การประชุมฉุกเฉินของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติลงมติต่อต้านรัสเซียในการรุกรานยูเครน ด้วยจำนวน 141 จาก 193 รัฐสมาชิก โดยมี 35 รัฐสมาชิกที่งดออกเสียง และอีก 5 รัฐสมาชิกที่ลงคะแนนต่อต้านมติการไม่เห็นด้วยกับการรุกรานยูเครนในครั้งนี้ อย่างไรก็ดี ไทยเป็นอีกหนึ่งรัฐทั้งสิ้น 141 รัฐ ที่ลงคะแนนเสียงไม่เห็นด้วยกับการรุกราน
รัฐสมาชิกที่ลงคะแนนเสียงค้านกับมติในครั้งนี้ประกอบไปด้วย เบลารุส เกาหลีเหนือ เอริเทรีย และซีเรีย ในขณะที่คิวบาและนิการากัวที่ออกตัวเข้าข้างรัสเซียในครั้งแรก เลือกที่จะลงมติงดออกเสียงเช่นเดียวกันกับจีน
มติในครั้งนี้ระบุว่า สหประชาชาติ “ต่อต้านการรุกรานอย่างแรงกล้าจากการรุกรานของสหพันธรัฐรัสเซียต่อยูเครน” และเรียกร้องให้ “สหพันธรัฐรัสเซียหยุดการใช้กองกำลังต่อยูเครนในทันที” ตลอดจน “ถอนกองกำลังทางทหารในทุกรูปแบบโดยทันที อย่างสมบูรณ์ และไร้เงื่อนไข”
อย่างไรก็ดี มติในครั้งนี้ไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย และเป็นเพียงการสะท้อนภาพความรู้สึกของชาติสมาชิกสหประชาชาติโดยรวมต่อกรณีการรุกรานรัสเซียต่อยูเครน เพื่อกดดันรัสเซียและเบลารุสต่อการกระทำอันขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศในครั้งนี้
“ผู้สูงอายุบางส่วนของชาวยูเครนและรัสเซียอาจจะจำถึงช่วงเวลาเหล่านี้ได้ ช่วงเวลาที่ชาติยุโรปที่ก้าวร้าวรุกรานชาติยุโรปอื่นๆ โดยปราศจากข้ออ้างความชอบธรรมเหนือดินแดนของเพื่อนบ้าน ช่วงเวลาที่เผด็จการของยุโรปประกาศว่าเขาจะนำจักรวรรดิของตนกลับคืนมาเพื่อเกียรติภูมิอันรุ่งโรจน์ และการรุกรานที่ก่อให้เกิดสงครามอันน่าหวาดกลัว ที่ก่อให้องค์การนี้ (สหประชาชาติ) เกิดขึ้น” ลินดา โทมัส-กรีนฟีลด์ ทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติระบุเปรียบเทียบสิ่งที่รัสเซียกระทำว่าไม่ต่างอะไรไปจากนาซีเยอรมนีในอดีต
เซอร์จิว ไกส์ลิทส์ยา ผู้แทนถาวรยูเครนประจำสหประชาชาติเรียกร้องไปยังชาติที่งดออกเสียงต่างๆ ว่าเป็นเสมือนความคิดว่า “นี่ไม่ใช่สงครามของตน” ก่อนระบุว่า “มันคือความผิดพลาด ความชั่วร้ายจะไม่มีวันหยุดลง มันต้องการพื้นที่ที่จะเอาชนะมากและมากยิ่งขึ้น ถ้าเราอดทนกับมัน มันจะยิ่งยกระดับตัวเองมากยิ่งขึ้นและยิ่งขึ้น ร่างมติในครั้งนี้เป็นการสร้างกำแพงเพื่อหยุดมันในยูเครน และไม่ให้มันทำอะไรไปมากกว่านี้”
ในขณะที่ วาซิลี เนเบนซ์ยา ผู้แทนถาวรรัสเซียประจำสหประชาชาติอ้างว่า รัสเซียไม่ได้เล็งเป้าหมายไปที่พลเรือนยูเครน ก่อนกล่าวหาว่าการลงคะแนนในครั้งนี้เกิดจากการร่วมมือกันของพันธมิตรยูเครนกับตะวันตก ทั้งนี้ รัสเซียเองเคยลงคะแนนวีโต้ในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจากมติเรื่องการรุกรานยูเครนมาแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (25 ก.พ.)
ที่มา:
https://www.documentcloud.org/documents/21314169-unga-resolution