ไม่พบผลการค้นหา
"...ทำให้กลุ่มบริษัทมีความแข็งแกร่งในการก้าวสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค...ทั้งยังสามารถสร้างโอกาสและมูลค่าให้แก่ผู้ประกอบการอื่นในประเทศและในทุกภาคส่วน""

ในคำตัดสินปลายปี 2563 ของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ที่ระบุว่าการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (CPRD) และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) ไม่มีความผิดเพราะมีเพียงอำนาจตลาดที่เพิ่มขึ้น “แต่ไม่เป็นการผูกขาด” 

คณะกรรมการฯ ยังได้ออกกฎมาเพื่อป้องกัน ‘ความได้เปรียบเกินไป’ ด้วยการห้ามไม่ให้ CPRD ไปควบรวมกับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นในตลาดร้านค้าปลีกค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภคสมัยใหม่ เป็นระยะเวลา 3 ปี แต่ไม่รวมถึงตลาดอีคอมเมิร์ซ อันนับเป็นมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบระดับบางเบาที่สุด


ปฏิบัติอย่างเชื่อฟัง: ไม่สนค้าปลีก เดินหน้าค้าส่ง 

คล้อยหลังราวครึ่งปีจากมติเสียงข้างมากที่ส่งให้ ‘เทสโก้’ ซึ่งต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ‘โลตัส’ (Lotus’s) กลับคืนสู่อ้อมอกของ ธนินท์ เจียรนวนนท์ ประธานอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (CPG)

จดหมายลงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ว่าด้วยเรื่อง การโอนกิจการทั้งหมดของบริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด (CPRH), การทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดในบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (CPH) และการเสนอขายหุ้นในบริษัทสยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ให้แก่ประชาชนทั่วไป ก็ถูกส่งถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

สรุปความได้ว่า CPRH ซึ่งถือหุ้น 99.99% ใน CPRD ซึ่งถือหุ้น 99.99% ในบริษัท โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และถือหุ้นเต็ม 100% ในบริษัท โลตัสส์ สโตรส์ (ประเทศมาเลเซีย) จำกัด จะถูกโอนให้ตกไปอยู่ใต้กิจการของแม็คโครทั้งสิ้น 

การโอนกิจการทั้งหมดในครั้งนี้ มีมูลค่ารวมราว 43,589 ล้านบาท โดยเป็นการคำนวณตามสัดส่วนการถือหุ้น 20% ของ บริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซ่ิง จำกัด (CPM) ใน CPRH โดยแม็คโคร "จะออกหุ้นเพ่ิมทุนใหม่ให้แก่ CPRH ในจำนวนไม่เกิน 5,010,323,500 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ในราคาเสนอขาย 43.50 บาทต่อหุ้น เพื่อเป็นการชำระค่าตอบแทน"

เมื่อการควบรวมเสร็จสิ้น แม็คโครจะเข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (99.99%) ใน CPRD หรือแปลว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในกลุ่มโลตัสส์

Screen Shot 2021-09-01 at 2.03.05 AM.png
  • ที่มา: เอกสารจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหลังการโอนย้ายครั้งนี้คือโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทแม็คโคร จากเดิมที่แบ่งเป็น 1.ผู้ถือหุ้นรายย่อย ในสัดส่วน 6.92% และ 2. บริษัท ซีพี ออลล์ จากัด (มหาชน) (CPALL) ในสัดส่วน 93.08% จะเปลี่ยนเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย ถูกลดสัดส่วนลงไปเป็น 3.39% เช่นเดียวกับ CPALL ที่ถูกบีบลงมาเหลือ 65.97%

ส่วนผู้เล่นสองคนจะเพิ่มเข้าไปในโครงสร้างการถือหุ้นใหม่ของแม็คโคร คือ CPM ในสัดส่วน 10.21% และ CPH ในสัดส่วน 20.43%  

แม็คโคร ค้าปลีก
  • ภาพพนักงานแม็คโครขณะปฏิบัติหน้าที่

ในส่วนเกณฑ์การพิจารณาข้อยกเว้น จากเอกสารของแม็คโคร ระบุว่า "บริษัทฯ และ CPRD ประกอบธุรกิจท่ีคล้ายคลึงกัน คือ ธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค โดย CPRD ประกอบธุรกิจ ลงทุน (Investment Holding Company) ซ่ึงถือเงินลงทุนใน กลุ่มบริษัทท่ีประกอบธุรกิจค้าปลีกในหลายรูปแบบร้านค้า ภายใต้แบรนด์ค้าปลีก โลตัสส์ การท่ีบริษัทฯ รับโอนกิจการ ทั้งหมดและถือหุ้นของ CPRD จะส่งเสริมและสนับสนุนการ ดำเนินธุรกิจท่ีดำเนินอยู่ในปัจจุบันของบริษัทฯ และทำให้กลุ่มบริษัทมีความแข็งแกร่งในการก้าวสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค...ทั้งยังสามารถสร้างโอกาสและมูลค่าให้แก่ผู้ประกอบการอื่นในประเทศและในทุกภาคส่วน"

ขณะที่รูปประโยคช่วงแรกมีความเป็นไปได้สูง จากอำนาจทางธุรกิจและผลประโยชน์ที่จะเพิ่มขึ้นมหาศาลจากธุรกรรมครั้งนี้ ประโยคท่อนหลังกลับเป็นที่น่ากังขาและต้องได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งในที่นี้คือสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าว่าการถ่ายโอนธุรกิจเช่นนี้จะนับเป็นความผิดหรือไม่


สะท้อนจากเสียงส่วนน้อย

ในวันที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเสียงส่วนมากเห็นด้วยว่า ซี.พี. ควบโลตัสไม่ผิด ฝั่งคณะกรรมการเสียงส่วนน้อยที่นำโดย สันติชัย สารถวัลย์แพศย์ และ อร่ามศรี รุพันธ์ ตั้งโต๊ะแถลงว่า การมีอิทธิพลเหนือตลาดในฝั่งค้าปลีกนั้น จะส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศ อันจะนำไปสู่การครอบงำตลาดหรือการผูกขาดทางการค้าในที่สุด

ซี.พี. ที่มีสถานะเป็นผู้ผลิตสินค้าสำคัญหลายประเภท ทั้งในส่วนของสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพในชีวิจประจำวัน "ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ" เมื่อมาผนวกรวมกับธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงอยู่แล้ว จะสร้างความยากลำบากให้คู่แข่งในตลาดเดิมหรือผู้ที่ต้องการเริ่มธุรกิจในอุตสาหกรรมดังกล่าว

คู่แข่งที่เข้ามาต้องเน้นไปที่กลยุทธ์ลดต้นทุน ตลอดจนการลดราคาแข่งขันเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาด ผลักดันให้ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยต้องออกจากตลาดไปในที่สุด เพราะไม่มีความสามารถในการแข่งขันกับ 'ผู้มีอำนาจเหนือตลาด' ทั้งยังส่งผลต่อผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบ หรือ ซัพพลายเออร์ โดยเฉพาะประเด็นอำนาจต่อรองทางการ

ท้ายสุดภาระทั้งหมดก็กลับมาอยู่ที่ฝั่งผู้บริโภคหรือประชาชนที่อาจไม่รับรู้ผลกระทบในระยะแรก แต่เป็นผู้ต้องแบกภาระในระยะยาวอย่างแน่นอน

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นคือการควบรวมในฝั่งค้าปลีกเท่านั้น เมื่อวันนี้ ซี.พี.หันมาเดินหน้าสอดผสานธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งเข้าไว้ด้วยกัน อิทธิพลของเครือเจริญโภคภัณฑ์ย่อมแผ่ขยายออกไปกว้างไกล คำถามสำคัญคือแล้วผู้กำหนดนโยบายจะดูแลประเด็นตรงนี้อย่างไร

หมายเหตุ:

ชื่อบริษัทและตัวย่อทั้งหมดในบทความนี้

บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (CPG)

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF)

บริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซ่ิง จำกัด (CPM)

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (CPH)

บริษัท ซีพี ออลล์ จากัด (มหาชน) (CPALL)

บริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด (CPRH)

บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (CPRD)

อ่านเพิ่มเติม: