ไม่พบผลการค้นหา
คาดว่าน่าจะมีการสมัครรับเลือกตั้งช่วงปลายเดือน มี.ค. หรือต้นเดือน เม.ย. และน่าจะมีการเลือกตั้งไม่เกิน พ.ค. ที่จะถึงนี้

หลังจากเปิดตัวผู้สมัครสภากทม. หรือ สก. ทั้ง 50 เขต พร้อมกับ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ “ดร.เอ้” ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา วันนี้ (27 ก.พ. 65) พรรคประชาธิปัตย์จัดประชุมผู้สมัคร สก. ทั้ง 50 เขต เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการสมัครรับเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการสมัครรับเลือกตั้งช่วงปลายเดือน มี.ค. หรือต้นเดือน เม.ย. และน่าจะมีการเลือกตั้งไม่เกิน พ.ค. ที่จะถึงนี้

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส. และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ผู้สมัคร สก. ของพรรคประชาธิปัตย์ที่แถลงข่าวเปิดตัวไปแล้ว “ได้ทำงานอย่างหนักในพื้นที่ช่วยเหลือดูแลพี่น้องประชาชนในช่วงโควิดระบาดอย่างหนักตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งการประสานงานหาเตียง จัดตั้งศูนย์พักคอย แจกหน้ากากอนามัย จัดตรวจ ATK ประสานเรื่องการฉีดวัคซีน รวมถึงการมอบถุงน้ำใจเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน”

27-2-2022 ประชาธิปัตย์ประชุมสก.jpeg

ในส่วนของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามพรรคประชาธิปัตย์ คือ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายองอาจกล่าวว่า “ได้ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เปิดตัวลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. โดยได้ลงไปพบปะพูดคุยกับชาวบ้านตามพื้นที่ต่างๆ รับฟังถึงปัญหาในพื้นที่ซึ่งมีอยู่มากมายหลายปัญหาที่ยังรอการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น”

พร้อมระบุว่า ถึงแม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาผู้บริหาร กทม. หลายยุคหลายสมัยจะพยายามปรับเปลี่ยนกรุงเทพให้ก้าวหน้าขึ้นตามสมควรแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไขปรับเปลี่ยนอีกมาก ทั้งนี้นายองอาจเชื่อมั่นว่า ทั้ง สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. และผู้สมัคร สก. ของพรรคจะทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องชาว กทม.


ผู้ว่าฯ และสมาชิกสภา กทม. มีหน้าที่อะไร?

เว็บไซต์ ELECT.in.th เคยเขียนอธิบายหน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานครไว้ ดังนี้

หน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม.:

  • กำหนดนโยบายทิศทางการแก้ไข พัฒนา และบริหารราชการให้เป็นไปตามแผน
  • มีอำนาจในการสั่งการที่เกี่ยวกับราชการของ กทม. และรักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติ กทม.
  • จัดการเรื่องการบริหารภายในหน่วยงาน กทม. ให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • แต่งตั้งหรือถอดถอนรองผู้ว่า และตำแหน่งข้าราชการการเมืองอื่นๆ และบริหารจัดการเรื่องข้าราชการประจำของ กทม.
  • มีหน้าที่ในการนำนโยบายจากรัฐบาลกลางมาปฏิบัติ
  • หน้าที่อื่นที่กำหนดไว้ในกฎหมายอื่นว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของ กทม.

แต่การทำงานของผู้ว่าฯ กทม. ต้องอาศัยการตรวจสอบจากตัวแทนของประชาชนอย่างสมาชิกสภา กทม. เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจของผู้ว่าฯ ไม่ให้ผู้ว่าฯ กระทำการใดๆ โดยไม่ได้รับการตรวจสอบหรือตั้งคำถามจากตัวแทนประชาชน

หน้าที่ของสมาชิกสภา กทม.:

  • เสนอและพิจารณาให้ความเห็นชอบในการตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร (เปรียบเสมือนการออกกฎหมายในสภา สส.)
  • พิจารณาและให้ความเห็นชอบในร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีซึ่งเป็นการพิจารณางบประมาณทุกหน่วยงานของกรุงเทพมหานครที่ฝ่ายบริหารตั้งมาว่ามีเหตุผลเหมาะสมอย่างไร และจะเพิ่มหรือลดให้เป็นไปตามกระบวนการของการออกข้อบัญญัติ
  • ควบคุมการบริหารงานของฝ่ายบริหารด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ตั้งกระทู้ถาม เสนอญัตติให้ กทม. ทำสิ่งต่างๆ หรือการเปิดอภิปรายทั่วไปให้ข้อเสนอแนะต่อการทำงานของผู้ว่าฯ และ กทม. ได้

ผู้กำหนดทิศทางการพัฒนา กทม. อย่างผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมถึงตัวแทนประชาชนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงาน กทม. อย่างสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ทั้งสองต่างมาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาว กทม.

โดยปกติจะมีการเลือกตั้งกันทุกๆ 4 ปี อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อ 3 มีนาคม 2556