ไม่พบผลการค้นหา
ภาคประชาชน ยื่นฝ่ายค้าน เดินหน้าตรวจสอบ "พล.อ.ประยุทธ์" ถวายสัตย์ปฏิญาณขัดรัฐธรรมนูญ ขอนำเรื่องที่ยื่นกล่าวหาต่อ ป.ป.ช.และศาลปกครองร่วมพิจารณาในการเปิดอภิปรายทั่วไป

นางสาวอุบลกาญจน์ อมรสิน ประธานกลุ่มองค์กร ตรวจสอบการธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม ยื่นหนังสือถึงฝ่ายค้าน โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.จังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทยเป็นตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้านมารับหนังสือ โดยสาระสำคัญคือ ขอให้ติดตาม และนำเรื่องที่เป็นข้อกล่าวหา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ต่อเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เรื่อง การถวายสัตย์ปฏิญาณ ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติ โดยการจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรี ทั้งคณะผู้ถูกกล่าวหา ร่วมกันกล่าวถ้อยคำไม่ครบถ้วน ซึ่งมีบางถ้อยคำที่ขาดหายไป แต่กลับมีบางถ้อยคำเพิ่มขึ้นมา ซึ่งไม่ตรงตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 161 โดยถ้อยคำที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ยอมกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณคือคาว่า "ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนญูแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ" แต่ไปเพิ่มเติมถ้อยคำว่า "ตลอดไป" ต่อจากคำว่า "เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน" ซึ่งถือว่าเป็นข้อความ หรือถ้อยคำที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีอำนาจที่จะตัดทอนเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ด้วยตนเอง

ทางกลุ่มฯ จึงขอให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการ ไต่สวนและมีความเห็นกรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณ ของผู้ถูกกล่าวหาว่าจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพื่อดำเนินการต่อไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 3 วรรคสอง 5 , 160 (5) ,161 ,170 (4) และมาตรา 234 (1) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2551 ข้อ 7 , 8 และข้อ 9 หรือข้อหาอื่นๆ ตามทางไต่สวนที่ปรากฏเป็นการเร่งด่วนด้วย

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2562 นางสาวอุบลกาญจน์ อมรสินได้ยื่นฟ้อง นายชวน หลีกภัย ในฐานะประธานรัฐสภา เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต่อศาลปกครองกลาง โดยมี 3 ประเด็นหลัก ที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ควรเสนอต่อศาลเพื่อพิจารณาวินิจฉัยหาข้อยุติตามกระบวนการทางกฎมาย ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งหรือมีคำวินิจฉัยว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มิได้เป็นไปตามลำดับขั้นตอนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้คือ

(1) ขั้นตอนแรกการพิจารณาให้ความเห็นชอบในการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้ร้บแต่งตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาลงมติร่วมกันของสภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน

(2) ขั้นตอนหลัง การลงมติเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรี ให้ทำในที่ประชุมร่วมกันของสภาสูงหรือรัฐสภา

โดยผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องที่ 1 รวบรัดตัดตอน ซึ่งได้มีคำสั่งให้นัดประชุมร่ว มกันของรัฐสภา โดยพิจารณารวบยอดบรรจุเป็นระเบียบวาระในคราวเดียวกันทั้งสองขั้นตอนดังกล่าว เป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น และเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 (1) , (2) และ (3)

ประเด็นที่ 2 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กล่าวถ้อยคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน โดยมีบางถ้อยคำที่ขาดหายไปแต่กลับมีบางถ้อยคำเพิ่มขึ้นมา ซึ่งไม่ตรงตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 161 โดยมีข้อเท็จจริงปรากฏตามรายละเอียดข้างต้น

การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กล่าวถ้อยคำไม่ครบถ้วนซึ่งมีบางถ้อยคำที่ขาดหายไปแต่กลับมีบางถ้อยคำเพิ่มขึ้นมา ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้อง ตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น และเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 (1) , (2) และ (3)

ประเด็นที่ 3 คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 แถลงต่อรัฐสภา วันที่ 25 ก.ค. 2562 มิได้ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 162 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "ต้องชี้แจง" ซึ่งเป็นบทบัญญัติ ถึงบทบาทหน้าที่ที่กำชับว่าต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยมิอาจหลีกเลี่ยง หรือแปลความหมายกลายเป็นอื่นได้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ละเว้นการปฏิบัติดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็น สาระสาคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น และเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ให้ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 (1) , (2) และ (3) ด้วยเหตุและผลดังกล่าว จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ ป.ป.ช. และนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองกลางดังกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :