นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ก.พ. เห็นชอบปรับโครงสร้างและฐานเงินเดือนสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ทั้งธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เนื่องจากทั้ง 3 แห่งไม่ได้ปรับฐานเงินเดือนมาหลายปี ตั้งแต่ปี 2552, 2554, 2558 จึงต้องการปรับฐานให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจปัจจุบัน และแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ได้ โดยเฉพาะระดับปฏิบัติการ
สำหรับธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. ฐานตั้งแต่ 9,000-250,000 บาทต่อเดือนส่วน ธอส.ตั้งแต่ 9,000-220,000 บาทต่อเดือน ภาพรวมไม่เกินร้อยละ 1 ของเงินเดือน โดยการปรับเพิ่มโครงสร้างอัตราเงินเดือนของธนาคารทั้ง 3 แห่ง ไม่เป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดิน ไม่มีการผลักภาระให้กับผู้ใช้บริการ หลังจากนี้บอร์ดของ 3 ธนาคารจะพิจารณาปรับเพิ่มไม่เกินร้อยละ 1 เงินเดือน และปรับเพิ่มเพียงครั้งเดียวในช่วง 2 ปีนี้
ด้านนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้บอร์ดแต่ละแห่งพิจารณาปรับเงินเดือนให้เหมาะสม เพื่อให้พนักงานที่เงินเดือนไม่ถึง 9,000 บาท ปรับให้ถึงฐานขั้นต่ำ เพื่อให้ระดับปฏิบัติงานแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ การปรับครั้งนี้ใช้เป็นกรอบเวลา 2 ปี จากนั้นค่อยพิจารณาอีกครั้ง ยอมรับว่าการปรับโครงสร้างครั้งนี้ ไม่ได้หาเสียงทางการเมือง เพราะไม่ได้ปรับมานานและผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจแล้ว
ทั้งนี้ ตามรายงานผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 5 ก.พ. ระบุว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบการปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนพนักงานธนาคารออมสิน ตามมติคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครรส.) ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ตามมติ ครรส. ครั้งที่ 5/2561 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2561 ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ
2. เห็นชอบการปรับเพิ่มเงินเดือนของพนักงานธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และ ธอส. โดยให้ปรับเพิ่มเงินเดือนพนักงานที่ยังไม่ถึงอัตราขั้นต่ำของกระบอกเงินเดือนให้ได้รับในอัตราขั้นต่ำในลำดับแรก และปรับเพิ่มเงินเดือนเพื่อชดเชยพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการที่พนักงานได้รับการปรับเงินเดือนเข้าสู่ระดับขั้นต่ำ โดยให้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจพิจารณาแนวทางการชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับเงินเดือนเข้าสู่ระดับขั้นต่ำได้ตามแนวทางที่เหมาะสม โดยรวมแล้วไม่เกินร้อยละ 1 ของฐานเงินเดือนพนักงาน ทั้งนี้ ให้ปรับเพิ่มได้เพียงครั้งเดียวตามมติ ครรส.
3. การขอปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนและการขอปรับเพิ่มเงินเดือนในแต่ละครั้งจะต้องเว้นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปีขึ้นไป โดยมิให้นำเหตุแห่งการปรับเงินเดือนของข้าราชการมาเป็นประเด็นในการพิจารณา
โดยการปรับปรุงสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงิน ของพนักงานธนาคารออมสิน พนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และพนักงานธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เป็นไปตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 13 วรรคสาม บัญญัติให้ในกรณีที่รัฐวิสาหกิจใด เห็นสมควรปรับปรุงสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินที่อยู่นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ตามมาตรา 13 (2) จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครรส.) และคณะรัฐมนตรีก่อนจึงจะดำเนินการได้ โดย ครรส. ได้เห็นชอบในเรื่องนี้แล้วในคราวประชุม ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 และ ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2561
กระทรวงการคลังแจ้งว่า ภายหลังจากที่มีการปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนในครั้งนี้ ทั้ง 3 ธนาคารมีแผนจะใช้เงินรายได้ของตนเองเพื่อจ่ายเป็นค่าตอบแทนพนักงานที่เพิ่มขึ้น จึงไม่เป็นภาระงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเงินรายได้ดังกล่าวจะนำมาจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานในการสร้างรายได้มาชดเชยและการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ โดยไม่ผลักภาระให้แก่ผู้ใช้บริการ