให้รอไปถึงเมื่อไหร่ เราต่างรู้อยู่แล้วว่า จะดำเนินไปสู่การคว่ำร่างกฏหมายลูก และนำมาสู่สุญญากาศทางการเมือง จึงทำให้ ชวน ปิดไมโครโฟน จุลพันธ์ พร้อมบอกว่า ขอบคุณสำหรับความเห็น แต่ขอให้รอต่อไปอีกหน่อย

LINE_ALBUM_220815_3.jpg

ด้าน ออน กาจกระโทก สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระบุว่า สมาชิกสภาที่มาร่วมประชุมถือว่ามีความรับผิดชอบ ส่วนท่านที่ไม่มาก็ไมได้ว่าอะไร แต่ขอเสนอให้ประธานฯ นับองค์ประชุมด้วยการขานชื่ออีกครั้ง โดย ชวน เตือนว่า อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของใคร ขอให้รอต่อไป อย่าให้มีคนเห็นว่าเราฉวยโอกาสปิดสภาทันทีทันใด 

ส่วน สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ย้ำว่า ไม่ต้องนับองค์ประชุม ขอให้รอ เพราะครั้งที่แล้วก็รอมาถึง 53 นาทีก็ทำมาแล้ว เรายังมีเวลาถึงเวลา 24.00 น. หรือเที่ยงคืนของวันนี้ ให้รอทัั้งวันก็รอได้ 

ขณะที่ ชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ย้ำว่า สภาแห่งนี้ให้โอกาสเห็นต่างกันได้ แต่วันนี้เราต้องใช้สภาแห่งนี้ลงมติเพื่อยืนยันทางเลือก แต่การล่มสภาเป็นสิ่งไม่พึงกระทำ เราเรียกร้องประชาธิปไตย แล้วสภาแห่งนี้เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ขอให้ประธานฯ รออีกสักนิด สมาชิกสภากำลังเดินทางมา หลายท่านอาจกำลังกลับใจมาแสดงตนอยู่

ขณะที่เวลาประมาณ 10.30 น. ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ใช้เวลาในการเรียกสมาชิกให้แสดงตน นานกว่าครึ่งชั่วโมง และเตือนสมาชิกไม่ให้ตำหนิกันในการแสดงท่าที ทางการเมือง เพราะเป็นเรื่องของเอกสิทธิ์ของสมาชิก ที่สุดแล้วที่ประชุมรัฐสภา ก็ไม่สามารถลงมติในร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 24/1 ได้ เพราะสมาชิกไม่ครบองค์ประชุม สภาล่มอีกครั้ง ด้วยจำนวน 349 คน จากจำนวนกึ่งหนึ่ง 364 คน จึงทำให้ไม่ครบองค์ประชุม และประธานรัฐสภาจึงได้ปิดประชุมในเวลาต่อมา 

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามมาตรา 132 (1) กำหนดให้รัฐสภา พิจารณาร่างพ.ร.ป. ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน หากไม่แล้วเสร็จ ถือว่ารัฐสภา ให้ความเห็นชอบที่เสนอร่างกฎหมายที่เสนอตามมาตรา 131 ที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณาคือร่างกฎหมายเลือกตั้งส.ส. สูตรหาร 100 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ


‘นิกร’ มองเหตุสภาล่มเป็นกลไกที่ทำได้

นิกร จำนง ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แถลงข่าวว่า เมื่อสภาพิจารณากฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่แล้วเสร็จภายใน 180 วัน จึงถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบกลับไปใช้ตามร่างแรกที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) และการที่องค์ประชุมไม่ครบในวันนี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตามกลไกรัฐสภาที่มีอยู่ 

LINE_ALBUM_220815_6.jpg

นิกร ให้ความเห็นส่วนตัวว่า สูตรการหารด้วย 500 จะมีปัญหา และวันนี้สมาชิกน่าจะเห็นชัดว่าขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ หากจะให้เดินหน้าต่อไปเกรงว่าจะถูกตีตกทั้งฉบับ ซึ่งส่วนตัวได้เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเรื่องนี้แล้ว ขณะที่สมาชิกที่เคยเห็นชอบการหารด้วย 500 และไม่ได้มาแสดงตัวเพื่อเข้าร่วมในวันนี้ อาจจะไปพิจารณาแล้วเห็นว่าอาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญ

ส่วนหลังจากนี้ สภาจะต้องส่งร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบสภาในวาระแรกให้คณะกรรมการการเลือตั้ง (กกต.) ทำความเห็นกลับมาภายใน 10 วัน ว่าจะต้องปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ แต่ส่วนตัวเห็นว่า กกต. ไม่น่าจะมีความเห็นแย้งกลับมา เพราะเป็นร่างที่ กกต. เสนอขึ้นมาเอง จากนั้นสภาจะต้องส่งไปให้นายกรัฐมนตรี และรอไว้ 5 วัน เผื่อมีสมาชิกจะเข้าชื่ออย่างน้อย 73 รายชื่อ เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ หากศาลรัฐธรรมนูญตีความผ่านแล้ว นายกรัฐมนตรีจะต้องทำขึ้นทูลเกล้าถวายฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป