หนึ่งในวิธีจัดการขยะในกรุงเทพฯ ตั้งแต่อดีต คือการเพิ่มจำนวนถังขยะตามจุดต่างๆ เพื่อรวบรวมขยะไปกำจัดอย่างถูกวิธี ไม่ให้มีขยะเล็ดลอดไปสู่แหล่งอื่น เช่น พื้นที่รกร้าง แม่น้ำลำคลอง หรือท่อระบายน้ำ ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมา และเมื่อย้อนไปดูนโยบายและการจัดการของ กทม. ในยุคต่างๆ ในประเด็นถังขยะก็จะพบว่า
ในช่วงของผู้ว่าฯ กทม. อรรถ วิสูตรโยธาภิบาล มีการตั้งถังรองรับขยะตามปากซอยต่างๆ เพื่อประหยัดเจ้าหน้าที่เก็บขยะ ต่อมาในยุคของสาย หุตะเจริญ ก็มีการเพิ่มถังรองรับขยะขนาด 200 ลิตรตามจุดต่างๆ ให้มากขึ้น ส่วนยุคของธรรมนูญ เทียนเงิน ได้ตั้งถังขยะไว้ตามถนนสายต่างๆ เป็นจํานวนมากเพื่ออํานวยความสะดวกแก่ประชาชน รวมไปถึงยุคของเชาวน์วัศ สุดลาภา ก็มีการขอให้ประชาชนนําขยะใส่ถุงให้เรียบร้อยแทนการใช้เข่ง เพื่อที่จะได้ไม่มีขยะเล็ดลอดไปสู่แหล่งอื่น หรือถูกสัตว์ขุดคุ้ยจนทำให้เกิดความสกปรกยากต่อการจัดเก็บ
การตั้งถังขยะตามจุดสำคัญในที่สาธารณะนั้นเริ่มต้นในยุคของอาษา เมฆสวรรค์ ที่มีนโยบายเพิ่มถังขยะตามป้ายรถเมล์ และซอยต่างๆ ให้ทั่วถึง ขณะที่จําลอง ศรีเมือง ก็มีการตั้งถังขยะตามสถานที่ต่างๆ เพิ่มขึ้น มีการขอความร่วมมือจากธนาคารต่างๆ ที่รับฝากเงินงบประมาณ ของ กทม. จํานวนหลายพันล้านบาท ให้ร่วมบริจาคถังขยะ ส่วนต้นแบบถังขยะที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันมีที่มาจากยุคของกฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ที่สั่งซื้อถังขยะสีเขียวและสีเหลืองจํานวน 36,000 ใบ มาตั้งบนบาทวิถี ห่างกันทุกระยะ 100 เมตร
ในยุคของพิจิตต รัตตกุล มีการเพิ่มถังขยะสีน้ำเงินขนาด 120 ลิตรบนบาทวิถีเพื่อให้ประชาชนที่สัญจรไปมาทิ้งขยะมูลฝอย และเพิ่มถังขยะขนาด 240 ลิตร สีเขียว สีเหลือง และสีเทาฝาแดงที่มีป้ายประกาศแยกขยะติดอยู่ข้างถัง รวมทั้งมอบหมายให้ทุกเขตบริการเก็บขนขยะอันตรายจากบ้านเรือนของประชาชนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2540 เป็นต้นไป โดยให้ทิ้งในถังสีเทาฝาแดงทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของแต่ละเดือน ซึ่ง กทม. จะทําหน้าที่เก็บขนและรวบรวมส่งไปกําจัดที่บริษัทบริหารและพัฒนาเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จํากัด (มหาชน) หรือ Genco ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป
ในขณะที่สมัคร สุนทรเวช ก็มีการเพิ่มจำนวนถังขยะขนาดความจุไม่น้อยกว่า 240 ลิตร สีเขียว 2,500 ใบ สีเหลือง 500 ใบ สีน้ำเงิน 2,000ใบ ขนาดความจุไม่เกิน 120 ลิตร จำนวน 2,000 ใบ ถังขนาดความจุไม่น้อยกว่า 20 ลิตร จำนวน 50,466 ใบ และ 40 ลิตร จำนวน 23,779 ใบ ให้กระจายทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ เรียกได้ว่าการเพิ่มจำนวนถังขยะให้มีจำนวนมากขึ้น และกระจายตัวอย่างทั่วถึงยังคงเป็นนโยบายหลักของ กทม. เสมอมา
