ไม่พบผลการค้นหา
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เสนอการมีส่วนร่วมเพื่อหาทางควบคุมและแก้ไฟป่าอย่างบูรณาการ พร้อมยุติการใช้กฎหมายที่สุ่มเสี่ยงละเมิดชาวบ้าน

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง ข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ปัจจุบันและการจัดทำร่างกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

โดยเนื้อหาจดหมายเปิดผนึกมีดังนี้

นับจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา และได้มอบนโยบายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ ระดมสรรพกำลัง เข้าดับไฟป่า ไม่ให้ลุกลามเป็นวงกว้าง สั่งการไปถึงระดับตำบล หมู่บ้าน ให้จับตากลุ่มเสี่ยง ให้ทุกหน่วยงานคุมเข้ม และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ให้มีการเผาตลอด ช่วงห้ามเผาตามที่จังหวัดกำหนด และเร่งเตรียมการรับมือ การเผาสำหรับเกษตรกร หลังพ้นช่วงห้ามเผาด้วย

สำหรับการจุดไฟเผาป่า ต้องหาตัวผู้กระทำผิดให้ได้ และให้เร่งส่งฟ้องดำเนินคดีโดยเร็ว และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแถลงข่าวการจับกุมและดำเนินคดี อ้างเพื่อป้องปรามและเป็นตัวอย่างให้ประชาชนรับรู้ นำซึ่งการจับกุมชาวบ้านในหลายพื้นที่ โดยไม่แยกแยะและทำลายความร่วมมือของภาคประชาสังคม ดังที่ปรากฏนั้น ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จึงขอส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้

1. เราเห็นว่า วิกฤติหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ เกิดจากสาเหตุปัญหาในหลายประการ ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะกลไกและนโยบายรัฐรวมศูนย์ ทำให้ส่วนต่าง ๆ ไม่สามารถดูแลพื้นที่ป่าในวงกว้างได้อย่างทั่วถึง ขาดความรู้และไม่แสวงหาความร่วมมือจากภาคประชาสังคม ดังปรากฏไฟป่าเกิดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่ป่าสงวน พื้นที่ของทหาร หน่วยราชการต่าง ๆ เป็นส่วนมาก ขณะที่ในหลายพื้นที่ชุมชนมีการจัดการไฟอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม ทั้งการทำแนวกันไฟ การจัดเวรยามเฝ้าระวัง การเผาชนทำลายเชื้อเพลิง

เพื่อป้องกันไฟลุกลามเข้ามาในพื้นที่ป่าชุมชนหรือป่าจิตวิญญาณของชาวบ้าน ชุมชนมีนวัตกรรมและเครื่องมือในการจัดการไฟที่มีประสิทธิภาพ สามารถรับมือกับสถานการณ์ไฟป่าได้ แม้จะขาดความร่วมมือ หรือการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร แต่ก็มีภาคประชาสังคม กลุ่มกิจการเพื่อสังคม ที่เข้ามาสนับสนุนชุมชน ทั้งบริจาคหน้ากากป้องกันไฟ เครื่องเป่าลม กองทุน และเวชภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสนับสนุนชุมชนสู้ไฟป่า ซึ่งหน่วยงานรัฐควรเรียนรู้ และสร้างความร่วมมือกับชุมชนมากกว่า ที่จะมองเห็นชาวบ้านเป็นแค่ต้นเหตุ

2. ในสถานการณ์หมอกควันไฟป่าและโรคโควิด 19 ระบาดดังกล่าว ทำให้กลไกความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ระหว่างรัฐบาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับภาคประชาชนชะงักลง แม้ ขปส. จะทำหนังสือถึงรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เรื่อง ข้อเสนอการแก้ไขปัญหา ขปส. ในสถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา

โดยเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการฯ คณะอนุกรรมการฯ คณะทำงานฯ และให้ยุติการดำเนินการที่กระทบกับชุมชนอันเกิดจากกฎหมายและนโยบายใดๆ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้อง รวมทั้งให้กลไกของสำนักปลัดนายกรัฐมนตรีในฐานะกรรมการและเลขานุการ ประสานงานเพื่อแก้ปัญหากรณีเร่งด่วน แล้วก็ตาม

หากแต่ในสถานการณ์โควิดการประสานงานทุกอย่างชะงักลงเกือบสิ้นเชิง ขณะที่มาตรการของรัฐ เช่น มาตรการห้ามเผาของจังหวัดเชียงใหม่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม - 30 เมษายน 2563 รวมระยะเวลา 80 วันซึ่งชุมชมจะรอแบบนั้นไม่ได้ เพราะฝนได้ตกลงมาแล้ว อันจะเป็นอุปสรรคต่อการทำไร่หมุนเวียน การทำไร่ตามวิถีวัฒนธรรมจะยากขึ้น หากจังหวัดยังยืนยันมาตรการเช่นนั้นอยู่ ก็จะกระทบชุมชนที่ทำต้องไร่หมุนเวียนตามวิถีวัฒนธรรมที่ได้รับการคุ้มครองและฟื้นฟูตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง และมติดังกล่าวยังเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “ศึกษาและยอมรับระบบไร่หมุนเวียน” ด้วยนั้น

ดังนั้น เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ดังกล่าว เราขอเรียกร้องต่อท่านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องข้อง ดังนี้ 2.1 ในระดับพื้นที่ ให้มีการพิจารณาแผนการจัดการเชื้อเพลิงของชุมชนในแปลงเกษตร หรือไร่หมุนเวียนตามบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยให้มีการจัดแผนการเผาเชื้อเพลิงในแปลงเกษตรหรือไร่หมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพ เช่น แผนการเผาแบบรายแปลงเพื่อง่ายต่อการควบคุมเชื้อเพลิงไม่ให้มีการลุกลาม ลดการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงและหมอกควัน โดยให้คำนึงฝนฟ้าอากาศตามฤดูกาล แต่หากฝนตกลงมาเร็วขึ้น แผนการเผาเชื้อเพลิงก็ให้ปรับตามความจำเป็น เพื่อให้ฤดูกาลผลิตไปอย่างสอดคลองกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน

2.2 ในระดับนโยบาย ให้รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของ ขปส. และนายวราวุธ ศิลปอาชา ประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งประชุมเพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาดังกล่าวที่มีความเร่งด่วน ทั้งเชิงนโยบายและระดับพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ต้นแบบในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทำกินที่อยู่อาศัยและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กับ ขปส. ตามผลการเจรจาเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 อันนำมาซึ่งกรอบข้อตกลงแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับประชาชน

3.กรณีประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรื่อง ขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 จำนวน 7 ฉบับ ลงวันที่ 13 เมษายน 2563 โดยขอให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดผ่านเว็ปไซต์ของกรมอุทยานฯ ในระหว่างวันที่ 8-25 เมษายน 2563 นั้น

ขปส.เห็นว่าการกระทำดังกล่าวของกรมอุทยานฯ กำลังสร้างชนวนความขัดแย้งรอบใหม่ระหว่างรัฐกับประชาชนโดยเฉพาะชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าขึ้นมาอีกครั้ง เราขอให้กรมอุทยานฯ ยุติกระบวนการดังกล่าว เพราะประชาชนไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และร่างกฎหมายลำดับรองประกอบ พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับนี้มีเนื้อหาละเมิดสิทธิชุมชน มากกว่าที่จะอำนวยให้ชุมชนที่อยู่ในเขตป่ามีอำนาจในการจัดการทรัพยากรได้อย่างแท้จริง

เราเห็นว่า ในสถานการณ์โควิด ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าช่วงระยะเวลานี้ จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ รัฐบาลควรสนับสนุนให้ประชาชนมีความเข็มแข็งในการต่อสู้กับวิกฤติดังกล่าว ให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน ภายใต้การจัดการทรัพยากรที่เป็นธรรมและให้ประชาชนมีอำนาจอย่างแท้จริง อันจะเป็นหลังพิงให้ชุมชนมีความมั่นคงทางอาหาร มีคุณภาพชีวิตที่ดี ตามวิถีวัฒนธรรมที่งดงาม เพื่อสร้างความยั่งยืนสันติสุขสืบไป