นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้ออกมาแสดงความกังวลต่อกรณีที่ พล.อ.รักศักดิ์ โรจน์พิมพ์พันธุ์ ผอ.สำนักนโยบายและแผนกระทรวงกลาโหม ออกมายอมรับข้อเท็จจริงตามที่มีเอกสารเผยแพร่ออกในสื่อสังคมออนไลน์ ว่ากระทรวงกลาโหมได้จัดประชุมร่วมกันจริงระหว่าง กสทช., กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือต่างๆ เข้ามาประชุมร่วมกันเพื่อพัฒนาระบบในการติดตามตัวประชาชนตามหมายเลขโทรศัพท์ เพื่อดูประวัติการเดินทางย้อนหลังของประชาชน
โดยเนื้อหาในเอกสารได้ระบุถึงการขอข้อมูลสามส่วน ประกอบไปด้วย 1. ตำแหน่งที่อยู่ของประชาชน เช่น ข้อมูลตำแหน่งทุกๆ 10 นาทีของผู้ติดเชื้อ 2. ข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ทั้งหมดที่อยู่ในบริเวณโดยรอบที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่การแพร่ระบาดโดยกรมควบคุมโรค และ 3. ข้อมูลตำแหน่งที่อยู่ของผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อทุกๆ 1 ชั่วโมงย้อนหลังเป็นเวลาหนึ่งวัน
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อ ว่าจากกระแสข่าวดังกล่าว ทำให้พวกเรามีความกังวลใจเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐกำลังจะใช้อำนาจเกินขอเขตความจำเป็นในการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือไม่ เพราะในเอกสารดังกล่าวมีการอ้างถึงการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการขอข้อมูลต่างๆ ส่งให้กรมควบคุมโรคหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
แต่ที่น่ากังวลคือการขอข้อมูลทั้งสามส่วนนี้ ไม่มีการระบุระยะเวลาในการจัดเก็บข้อมูลและการทำลายข้อมูลทิ้ง เพราะหากลงไปดูในเอกสารฉบับนี้ ระบุว่าให้ใช้วิธีการวางไฟล์ส่งให้กรมควบคุมโรค แต่หลังจากนั้นไม่มีการระบุว่ากรมควบคุมโรคจะต้องทำลายข้อมูลในส่วนนี้ทิ้งเมื่อไหร่
ประการต่อมา ไม่มีการระบุว่าใครเป็นคณะกรรมการในการกำกับดูแลใช้ข้อมูลส่วนนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตลอดจนไม่มีการระบุว่าใครจะเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจว่าจะเริ่มใช้ระบบติดตามลักษณะนี้เมื่อสถานการณ์ถึงจุดใด
และสุดท้าย ไม่มีการระบุว่าประชาชนที่กำลังถูกรัฐติดตามอยู่นั้นจะรู้ตัวหรือไม่ มีการแจ้งเตือนผ่าน sms หรือไม่ว่ารัฐกำลังติดตามพวกเขาผ่านสัญญาณโทรศัพท์มือถืออยู่ พวกเราอยากให้มีการแจ้งเตือนกับประชาชนที่กำลังถูกรัฐติดตามอยู่ เช่น ผ่านทาง sms เพื่อให้พวกเขารู้ตัวว่ารัฐกำลังจะติดตามประวัติการเดินทางของเขาด้วยเหตุแห่งการควบคุมโรค
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราอยากเน้นย้ำว่า ความโปร่งใสเป็นสิ่งสำคัญในการทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนกลับมา เพราะจากกระแสข่าวที่ผ่านมาแพลตฟอร์มไทยชนะยังขาดความเชื่อมั่นจากประชาชนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการได้รับ spam sms ในช่วงเวลาพร้อมๆ กับที่มีการสแกนคิวอาร์โค้ดของไทยชนะ หรือการเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออกไปอีกหนึ่งปี ทำให้ประชาชนหลายๆ คนขาดความเชื่อมั่นในการให่ความร่วมมือกับรัฐ
"ดังนั้น สิ่งที่รัฐควรทำคือการออกมาให้ความเชื่อมั่นกับประชาชน อย่าอ้างหรือบังคับให้ประชาชนต้องเลือกระหว่าง security หรือ privacy เพราะความมั่นคงปลอดภัยของสังคมโดยรวมจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าขาดความร่วมไม้ร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในสังคม สิ่งนั้นจะเกิดขึ้นได้รัฐต้องให้ความเชื่อมั่นและคาวมโปร่งใส ว่าข้อมูลและสิทธิส่วนบุคคลของพวกเขาจะได้รับความคุ้มครองจากหน่วยงานของรัฐ" นายณัฐพงษ์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง