ไม่พบผลการค้นหา
นักปกป้องสิทธิฯ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย บุกศาลากลางยื่นหนังสือถึงผู้ว่าให้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานชุดใหม่ ที่เข้าข่ายเป็นคำสั่งที่ขัดต่อคำพิพากษาของศาลจังหวัดเลย ที่ให้ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำทั้งหมด ขณะที่ชาวบ้านอัดระบบราชการล่าช้าเป็นปัญหาต่อการฟื้นฟูเหมืองอย่างเป็นรูปธรรม ลั่นพร้อมสู้ให้ความเป็นคนของชาวบ้านกลับคืนมา และเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างแผนฟื้นฟูที่ต้องมีสัดส่วนของชาวบ้านอย่างเต็มที่

ที่ศาลากลางจังหวัดเลย นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จ.เลย เดินทางเข้ายื่นหนังสือให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดเลยเพื่อขอให้ยกเลิกคำสั่งจังหวัดที่ 218/2564 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานบริหารจัดการและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมบริเวณเหมืองแร่ทองคำภูทับฟ้า ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จังหวัดเลย ที่ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองคำ  โดยชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้ลงมารับหนังสือกับชาวบ้านด้วยตนเอง

ทั้งนี้คำสั่งนี้ดังกล่าวนี้ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2564 ลงนามโดยชัยธวัช และระบุเหตุผลของการแต่งตั้งคณะทำงานชุดนี้ว่า เป็นไปเพื่อการจัดการแก้ไขปัญหามลพิษและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมบริเวณโดยรอบเหมืองแร่ทองคำ ภูทับฟ้า ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย

หลังจากที่คำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานชุดนี้ส่งถึงมือชาวบ้าน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ได้ออกแถลงการณ์ประณามการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวทันทีเพราะขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบ และแตกต่างจากคำสั่งของชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยคนก่อนที่ได้แต่งตั้งคณะทำงานติดตามปัญหามลพิษและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมภายในและบริเวณโดยรอบเหมืองแร่ทองคำบริษัททุ่งคำจำกัดเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2563 ที่มีสัดส่วนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการชุดก่อนอย่างชัดเจน

รจนา กองแสน ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากการกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ได้เป็นตัวแทนชาวบ้านอ่านหนังสือเรื่องการขอให้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานบริหารจัดการและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมบริเวณโดยรอบเหมืองแร่ทองคำ ภูทับฟ้า ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ก่อนยื่นให้กับธวัชชัยโดยมีใจความสำคัญว่า การมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานดังกล่าวได้สร้างความสงสัยและเคลือบแคลงใจให้กับชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ เป็นอย่างมากว่า เหตุใดจึงต้องมีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาใหม่แทนการแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งเดิมที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยคนเก่าได้มีการแต่งตั้งไว้ที่มีคณะทำงานทั้งหมด 14 คน มีสัดส่วนของชาวบ้าน 3 คน นักวิชาการที่มีความรู้ด้านการฟื้นฟูเหมือง 6 คน และเป็นข้าราชการ 5 คน โดยแสดงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำมากกว่า และการแต่งตั้งคณะทำงานชุดใหม่นี้ยังมีลักษณะอำนาจหน้าที่ซ้ำซ้อนกันกับคณะทำงานชุดเดิม

ไม่เพียงเท่านั้นกลับไม่มีตัวแทนชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ เข้าร่วมเป็นคณะทำงานชุดใหม่นี้เลยแม้แต่คนเดียว ทั้งที่ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดยตรงมาตลอดกว่า 15 ปีแล้ว เสมือนว่ามีความพยายามในการกีดกันชาวบ้านออกจากกระบวนการบริหารจัดการและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทั้งหมดของเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานชุดใหม่ดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นคำสั่งที่ขัดต่อคำพิพากษาของศาลจังหวัดเลยที่ให้ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำทั้งหมดด้วย

ทั้งนี้ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ มีข้อสังเกตุและข้อสงสัยในคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าว 3 ข้อดังนี้ 1.การบริหารจัดการในมิติสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม อาชีพ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการในการฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำจากปัญหาผล กระทบที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่ทองคำทั้งสิ้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ากำลังมีการพูดคุยเจรจาร่วมกันระหว่างกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และจังหวัดเลยว่า การฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำภายในเหมืองให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ กพร. และการฟื้นฟูบริเวณรอบนอกเหมืองแร่ทองคำให้เป็นอำนาจหน้าที่ของจังหวัดเลยแทน เพื่อดำเนินการเสนองบประมาณต่อไป โดยพยายามตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนออกจากการฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำอย่างแยบยล

นอกจากนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยยังขาดความเข้าใจในการฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งการบริหารจัดการและการฟื้นฟูบริเวณโดยรอบนอกเหมืองทองคำไม่ใช่แค่การพัฒนาด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างเดียวเท่านั้น ปัญหาขั้นพื้นฐานต่าง ๆ บริเวณโดยรอบเหมืองแร่ทองคำ เช่น ด้านสาธารณูปโภค ด้านสุขภาพ และด้านสังคม ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำทั้งสิ้น โดยต้องพิจารณาบนฐานของการฟื้นฟูมลพิษและสารโลหะหนักที่ปนเปื้อนอยู่ในระบบสาธารณูปโภค ซึ่งต้องได้รับการฟื้นฟูไปด้วยพร้อมกัน

2.การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานชุดใหม่ดังกล่าวเป็นการล้มล้างคณะทำงานชุดเดิม เพื่อให้คณะทำงานชุดใหม่นี้เองเสนอตัวแทนเข้าร่วมเป็นคณะทำงานพิจารณา(ร่าง)แผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมบริเวณในและรอบเหมืองแร่ทองคำ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ของ กพร. เพื่อให้ร่างแผนฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำของ กพร. เดินหน้าในการเสนองบประมาณต่อคณะรัฐมนตรีต่อไปได้

3.การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยพยายามถ่วงเวลาไม่นำเรียนข้อเสนอของชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯที่ได้ประชุมร่วมกับคณะทำงานชุดเดิมไปแล้วเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2564 ไปยัง กพร. ที่มีหลักการสำคัญ 3 ประเด็น คือ 1.สัดส่วนของตัวแทนชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯต้องมีสัดส่วนอย่างน้อยเท่ากันกับที่ได้มีการแต่งตั้งของส่วนราชการไปแล้วและต้องรับเต็มจำนวนที่ภาคประชาชนเสนอเข้าไป 2.ปรับเปลี่ยนชื่อคณะทำงานเป็นคณะทำงานจัดทำและพิจารณา(ร่าง)แผนปฏิบัติการฯ 3.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหรือกำหนดบทบาทและอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานจัดทำและพิจารณา(ร่าง)แผนปฏิบัติการฯเพิ่มเติม ซึ่งตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. 2564 ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยกลับยังไม่ได้ส่งข้อเสนอดังกล่าวไปยัง กพร. แต่อย่างใด

“การกระทำดังกล่าวของผู้ว่าราชการจังหวัดเลยยิ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยพยายามสกัดขัดขวางและผลักชาวบ้านออกจากระบวนการฟื้นฟูเหมืองทองคำทั้งหมด โดยพยายามดึงอำนาจในการฟื้นฟูเหมืองทองคำกลับไปที่จังหวัดและส่วนกลางแทน ซึ่งคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานชุดใหม่เป็นคำสั่งในการทำลายคณะทำงานชุดเดิมอย่างชัดเจน และยังเป็นคำสั่งที่ขัดกับคำพิพากษาของศาลจังหวัดเลยที่ระบุชัดเจนว่าชาวบ้านในพื้นที่ต้องมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทั้งในและบริเวณโดยรอบเหมืองแร่ทองคำทั้งหมดดังนั้น กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย จึงขอให้มีการยกเลิกคำสั่งจังหวัดเลย ที่ 218/2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานบริหารจัดการและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมบริเวณโดยรอบเหมืองแร่ทองคำ ภูทับฟ้า ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย และขอให้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงตามประเด็นข้อสงสัยของชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯทั้งหมดมาโดยละเอียด โดยขอให้ท่านตอบหนังสือฉบับนี้กลับมาเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 7 วัน มิฉะนั้นจะดำเนินการร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาและหน่วยงานต้นสังกัดที่เกี่ยวข้องต่อไป”

ขณะที่ธวัชชัยกล่าวภายหลังจากรับหนังสือจากชาวบ้านว่า ขออภัยที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับคำสั่งดังกล่าวนี้ ตนขอเรียนว่าในนัยนะของตนกับคณะทำงานทั้งหมดได้มีการพูดคุยกันตั้งแต่ก่อนที่จะมีคำสั่งดังกล่าวนี้ออกไป และตนเพิ่งย้ายมาอยู่ที่จังหวัดเลยได้ 4 เดือน ประมาณ1 เดือนผ่านไปหลังจากที่ตนได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ก็ได้มีการพูดคุยกับผู้บริหารทั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอว่าเราควรจะมีการทำงานขึ้นมาสักเรื่องในเรื่องของรายได้และอาชีพในพื้นที่ของตำบลเขาหลวง นี่คือที่มาที่ไปของเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ในกรณีของการฟื้นฟูความชัดเจนมีอยู่แล้วว่าจังหวัดเราจะเป็นตัวกลางระหว่างชาวบ้านและกพร.ที่มีหน้าที่ในการดำเนินการเรื่องฟื้นฟูดังนั้นเมื่อหลักการชัดเจนทั้ง2ส่วน ก็ได้มีการมาปรึกษากัน และต้องขออภัยต่อชาวบ้านที่คำสั่งทางปกครองที่มีออกไปแล้วมีเสียงสะท้อนจากชาวบ้านทำให้ชาวบ้านไม่สบายใจ ดังนั้นอะไรที่ทำให้ชาวบ้านไม่สบายใจตนก็ยกเลิกไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา และคณะ อยากให้เข้าใจจริงๆว่าสิ่งที่ตนต้องการจะทำนั้นคือเฉพาะเรื่องของการพัฒนาอาชีพรายได้ของตำบลเขาหลวง ที่มีทั้งหมด 13 หมู่บ้าน ซึ่งมี 6 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหมือง

และคำสั่งของเดิมของผู้ว่าชัยวัฒน์ยังคงมีอยู่เหมือนเดิมและคณะทำงานยังทำงานอยู่ แต่ตนได้มีการย้ำไปว่าจะต้องทำงานให้ดีขึ้นให้เยอะมากขึ้นจะต้องเป็นสื่อกลางให้ติดกับ กพร. และเมื่อวันที่ 20 มีการประชุมที่มีข้อตกลงต่างๆ และบอกว่าตนเป็นคนถ่วง เอาตรงๆ ตนเพิ่งเห็นหนังสือฉบับดังกล่าวก่อนที่ตนจะลงมา หนังสือเพิ่งมาถึงตน ตนก็มานั่งอ่านดูว่าตรงกับที่ชาวบ้านต้องการหรือไม่ เมื่อเห็นว่ามีรายละเอียดบางส่วนทียังไม่ตรงก็ให้ไปแก้มาให้ตรงกับที่ประชุม และตอนนี้หนังสือได้รับการแก้เรียบร้อยแล้ว และตนก็จะลงนามและสำเนาให้กับชาวบ้านและยืนยันว่าขอเรียกร้องตรงกับที่ชาวบ้านต้องการทุกประการ และภายในห้วงเวลานี้จะทำอะไรก็จะต้องนึกถึงชาวบ้านก่อนและทุกอย่างจะต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้

ขณะที่ รจนาได้กล่าวแย้งว่า ที่ผู้ว่าพูดมาก็ถูกในเรื่องของการดูแลอาชีพให้กับชุมชน แต่เรื่องการพัฒนาเรื่องอาชีพสามารถนำเข้าแผนฟื้นฟูของชาวบ้านและคณะกรรมชุดเก่าได้เลย เพราะแผนฟื้นฟูของชาวบ้านมีมิติทั้งสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ นอกจากนี้มติของที่ประชุมทางจังหวัดก็ต้องทำการส่งต่อไปยัง กพร.อย่างเร่งด่วนเพราะหลังจากประชุมมาเป็นระยะเวลาหลายสิบวันทำไมยังไม่มีการส่งไปยังกพร.ให้ดำเนินการตามแผนการประชุมเสียที และความต้องการของพวกเราที่ชัดเจนคือเราต้องการให้มีการร่างการวางแผนการฟื้นฟูเหมืองร่วมกัน และที่เรามาวันนี้เราชัดเจนว่าไม่ได้คุยเรื่องพัฒนาอาชีพถ้าจังหวัดจะมีการพัฒนาอาชีพก็ให้มีการพัฒนาทั้งจังหวัด แต่วันนี้ชาวบ้านมาพบและพูดคุยเรื่องการฟื้นฟูเหมืองทองคำ ดังนั้นหากจะมีการตั้งคณะกรรมการอะไรก็ขอให้เป็นการตั้งคณะกรรมการร่วมกับกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองคำโดยตรง

รจนาได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมหลังเข้ายื่นหนังสือในครั้งนี้ว่า จังหวัดให้คำตอบอะไรเราไม่ได้เลย เราถามถึงมติการประชุมในวันที่ 20 ส่วนของจังหวัดก็บอกว่าเพื่อทราบเรื่อง จะเป็นไปได้อย่างไรเพราะเราประชุมกันผ่านไปตั้ง 12  วันแล้ว ท่าทีของจังหวัดไม่ได้กระตือรือร้นเรื่องแผนฟื้นฟูของชาวบ้านแต่ไปกระตือรือร้นเรื่องแผนฟื้นฟูที่มีคณะกรรมการที่จังหวัดแต่งตั้งขึ้นก็หมายความว่าจะผลักชาวบ้านออกหรือไม่อย่างไร

“ระบบราชการที่ล่าช้าเป็นปัญหามากกับเรา ชาวบ้านต้องทำเองทุกอย่างไม่ว่าจะฟ้องฟื้นฟื้นฟูเราก็ยื่นฟ้องเองจนมีคำพิพากษาออกไปแล้วเรื่องการเยียวยาและแผนฟื้นฟู สิ่งที่รัฐสมควรทำคือเร่งช่วยชาวบ้าน เมื่อคุณอนุมัติอนุญาตให้มีเหมืองพอมีเหมืองแล้วทิ้งสารพิษไว้สุดท้ายแล้วนายทุนก็หนีไป หน่วยงานรัฐก็จะต้องเร่งติดตามและเร่งทำเรื่องฟื้นฟูให้กับชาวบ้าน แต่ที่เกิดขึ้นคือหน่วยงานรัฐเฉยเมยทุกส่วน ไม่ทำ หนีหน้าที่ และพวกเรายืนยันว่าเราจะผลักดันแผนคณะกรรมการฟื้นฟูที่ชาวบ้านจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนเราก็จะต่อสู้ในเรื่องนี้อย่างเต็มที่เพื่อให้ความเป็นคนของเรากลับคืนมาเหมือนเดิม”ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากการกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ระบุ