จนเมื่อเกิดเหตุระเบิดในกรุงเทพมหานคร ปี 2549 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2549 และ 1 มกราคม 2550 ในยุคของผู้ว่าฯ อภิรักษ์ โกษะโยธิน กทม. นิคม ไวยรัชพานิช ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ในขณะนั้น ออกคำสั่งไปยังพื้นที่ 50 เขต ให้เก็บถังขยะขนาดใหญ่ออกจากพื้นที่โดยด่วน ด้วยเกรงว่าจะเป็นจุดเสี่ยงให้เกิดเหตุลอบวางระเบิดซ้ำ จากนั้น กทม. เองก็มีการเปลี่ยนรูปแบบของถังขยะในพื้นที่สาธารณะแบบใหม่ โดยเป็นถังขยะโครงเหล็กมาพร้อมถุงพลาสติกใส และแบบถังพลาสติกใส
ถึงอย่างนั้น กทม. ก็มีนโยบายเพิ่มจำนวนถังขยะในพื้นที่สาธารณะเรื่อยมา เช่น ในยุคของสุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่มีนโยบายเพิ่มถังขยะ “street furniture” (สตรีตเฟอร์นิเจอร์) 50 เขต จำนวน 50,000 ใบ หรือในยุคของอัศวิน ขวัญเมือง ที่สร้าง “คอกกั้นขยะ” ตามโครงการ “ทิ้งเป็นที่เก็บเป็นเวลา” นำร่อง 50 เขต จำนวน 252 จุด
จะเห็นได้ว่า กทม. มีนโยบายเพิ่มถังขยะในพื้นที่สาธารณะมาโดยตลอด แม้จะมีการสั่งเก็บถังขยะหลังเหตุวางระเบิดในปี 2550 แต่การสั่งซื้อถังขยะก็ไม่ได้ลดลง Rocket Media Lab ได้รวบรวมและจัดทำข้อมูล โดยอาศัยข้อมูลส่วนหนึ่งจากสำนักข่าวอิศราเรื่องการจัดซื้อถังขยะของ กทม. ตั้งแต่ปี 2544-2561 และข้อมูลจากสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. พบว่ามีรายการจัดซื้อถังขยะตลอด 20 ปีที่ผ่านมา 61 รายการ มีถังขยะเท่าที่ปรากฏจำนวนการสั่งซื้อจำนวน 1,264,658 ใบ (ไม่ปรากฏจำนวน 28 รายการและเป็นถุงขยะ 1 รายการ) รวมงบประมาณ 2,170,168,995 บาท โดยแบ่งตามสมัยดำรงตำแหน่งของผู้ว่าฯ ได้เป็น
โดยมีข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจัดซื้อถังขยะตลอด 20 ปีที่ผ่านมาคือ การจัดซื้อถังขยะในปี 2545 มีการทุจริตฮั้วประมูล โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดและมีคำสั่งลงโทษไล่ออกข้าราชการ กทม. 10 คน ซึ่งบริษัทที่ได้รับการประมูลคือ บริษัท ตรีอรรถบูรณ์ อุตสาหกรรม จำกัด ปรากฏชื่อเป็นคู่สัญญาขาย ถังรองรับมูลฝอยพลาสติก ให้กับ กทม. จำนวน 15 สัญญา มาตั้งแต่ปี 2544–2552
และแม้จะมีเหตุระเบิดในปี 2550 ซึ่งทำให้เกิดการเก็บถังขยะขนาดใหญ่ออกจากพื้นที่ แต่การจัดซื้อถังขยะของ กทม. ไม่ได้ลดจำนวนลง กลับกันยังเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคของผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่ดำรงตำแหน่งถึง 2 สมัย มีการสั่งซื้อถังขยะจำนวนมาก อย่างต่ำ 1,117,295 ใบ ด้วยงบประมาณ 1,960,262,132 บาทเลยทีเดียว
นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาขนาดถังขยะจากการจัดซื้อของ กทม. ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โดยนับเฉพาะรายการถังขยะที่มีขนาด 240 ลิตรลงไป ซึ่งเป็นขนาดใหญ่สุดที่ตั้งบนพื้นที่สาธารณะ จะพบว่า มีจำนวนอย่างน้อย 1,246,622 ใบ (ไม่ปรากฏจำนวน 13 รายการ) แต่ปัจจุบันกลับพบว่ากรุงเทพฯ นั้นมีถังขยะที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สาธารณะ เช่น ทางเท้า ป้ายรถเมล์ หน้าปากซอย ฯลฯ น้อยเต็มที ทำให้เกิดคำถามว่า ในเมื่อ กทม. มีนโยบายสั่งซื้อถังขยะเรื่อยมา และไม่ได้ลดจำนวนการสั่งซื้อลงเลยแม้แต่น้อย แล้วถังขยะเหล่านั้นหายไปไหน
Rocket Media Lab เดินทางสำรวจถนนสายสำคัญในย่านกรุงเทพฯ ชั้นในอย่างเขตพระนคร ดุสิต และป้อมปราบศัตรูพ่าย เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ตามที่ปรากฏในไลฟ์ “ยามเย็น อากาศดีลงตัวที่ คลองบางลำพู” จากเพจชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (15 มิถุนายน) พบว่า
จากนั้น 19 กันยายน Rocket Media Lab ยังได้เดินสำรวจย่านธุรกิจ อย่างเขตปทุมวัน จากหน้าห้างสยามพารากอนจนถึงแยกราชดำริ พบถังขยะเพียง 1 ใบ คือบริเวณป้ายรถเมล์หน้าวัดปทุมวนารามฯ ขณะที่อีกฝั่ง คือจากสยามสแควร์จนถึงแยกราชประสงค์ ไม่พบถังขยะเลย
โดยระหว่างการเดินสำรวจได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่กวาดขยะ ได้รับข้อมูลว่า แม้ย่านนี้จะเป็นย่านธุรกิจที่มีผู้คนหนาแน่น แต่ไม่มีถังขยะตามบาทวิถี เนื่องจากครั้งหนึ่งเคยเกิดเหตุระเบิด จึงมีนโยบายไม่ให้ตั้งถังขยะ แต่หากจำเป็นก็จะเป็นถังขยะแบบโครงเหล็ก โดยใช้ถุงขยะใส ซึ่งในความเห็นของเจ้าหน้าที่กวาดขยะนั้น การไม่มีถังขยะไม่ได้สร้างปัญหาในการทำงานมากนัก ยกเว้นบางจุดที่มีการทิ้งขยะเกลื่อนกลาดจริง เช่น บริเวณหน้าสยามเซ็นเตอร์ โดยในบริเวณอื่นนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ของห้างช่วยดูแลความสะอาดเป็นประจำอยู่แล้ว จึงไม่มีปัญหา
จากนั้นเมื่อเดินสำรวจถนนราชดำริ จากแยกราชประสงค์ไปยังสวนลุมพินี ซึ่งอาคารส่วนมากเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ ก็พบว่าไม่มีถังขยะบนฟุตบาทเลย แม้แต่ตรงป้ายรถเมล์ จะพบถังขยะก็ต่อเมื่อถึงสวนลุมพินีแล้ว ในขณะที่ฝั่งตรงข้ามก็เช่นเดียวกัน จะพบถังขยะก็ต่อเมื่อถึงศูนย์วิจัยโรคเอดส์เพียง 1 ใบ และหากเป็นจากแยกพระพรหมไปทางด้านหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ฝั่งหน้าห้างจะพบถังขยะรูปแบบโครงเหล็กแขวนถุงขยะใส 2 อัน ในขณะที่ฝั่งตรงข้าม จากห้าง เดอะ มาร์เก็ตไปจนถึงห้างเกษร ไม่พบถังขยะเลย แต่จะมีกองขยะอยู่ตามโคนต้นไม้ประปราย
ในขณะเดียวกันก็พบว่า เขตที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ ชั้นใน อย่างเขตบางนาก็ไม่มีถังขยะบนทางเท้าเช่นกัน ดังปรากฏในข่าว “ตามหา ถังขยะใน กทม. แรร์ไอเทม ผ่านนโยบายการจัดการขยะ ของผู้ว่าฯ ชัชชาติ” ของสำนักข่าว Spring News
โดยทางเขตให้เหตุผลว่า
“ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ สำนักงานเขตบางนา ขอชี้แจงเรื่องการตั้งวางถังขยะบริเวณบนฟุตบาท เนื่องจากท่านผู้บริหารไม่มีนโยบาย ให้ตั้งถังขยะบนฟุตบาท เนื่องจากทำให้เกิดความสกปรกและกีดขวางทางเดินทาง ดังนั้นจึงมีนโยบายให้ประชาชนที่พักอาศัยอยู่บริเวณริมถนนติดกับทางเท้า ให้นำขยะมัดปากถุงให้เรียบร้อยแล้วนำมาตั้งวางบริเวณหน้าบ้านหรือบริเวณตามจุดพักขยะ ตามเวลาที่สำนักงานเขตกำหนด แล้วจะมีเจ้าหน้าที่เก็บขนขยะมูลฝอยเข้ามาดำเนินการจัดเก็บขยะตามรอบเวลาครับ”
ตรงกับที่ Rocket Media Lab ได้สัมภาษณ์เจ้าของร้าน Alex & Beth บนถนนหลานหลวง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ซึ่งเป็นถนนที่อยู่ใน “เส้นทางพิเศษ” จึงไม่มีถังขยะวางบนทางเท้า ซึ่งเล่าว่า
“ตลอด 4 ปี ที่ย้ายเข้ามาอยู่ในเขตนี้ เราร้องเรียนมาโดยตลอด แต่ไม่ได้ผลใดๆ เราร้องเรียนทั้ง ส.ก. ผู้อำนวยการเขต และพี่ๆ พนักงานกวาดขยะ ก็ได้รับคำตอบว่าเป็น ‘เส้นทางพิเศษ’ ไม่สามารถตั้งถังขยะได้ เพื่อความปลอดภัย ซึ่งก็ไม่ทราบว่า การมีถังขยะไม่ปลอดภัยอย่างไร พอร้องเรียนบ่อยๆ เข้า กทม. ก็จัดการโดยจัดพนักงานกวาด มาคอยกวาดขยะที่กระจายให้ถี่กว่าเดิม หรือบางครั้งก็ถุงดำมาผูกไว้บริเวณโคนต้นไม้ แต่พอมันไม่ใช่ถังขยะ มันทำให้ขยะฟุ้งกระจาย ไม่ถูกสุขอนามัย สกปรก เป็นที่น่ารังเกียจ เป็นแหล่งของสัตว์นำโรค หนู นก สุนัข แมวจรจัด”
“จากนั้นเราได้ร้องเรียนผ่าน Traffy Fondue แต่สิ่งที่ได้ก็เหมือนเดิม คือ ทุกครั้งที่ร้องเรียน กทม. ก็จะจัดส่งพนักงานมาทำความสะอาด ก็แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ เราต้องการถังขยะ เพราะการส่งพนักงานมาทำความสะอาดเก็บกวาดให้ก็จะสะอาดแค่ชั่วโมงเดียว จากนั้นก็จะมีนก หนู สุนัข มาจิกกัดถุงดำที่ กทม. เอามาผูกไว้ ขยะก็จะฟุ้งกระจายออกมา น้ำขยะก็จะไหลออกมาสร้างความสกปรกอีก”
“หลังจากที่เราร้องเรียนไปยังเขตหลายรอบเข้า สิ่งที่เราได้กลับมาก็คือใบประกาศจากทางเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เรื่องกำหนดจุด และเวลาการทิ้งขยะ และห้ามไม่ให้วางถังขยะรุกล้ำบนทางเท้า ไม่เช่นนั้นจะมีโทษปรับ แต่กลับไม่ตอบเราว่าทำไมเขตถึงไม่สามารถจัดหาถังขยะมาวางบนทางเท้าได้ทั้งๆ ที่มันจะช่วยให้คนทิ้งขยะเป็นที่และไม่สกปรก และถนนข้างๆ เราที่อยู่ในเขตเดียวกัน มีถังขยะตั้งได้ แต่ทำไมถนนหลานหลวงกลับมีไม่ได้”
“และล่าสุดเลย เมื่อมีการร้องเรียนผ่าน Traffy Fondue ไปว่าต้องการถังขยะบริเวณพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าฯ ทางเขตกลับสามารถจัดหาถึงขยะมาวางได้ (ก.ย. 2022) ในขณะที่ฝั่งตรงข้ามบนถนนเดียวกัน ซึ่งเราร้องเรียนมา 4 ปีแล้ว กลับไม่สามารถตั้งขยะให้ได้ มันหมายความว่าอย่างไร”
อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องการตั้งถังขยะในพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะทางเท้านั้น ก็มีหลากหลายข้อเสนอ โดย รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล อาจารย์สอนภาควิชาวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยมีข้อเสนอให้ลดจำนวนถังขยะในกรุงเทพมหานคร และสร้างแคมเปญรณรงค์ใน change.org โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้ผู้รับบริการหรือผู้เกี่ยวข้องหันมาสนใจและหาวิธีจัดการอย่างถูกต้อง และสร้างทัศนคติให้ประชาชนจัดการกับขยะของตัวเองและคิดก่อนที่จะซื้อของ
ขณะเดียวกันปัญหานี้ในกรุงเทพฯ ยังมีเงื่อนไขเรื่องความปลอดภัยในเส้นทางพิเศษอีกด้วย ดังที่เห็นจากไลฟ์จากเพจ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ไม่ปรากฏถังขยะตลอดเส้นทางบางลำพูจนถึงวัดบวรนิเวศฯ เลย โดยผู้อำนวยการเขตพระนครอธิบายว่า
“เป็นเรื่องความปลอดภัยในเขตพิเศษ ทั้งนี้บางประเทศก็มีแนวคิดว่า ทุกคนต้องรับผิดชอบขยะของตัวเอง เมื่อผลิตขยะก็ต้องเก็บนำกลับไปทิ้งที่บ้านของตัวเอง ตัวอย่างเช่นประเทศญี่ปุ่น ที่เข้มงวดและจริงจังการสอนให้เด็กๆ รู้จักการจัดการขยะปลูกฝังนิสัยกันตั้งแต่วัยเยาว์ ซึ่งจะติดตัวพวกเขาไปตลอดชีวิต”
แต่จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ไม่เพียงแค่เขตพิเศษ หรือเส้นทางพิเศษเท่านั้น ที่ไม่ปรากฏถังขยะในพื้นที่สาธารณะอย่างทางเท้าเลย ในเขตอื่นของกรุงเทพฯ ก็หาถังขยะได้ยากไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ หรือเขตพื้นที่รอบนอก และปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงการทิ้งขยะไม่เป็นที่จนก่อให้เกิดความสกปรกเท่านั้น แต่ยังอาจจะรวมไปถึงการที่เราไม่มีถังขยะรองรับในที่สาธารณะเพียงพอ ทำให้ขยะหลุดรอดสู่ท่อระบายน้ำหรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ จนอุดตันและเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้น้ำท่วม เนื่องจากระบายน้ำไม่ทัน
จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า ภายใต้การทำงานของผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ที่ชูนโยบายสิ่งแวดล้อมและการจัดการขยะ ปัญหาถังขยะที่มีน้อยบนพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพ จะได้รับการจัดการอย่างไร
ดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-bkk-bin