มาจนถึงสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทาง ทร. โดย ‘บิ๊กหรุ่น’ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ เป็น ผบ.ทร.ในขณะนั้น ได้ปัดฝุ่นอีกครั้ง เสนอ ครม.จัดซื้อเรือดำน้ำเยอรมันชั้น 206A แต่เป็นมือ 2 รวม 6 ลำ สุดท้ายก็มีชะตากรรมไม่ต่างจากคราวก่อน ถูกตีตกไปเช่นกัน
จนมายุค คสช. ปี 2558 ในสมัย ‘บิ๊กตั้ม’ พล.ร.อ.ไกรสร จันสุวาณิชย์ เป็น ผบ.ทร. ได้ปัดฝุ่นอีกครั้ง โดยมี พล.ร.อ.ณรงค์พล บางช้าง ผู้ช่วย ผบ.ทร.ขณะนั้น เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ
สำหรับประเทศที่เสนอมา 6 ประเทศ ได้แก่ ประเทศเกาหลีใต้ รุ่น DSME1400 รวม 2 ลำ , ประเทศฝรั่งเศส รุ่น Scorpene 1000 รวม 2 ลำ, ประเทศสวีเดน รุ่น NGS(T) รวม 2 ลำ , ประเทศรัสเซีย รุ่น Kilo 637 รวม 2 ลำ และประเทศจีน รุ่น Yuan Class S26T รวม 3 ลำ .
สุดท้ายคณะกรรมการมีมติจัดซื้อเรือดำน้ำจีน 3 ลำ มูลค่า 36,000 ล้านบาท โดยเป็นแพ็คเกจรวมโรงซ่อมบำรุง การฝึกกำลังพล อะไหล่ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นยุคที่ไทยและจีนมีความสัมพันธ์ที่แนบชิด ผลพวงจากการรัฐประหาร 22พ.ค.2557 ที่สหรัฐฯลดระดับความสัมพันธ์กับไทยลงไป แต่สุดท้าย ครม. ก็ตีตกไป โดยให้ ทร. กลับไปพิจารณามาใหม่
จนมาช่วง เม.ย. 2560 ในยุค ‘บิ๊กณะ’ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ เป็น ผบ.ทร. ได้ปัดฝุ่นอีกครั้ง โดยยึดตามที่คณะกรรมการชุดเดิมที่ได้พิจารณาไว้คือเรือดำน้ำจีน 3 ลำ โดยขณะนั้น ‘บิ๊กลือ’ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสธ.ทร. ทำหน้าที่ ปธ.คณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ แต่ครั้งนี้ ทร. สมหวัง กับฝันที่เป็นจริง ครม. ได้อนุมัติจัดซื้อเรือดำน้ำจีน 1 ลำ รุ่น Yuan Class S26T มูลค่า 13,500 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณ 7 ปี ตามแผนของ ทร. คือมีเรือดำน้ำ 3 ลำ ภายในระยะเวลา 11 ปี
กระแสวิพากษ์วิจารณ์นำมาสู่ พล.ร.อ.ลือชัย ที่นำ ทร. แถลงข่าวบน ร.ล.จักรีนฤเบศร ยาวกว่า 3 ชั่วโมง ถึงเหตุผลความจำเป็น ทั้งนี้ ทร. ได้เปิดเผยความคืบหน้าล่าสุด (ก.ค. 2563) ในการต่อเรือดำน้ำลำแรกที่เมืองอู่ฮั่น โดยบริษัท CSOC ที่ต่อเรือดำน้ำให้ไทยโดยมีความก้าวหน้า คิดเป็นร้อยละ 56.41 ส่วนการจ่ายเงิน กรมการเงิน ทร. ได้จ่ายเงินงวดให้กับประเทศจีนแล้ว จำนวน 4 งวดงาน คิดเป็นร้อยละ 54.63.
ต่อมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 มูลค่า 22,500 ล้านบาท ตั้งแต่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 โดยเป็นงบผูกพัน 7 ปี ช่วงปี2563-69 แต่สุดท้ายต้องขยายเป็น 8 ปี โดย ทร. ได้โอนงบฯ ปี 2563วงเงิน 3,375 ล้านบาท ไปช่วยโควิด-19 ก่อน ทำให้งบส่วนนี้ถูกโยกไปปีงบประมาณปี 2570 แทน ส่วนวงเงินปี 2564 อยู่ที่ 3,925 ล้านบาท
โดย ครม. ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 ไปยังสภาฯ และผ่านวาระที่ 1 รับหลักการเป็นที่เรียยร้อย โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนวาระที่ 2 ในการพิจารณาของ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่เกิดเรื่องขึ้นมาอีกครั้ง หลังอนุ กมธ.ครุภัณฑ์ฯ มีมติผ่านจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ 22,500 ล้านบาท โดยเสียงฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเท่ากัน 4-4 จนสุดท้าย ‘สุพล ฟองงาม’ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พลังประชารัฐ ในฐานะ ประธานอนุ กมธ.ครุภัณฑ์ฯ ได้ใช้อำนาจตามระเบียบโหวตเห็นชอบเป็นเสียงชี้ขาด
ต่อมา ‘โจ้-ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร’ ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย หนึ่งใน อนุ กมธ.ครุภัณฑ์ฯ จัดแถลงข่าวแฉ ทร. ว่า ระบุว่า เอกสารลงนามจัดซื้อเรือดำน้ำลำแรก ไม่ใช่สัญญารูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือ จีทูจี แต่เป็นเพียง ‘เอกสารข้อตกลง’ และสัญญาที่ลงนามจัดซื้อเรือ 1 ลำ ไม่มีผูกพันลำที่ 2-3 รวมทั้ง พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. ขณะเป็น เสธ.ทร. ไม่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาล ทำให้สัญญาเป็นโมฆะ
ทำให้ ทร. ต้องจัดแถลงข่าว 2 ชั่วโมง นำโดย ‘บิ๊กแก๋ง’ พล.ร.อ.สิทธิพร มาศเกษม เสธ.ทร. โดยชี้ว่าสิ่งที่ ‘โจ้-ยุทธพงศ์’ แถลงนั้นบิดเบือนและตัดตอน
โดย ทร. ได้นำเอกสารมาชี้แจง เพื่อยืนยันว่า ทร. ได้อนุมัติให้ พล.ร.อ.ลือชัย ขณะเป็น ประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ และ เสธ.ทร. หลังได้รับการอนุมัติจาก ผบ.ทร. เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2560 ในการไปลงนามข้อตกลงในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย โดยอิงตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ถึง รมว.กลาโหม โดย ครม. ได้อนุมัติให้ ผบ.ทร. หรือ ผู้แทนเป็นผู้ลงนามในข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย
พร้อมทั้งชี้แจงว่าบริษัท CSOC ของจีนที่ต่อเรือดำน้ำ ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานของรัฐบาลจีน สำหรับการบริหารงานด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการส่งออกอาวุธ หรือ SISTIND ในการลงนามข้อตกลงกับกองทัพเรือไทย ในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือ จีทูจี
ทั้งนี้ มี 2 ส.ส.พรรคก้าวไกล ไปร่วมรับฟังการแถลงข่าวด้วย คือ ‘พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์’ และ ‘สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ’ ช่วงที่เปิดให้สื่อซักถาม ‘พิจารณ์’ ได้ลุกขึ้นชี้แจงว่า สิ่งที่ ทร. แถลง ไม่มีไปชี้แจงใน อนุ กมธ.ครุภัณฑ์ฯ จึงทำให้อนุ กมธ. ได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน พร้อมขอให้ ทร. ชะลอโครงการลำที่ 2-3 ไปก่อน เพราะประเทศกำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ โดยยกตัวอย่างสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ได้ยกเลิกโครงการจัดหาเครื่องบิน F-18 ช่วงปี 2541
