จากรณีสถานการณ์โควิด 19 ระบาดรอบที่ 3 ในไทย จำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้ที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว จำนวนยาฟาวิพิราเวียร์ที่ไทยเคยนำเข้าหลายแสนเม็ด เริ่มมีคำสั่งให้ รพ.ใช้อย่างประหยัด เอ็นจีโอและนักวิชาการที่ทำงานส่งเสริมการเข้าถึงยาเรียกร้องให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาตัดสินใจ ยกคำขอรับสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์ด่วน เปิดทางองค์การเภสัชเร่งผลิต
โดย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ เข้าทวงถามกรมทรัพย์สินทางปัญญาอีกครั้ง หลังจากที่เคยยื่นเอกสารข้อมูลที่ยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ควรได้สิทธิบัตรให้กับอธิบดีเมื่อ 17 ก.ค. 2563 และได้เข้าพบอธิบดีเพื่อให้เร่งการพิจารณาเมื่อ 26 ม.ค. 2564 เพราะประเทศไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาการระบาดโควิด 19 อีกระลอกและจำเป็นต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์อีกจำนวนมาก
เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า จนถึงวันนี้ยังไม่มีคำตัดสินออกมา และยังให้โอกาสบริษัทยาแก้ไขเอกสารคำขอได้อีก เป็นการซื้อเวลาออกไปอีก ดังนั้นถ้าการพิจารณาคำขอสิทธิบัตรยังล่าช้าอยู่เช่นนี้ ตัวแทนภาคประชาสังคมเรียกร้องรัฐบาลให้ประกาศใช้มาตรการสิทธิโดยรัฐ หรือมาตรการซีแอลกับยาฟาวิพิราเวียร์ อย่างที่เคยประกาศใช้ในปี 2549 – 2550 เพื่อนำเข้าหรือผลิตยาเอง และนำมารักษาผู้ป่วย
"ในร่าง พรบ. สิทธิบัตร ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญายกร่าง ได้แก้ไขให้ใช้มาตรการซีแอลได้ยากขึ้น ภาวะโควิด 19 แสดงให้เห็นแล้วว่า การผูกขาดด้วยสิทธิบัตรเป็นปัญหา ชิลี อิสราเอล เอกวาดอร์ และรัสเซียประกาศใช้มาตรการซีแอลกับยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ป้องกันและรักษาโควิด 19 แล้ว เยอรมนี แคนาดา อินโดนีเซียออก พ.ร.บ.ฉุกเฉิน ให้แก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตรเพื่อลดขั้นตอนให้ประกาศใช้มาตรการซีแอลได้ง่ายขึ้น
"ในองค์การการค้าโลก แอฟริกาใต้และอินเดียยื่นข้อเสนอต่อองค์การการค้าโลก ให้ระงับการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาทุกประเภท เพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการเข้าถึงยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์การแพทย์ ที่ใช้ต่อสู้กับวิกฤตโควิด 19 ซึ่งสมาชิกองค์การการค้าโลกกว่าครึ่งสนับสนุน"
นอกจากนี้ ในความตกลง CPTPP ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และรัฐสภามีความเห็นชอบแล้วว่าประเทศไทยไม่ควรเข้าร่วม แต่รัฐบาลยังดื้อดึงพยายามที่จะเจรจาขอเข้าร่วมโดยไม่ฟังเสียทัดทาน การใช้มาตรการซีแอลอาจถูกใช้เป็นเหตุในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายผ่านอนุญาโตตุลการได้ และไทยจะต้องมีค่าใช้จ่ายด้านยามากขึ้นนับหมื่นล้าน เพราะเงื่อนไขในความตกลง CPTPP
นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่านี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลพึงกระทำ กรณีนี้ถือว่าเป็นวิกฤตของประเทศ รัฐบาลต้องกล้าประกาศใช้ซีแอล โดยจะหวังพึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้ รัฐบาลต้องมีวิสัยทัศน์และมองการแก้ปัญหาของประเทศอย่างฉลาดกว่านี้ โดยเห็นว่าองค์การเภสัชกรรมมีความพร้อมที่ผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ โดยได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนยาเบื้องต้นกับสำนักงานคณะกรรมอาหารและยา (อย.) ไปแล้ว และคาดว่าจะได้รับทะเบียนตำรับยาในเดือนกันยายนนี้
สำหรับบริษัทยาในอินเดียหลายบริษัทสามารถผลิตยาฟาวิพิเวียร์ได้เช่นกัน ยาฟาวิพิราเวียร์ที่จะผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมหรือที่ขายแล้วโดยบริษัทยาในอินเดียมีราคาถูกว่าที่ไทยซื้ออยู่อย่างน้อยมากกว่า 50% ในขณะที่ยาฟาวิพิราเวียร์ที่ไทยสั่งล็อตต่อไปจะมาจากญี่ปุ่นภายใน เม.ย. นี้
ภาพ:168healthycare