ไม่พบผลการค้นหา
เลขาฯ UN เตือนภัยจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น กระทบประชากรโลก 1 ใน 10 คน ไม่ต่างจากโทษประหารชีวิตสำหรับประเทศเปราะบาง และอาจทำให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่

(14 ก.พ.) อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ หรือ UN ประกาศเตือนถึงภัยคุกคามจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนเกือบ 900 ล้านคน หรือเท่ากับ 1 ใน 10 คนจากประชากรโลก ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลและประเทศที่เป็นเกาะขนาดเล็ก หลังข้อมูลใหม่ชี้ว่า ระดับน้ำทะเลในปัจจุบันได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1900

ในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ว่าด้วยผลกระทบของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ กูเตร์เรส กล่าวว่า ขณะนี้ ประเทศต่างๆ อาทิ บังกลาเทศ จีน อินเดีย และเนเธอร์แลนด์ เช่นเดียวกับเมืองใหญ่อย่าง กรุงเทพมหานคร บัวโนสไอเรส จาการ์ตา ลากอส ลอนดอน ลอสแอนเจลิส มุมไบ มาปูโต นิวยอร์ก และเซี่ยงไฮ้ กำลังเผชิญปัญหาดังกล่าว

นอกจากนี้ ข้อมูลจาก NASA เผยว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีส่วนทำให้โลกร้อนยิ่งขึ้น ส่งผลให้ธารน้ำแข็งและแผ่นน้ำแข็งละลายลงอย่างรวดเร็ว โดยมวลน้ำแข็งแถบแอนตาร์กติกาละลายตัวลงประมาณ 1.5 แสนล้านตันต่อปีโดยเฉลี่ย ขณะที่ครอบน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์เองก็ละลายลงอย่างรวดเร็วราว 2.7 แสนล้านตันต่อปี

กูเตร์เรส ยังกล่าวด้วยว่า ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา อุณหภูมิของมหาสมุทรอุ่นขึ้นอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าช่วงเวลาใดๆ ในรอบ 11,000 ปี และอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกก็กำลังพุ่งเกินขีดจำกัดความร้อน ซึ่งอยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ไปแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะพุ่งสูงขึ้นไปถึง 2.8 องศาเซลเซียส โดยหากเป็นเช่นนั้น วิกฤตที่เกิดขึ้นก็ไม่ต่างจากโทษประหารชีวิตสำหรับคนในประเทศเปราะบาง โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา และอาจถึงขั้นทำให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่หลวงของประชากรโลก

ทั้งนี้ เลขาธิการ UN ได้ยกตัวอย่างผลกระทบของภาวะโลกร้อนและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นต่อชุมชนและประเทศต่างๆ โดยระบุว่า ในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า เมื่อธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยละลายและลดขนาดลง แม่น้ำสินธุ แม่น้ำคงคา และแม่น้ำพรหมบุตร ก็จะลดขนาดลงด้วยขณะเดียวกัน ผู้คนหลายร้อยล้านคนที่อาศัยอยู่ตามลุ่มแม่น้ำบนเทือกเขาหิมาลัย ก็จะได้รับผลกระทบ จากทั้งระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและการรุกล้ำของน้ำเค็มเข้ามาในพื้นที่อยู่อาศัย โดยปัจจุบันภัยคุกคามในลักษณะเดียวกัน ยังสามารถพบได้บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงและอีกหลายแห่ง ซึ่งอาจทำให้ชุมชนและประเทศที่เป็นพื้นที่ต่ำสูญหายไปตลอดกาล

เลขาฯ UN ย้ำว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศจำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขที่ต้นเหตุ นั่นคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อจำกัดขอบเขตของภาวะโลกร้อน และยังจำเป็นต้องพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติล่วงหน้า ผลักดันให้มีการคุ้มครองผ่านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน เพื่อรองรับการพลัดถิ่นของผู้คน รวมถึงการสูญเสียดินแดนและพื้นที่อยู่อาศัยในอนาคต

ที่มา : UN News, Aljazeera