ขณะที่ ‘ชวน หลีกภัย’ ประธานสภาฯ ได้ให้สัมภาษณ์ในวันที่ 26 ส.ค. 2563 ว่า ขณะนั้นได้ขอให้ทางสหรัฐฯ ซื้อแทนเรา และสหรัฐฯ ขอให้เราเป็นประเทศแรกและประเทศสุดท้ายที่ทำเช่นนี้ เพราะสมัยนั้นไทยไม่มีเงินจ่าย ค่าเงินเปลี่ยน สมัยนั้นทำสัญญาผูกมัดเอาไว้พอสมควร ซึ่งต่างกับเหตุการณ์ปัจจุบัน คนละอย่างคนละแบบ
“สมัยนั้นสหรัฐฯ ยอมยกเลิกสัญญาและไม่คิดค่าปรับ เพราะมีเจตนาจะช่วย รวมทั้งวันสุดท้ายผมได้ขอ รมว.กลาโหมขณะนั้น ขอคืนมัดจำประมาณ 3,000 ล้านบาท จากราคานับหมื่นล้านบาท ไม่มีเงินจ่ายก็บอกไปตรงๆ ว่าเราไม่มีเงินจ่าย ตอนนั้นเขาช่วยเหลือเราที่เจอปัญหาแบบนี้” ชวน เผย
อย่างไรก็ตาม ทร. ระบุว่า หาก กมธ.พิจารณางบปี 2564 โหวตคว่ำเรือดำน้ำลำที่ 2-3 จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในการเจรจาต่อรองและภาพลักษณ์เชิงพาณิชย์ รวมทั้งต้องเริ่มต้นกระบวนการเจรจาใหม่ทั้งหมด แม้จะไม่มีเรื่องค่าปรับ แต่ ทร. ห่วงเรื่องโปรโมชั่นที่ทางจีนมอบให้ เพราะอาจต้องเจรจาใหม่ทั้งหมด เพราะเรือดำน้ำ 2 ลำ ตกลำละ 11,250 ล้านบาท ราคาต่ำกว่าลำแรก รวมถึงได้รับการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม เช่น แผ่นยางลดเสียงสะท้อน ระบบสื่อสารดาวเทียม ระบบสื่อสารข้อมูลทางยุทธวิธีและอาวุธทั้ง จรวดนำวิถี ทุ่นระเบิด ตอร์ปิโด รวมกว่า 2,100 ล้านบาท
ด้าน ‘บิ๊กตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง (รมว.) กลาโหม ออกมาดักคอ กมธ.พิจารณางบฯ ปี2564 ว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำ มีความจำเป็นด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคง โดย กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 2564 แล้วแต่จะพิจารณา แต่วันข้างหน้าเกิดไรขึ้น ต้องรับผิดชอบด้วยกันหมด
ส่วน ‘บิ๊กป้อม’พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ยืนยันตรงกับ พล.อ.ประยุทธ์ ถึงความจำเป็นในการมีเรือดำน้ำ เพราะประเทศเพื่อนบ้านมีกันหมด และพร้อมเปิดเอกสารจีทูจีให้ดูด้วย
อย่างไรก็ตาม กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 2564 ได้ ‘เลื่อน’ ถกวาระซื้อเรือดำน้ำไป 31 ส.ค.นี้ โดย ‘สันติ พร้อมพัฒน์’ รมช.คลัง ในฐานะประธาน กมธ. ระบุว่า เนื่องจากการประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ 8 คณะยังไม่เสร็จสิ้น
ทั้งนี้จากการได้พูดคุยกับ กมธ.ฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน เห็นด้วยกับการที่ ทร. จะมีเรือดำน้ำเพิ่มอีก 2 ลำ แต่ กมธ.บางส่วน ห่วงวิกฤตเศรษฐกิจจากปัญหาโควิด-19 จึงต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งนี้การจัดหาเรือดำน้ำทั้ง 2 ลำ ได้รับการอนุมัติตามข้อกฎหมาย พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 จึงไม่สามารถยกเลิกโครงการจัดหาเรือดำน้ำเพิ่มอีก 2 ลำได้ หากจะเสนอให้ชะลอหรือเลื่อนโครงการ ก็ต้องพิจารณาตามข้อกฎหมายว่าสามารถทำได้หรือไม่ หรืออาจต้องออกเป็นกฎหมายรองรับ
ทั้งหมดนี้จึงเป็นสิ่งที่ฝั่งรัฐบาลจะต้องมี ‘เหตุผลรองรับ’ ให้สังคมในภาพรวม ‘ยอมรับ’ ได้ โดยเฉพาะ ‘ผลกระทบ’ ที่จะเกิดขึ้นหาก ทร. มีเรือดำน้ำไม่ครบ 3 ลำ เช่น สถานการณ์ในทะเลจีนใต้-คาบสมุทรเกาหลี ที่เกรงว่าจะเกิดการปะทะในพื้นที่ จนส่งผลต่อทางเดินเรือทางเศรษฐกิจ รวมทั้งในปี 2572 ที่ข้อตกลงระหว่างไทยกับมาเลเซียในการพัฒนาพื้นที่ร่วมทางทะเล หรือ JDA จะยุติลง ตามที่ ทร.อ้างผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล 24 ล้านล้านบาท เป็นต้น
แน่นอนว่าเรื่องนี้ต้องระวัง เรื่องนี้จะเป็น ‘เชื้อไฟใหม่’ ที่จะสุมรัฐบาลอีกครั้ง ท่ามกลางการเคลื่อนไหวของ ‘คณะประชาชนปลดแอก’ และวิกฤตเศรษฐกิจหลังโควิดที่จะกินระยะเวลาหลายปี
จึงเป็นโจทย์ระหว่าง ‘ความมั่นคง’ กับ ‘ปากท้อง’ จะควบคู่อย่างไร กับมหากาพย์ ‘เรือดำน้ำ’ ของ ทร. ที่เป็น ‘ความฝัน’ ของราชนาวีไทย ในวันที่ฝันเป็นจริงแล้วครึ่งทาง
รบ. สร้างให้ ฝัน ที่ ทร. เคยฝัน !!